ความรับผิดชอบของ "คนรุ่นใหม่"

ความรับผิดชอบของ "คนรุ่นใหม่"

ความรับผิดชอบของ "คนรุ่นใหม่"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีรายงานข่าวที่เกี่ยวกับแวดวงนักศึกษา คนรุ่นใหม่ คนที่เริ่มต้นทำงานหรือที่เรียกว่าคนหนุ่มสาวที่น่าสนใจ ในช่วงวันสองวันที่ผ่านมาก็คือ การรายงานผลการดำเนินงานของ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.ในปีการศึกษา 2558 นี้ 

ภาพรวมการชำระหนี้คืนของนักศึกษาปรากฏว่า มีการชำระคืนดีขึ้นจากปีก่อน ในปีนี้มีผู้ชำระหนี้เพิ่มมากขึ้นจากปี 2557 ประมาณ 2.2 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ชำระหนี้ในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการจ้างบริษัทติดตามหนี้ โดยในปี 2557 ได้เงินคืนประมาณ 800 ล้านบาท ปี 2558 ประมาณ 5,000 ล้านบาท

แต่ก็ยังมีผู้กู้ที่ค้างชำระอีกจำนวนมากที่ กยศ. ต้องเร่งติดตาม มีผู้กู้จำนวนมากที่ไม่สนใจ และปล่อยปละละเลยไม่ชำระหนี้ จึงทำให้ กยศ.ต้องฟ้องร้อง ซึ่งเมื่อฟ้องร้องไปแล้ว ผู้กู้ก็ยังไม่ชำระหนี้คืนตามคำพิพากษาและ กยศ.ต้องดำเนินการขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี เพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปบังคับยึดทรัพย์ผู้กู้ ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ขณะนี้ได้มีