หว่านเงินกระตุ้นศก.ผ่านกองทุนหมู่บ้าน ใครได้ประโยชน์..?
ฝนฟ้าที่ตกกระจายเกือบทั่วทั้งประเทศจากอิทธิพลของพายุลูกแรกของปีนี้ สร้างความชื่นชมสร้างความสุขให้กับเกษตรกรอย่างยิ่ง หลังจากที่ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งก่อนหน้านี้ แต่คนกรุงเทพต่างต้องทนสภาพการจราจรที่ติดขัดในช่วง2-3วันนี้อย่างไม่อาจเลี่ยงได้ จำต้องปรับชีวิต ปรับจิตใจรับมือกับภาวะดังกล่าว
ในภาคเกษตรของไทยส่วนใหญ่ยังต้องพึงพาฝนฟ้าตามฤดูกาลเป็นหลัก ทำให้มีความเสี่ยงตามสภาพอากาศที่แปรปรวนไปด้วย และยังต้องเผชิญปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ผันผวนไปตามเศรษฐกิจโลก บางปีอาจได้ผลผลิตดี แต่ราคาอาจไม่ดี บางปีราคาดีแต่ไม่มีผลผลิต
นอกจากนี้ภาคเกษตรที่ยังต้องพึงพาวัตถุดิบ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยต่างๆจากระบบตลาด ยิ่งทำให้ต้นทุนการเกษตรสูงเสี่ยงต่อภาวะขาดทุนหาก ผลผลิตและราคาไม่เป็นไปในทางที่เป็นบวกกับสินค้าเกษตร ด้วยภาวะเหล่านี้ทำให้ภาคเกษตรของไทยส่วนใหญ่มีความเสี่ยงและเกิดปัญหาหนี้สินตามมาต่อเนื่องยาวนาน
เป็นความพยายามของภาครัฐมาโดยตลอดในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานเหล่านี้ ปัญหาความยากจน ปัญหาหนี้สินครัวเรือน เป็นปัญหาพื้นฐานที่ต้องเข้ามาแก้ไขจัดการ แต่ดูเหมือน ยิ่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเพราะอะไร ...?
ที่ผ่านมา รัฐมองปัญหาในเรื่องดังกล่าวจากพื้นฐานของ ทุน เป็นกระแสหลัก มองว่าชาวบ้านยากจนเพราะขาดทุน ทั้งในแง่ของเงินทุน และปัจจัยการผลิต มีความพยายามปฏิรูปที่ดินทำกินกันมาหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ส่งผลประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เรายังเห็นปัญหาในเรื่องการสวมสิทธิในที่ดินทำกิน สุดท้ายที่ดินในผืนที่มีศักยภาพตกไปอยู่ในมือของนายทุนในที่สุด
ในเรื่องของ เงินทุน การเข้าถึงเงินทุน เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่รัฐพยายามแก้ไข จัดหาแหล่งเงินทุนมาให้จัดทำเงื่อนไขการเข้าถึงแหล่งเงินให้สะดวกง่ายที่สุดเท่าที่ทำได้ การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ถือเป็นกลไกลสำคัญตัวหนึ่งที่เกิดขึ้น มีการหว่านเม็ดเงินใส่กองทุนปูพรมไปทั่วประเทศ มาตั้งแต่ ปี 2544 ที่มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว 14 ปี ถามว่า กลไกดังกล่าวประสบผลเพียงใด....?
หากใช้ตัววัดผลเรื่องหนี้สินครัวเรือนเป็นตัววัดผล ตามสถิติของทางการของสภาพัฒน์ ตัวเลขหนี้สินครัวเรือนเมื่อปี2544 หนี้ครัวเรือน อยู่ที่ประมาณ 40 กว่า%ต่อจีดีพี แต่ในปัจจุบัน หนี้ครัวเรือน อยู่ที่กว่า 80 %ของจีดีพี นั้นหมายความว่า เรายิ่งพัฒนาเรายิ่งเป็นหนี้มากขึ้น....?
ดังนั้นมีคำถามที่น่าสนใจว่า มาตรการกองทุนหมู่บ้านที่รัฐบาลเติมเงิน ปรับเงื่อนไขให้เข้าถึงเงินได้มากขึ้น จะช่วยแก้ไขปัญหาได้มากน้อยเพียงใด...?
มีความเห็นของอาจารย์ด้านเศรษฐกิจการเมืองที่น่าสนใจยิ่ง คือ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ที่เขียนลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง "กองทุนหมู่บ้านกับการกระตุ้นกำลังซื้อ" ดังนี้
"นายนที ขลิบทอง ผอ.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ แจ้งผ่านมติชน รายวัน 13 ก.ย.58 หน้า12 ว่ากองทุนหมู่บ้านทีจะได้รับเงินอุดหนุน 1ล้าน มีประมาณ 59,850 แห่ง เป็นหมู่บ้านเกรด เอ และ บี ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ส่วนในตัวเมือง เป็นพวก เกรด ซี และ ดี ไม่ได้รับเงินครั้งนี้ หมายความว่า เงือนไขอุดหนุนกองทุนหมู่บ้าน ประมาณ 60,000 ล้านบาท คงจะไปไม่ถึงมือของคนงานรายได้ต่ำอย่างแน่นอน"
แต่หากพิจารณาจากตัวเลขของสำนักงานสถิติ พบว่า ในประเทศไทยขณะนี้ ครัวเรือนของมนุษย์ ค่าจ้าง มีถึง 50% ของครัวเรือนทั้งหมด รองลงมาคือครัวเรือนของคนทำธุรกิจและอาชีพอิสระต่างๆ 22% ครัวเรือนของเกษตรกรมีเพียง 16% และอีก 12 % เป็นครัวเรือนของคนที่ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่นข้าราชการบำนาญ คนชรา เป็นต้น
จึงตีความได้ว่าเงินกระตุ้นเศรษฐกิจก้อนนี้ที่เน้นไปที่ชนบท ก็คือการเน้นไปที่เกษตรกร ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่คนกลุ่มที่สุดใหญ่อีกต่อไป และไม่ใช่กลุ่มรากหญ้าที่จนที่สุด เพราะกลุ่มรากหญ้าที่จนที่สุดกลับเป็นแรงงานเรือประมง รองลงมาคือแรงงานไร่อ้อย แล้วไฉนรัฐบาลโดยนายสมคิด จึงคิดแต่อุดหนุนเกษตรกรแต่ไม่สนใจคนงานยากจน ทั้งๆที่พิจารณาจากตัวเลขรายได้ประชาชาติ รายได้จากค่าจ้างเป็น 41 % ของทั้งประเทศ กำลังซื้อหลักจึงอยู่ที่มนุษย์ค่าจ้าง เพราะเป็นคนกลุ่มใหญ่ทีสุด
ยิ่งกว่านั้น กองทุนประกันสังคมซึ่งเป็นกองทุนของลูกจ้าง เกิดจากการออมของลูกจ้างก่อน แล้วจึงมีสมทบจากนายจ้างและรัฐบาล ไม่ใช่เป็นเงินที่ได้มาจากรัฐบาลล้วนๆ เหมือนกองทุนหมู่บ้าน และเป็นเงินของลูกจ้างที่รัฐบาลยืมไปใช้ (โดยการขายพันธบัตร) ประมาณ 1ล้านล้าน โดยไม่เคยแจกแจงว่านำไปใช้อะไร หรือให้คนกลุ่มใด ที่ยืมไปนั้นได้นำไปใช้ช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ยากของคนงานโดยตรงบ้างหรือไม่?
ลูกจ้างขอให้รัฐบาลนำเงินที่ยืมไปนั้นประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพียงครึ่งหนึ่งที่ให้กองทุนหมู่บ้าน เหตุใดจึงให้ไม่ได้ ทั้งที่เป็นเงินที่ได้มาจากกองทุนของลูกจ้างเอง เหตุใดจึงเลือกกระตุ้นกำลังซื้อผ่านเกษตรกร แต่ไม่ผ่านคนงานที่เป็นกระดูกสันหลังของระบบการค้าและอุตสาหกรรม ถ้าให้ผมวิเคราะห์ ก็คงด้วยเหตุผลต่อไปนี้
1. ธ ก ส. กำลังจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง เงินจำนำข้าวตามนโยบายรัฐบาลประมาณ 90,000
ล้าน ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้คืน หนี้ของชาวนา ปี 2557และ 2558 ก็มีปัญหา เพราะราคาข้าวและ
ราคายางตกต่ำ ทั้งชาวนาและชาวสวนยางรายได้ลด ไม่พอชำระหนี้ ธ.ก.ส. เงินอุดหนุนผ่านกอง
ทุนหมู่บ้านที่คาดกันว่าจะให้กู้ครัวเรือนละ 30,000 บาท ก็คงนำไปชำระหนี้ ธ.ก.ส.ได้ส่วนหนึ่ง
2. ช่วงเดือน ต.ค. นี้ ก็เป็นช่วงที่ กองทุนหมู่บ้านจะเรียกเก็บหนี้เก่า เพื่อรักษาสภาพคล่อง เพราะ
เงินของกองทุนร่อยหรอเต็มที เนื่องจากปีสองปีมานี้การชำระหนี้ของชาวบ้านขาดๆหายๆ เงิน
ก้อนใหม่จึงกำหนดว่าให้กู้ใหม่ได้ แม้หนี้เก่ายังค้างอยู่ เมื่อกู้เงินก้อนใหม่ได้ ก็คงต้องชำระดอก
เบี้ยเก่าบ้าง เพื่อช่วยพยุงกองทุน
3. เงินบางส่วนก็ต้องนำไปใช้หนี้ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าผ่อนมือถือและมอเตอร์ไซค์ เพราะดอกเบี้ย
แพง เป็นการสร้างสภาพคล่องให้กับเจ้าหนี้ในท้องถิ่น ที่เป็น เอสเอ็มอี หรือธุรกิจขนาดย่อม
ขนาดกลางในต่างจังหวัด และทำให้ทุนใหญ่ในกรุงเทพฯสามารถระบายสินค้าไปต่างจังหวัด
ได้มากขึ้น
จากเหตุผลสามประการนี้ คงจะเป็นคำตอบว่าเหตุใด จึงไม่กระตุ้นผ่านคนงาน เพราะคนงานไม่ได้เป็นหนี้ ธ.ก.ส. ไม่ได้เป็นหนี้กองทุนหมู่บ้าน ไม่ได้เป็นหนี้ทุนเกษตรที่มีขุมข่ายอยู่ทุกจุดในแวดวงอำนาจรัฐ
และจากการที่ครัวเรือนเกษตรกรปัจจุบัน มีหนี้สินถึงประมาณร้อยละ 80-90 ของรายได้ เงินที่ได้นั้นแทบจะไม่เหลือให้ไปใช้ในการประกอบอาชีพ จึงกลายเป็นว่าการกระตุ้นกำลังซื้อครั้งนี้ เกษตรกรคงเป็นได้เพียงบ่อพักน้ำ ที่รอให้ทุนธนาคารและทุนการค้าดูดเงินจากบ่อเพี่อรักษาสภาพคล่องของทุน นี้คือกลยุทธของนักการตลาดนิยมทุน
เห็นได้ชัดว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ดำรงชีพด้วยการหมุนหนี้และเป็นหนี้ไม่สิ้นสุด หนี้รุ่นพ่อ-แม่ตกทอดถึงรุนลูกรุ่นหลานไม่เชื่อก็ลองไปสำรวจดูเถิด
ทำไปทำมาโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าของสมคิด จะกลายเป็นเศรษฐกิจถอนรากหญ้าเอามาทำปุ๋ยให้ทุน อมิตพุทธ!!
อ่านบทความของอาจารย์ณรงค์แล้วได้แต่สงสัยว่า การผลักดันหว่านเงินผ่านกองทุนหมู่บ้านครั้งนี้ ในช่วงที่หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงอย่างนี้ ประโยชน์แท้จริงตกอยู่กับใคร ตัวเลขเศรษฐกิจอาจโตขึ้นจากเม็ดเงินที่หว่านไปแต่ใครได้ประโยชน์....?
โดย : เปลวไฟน้อย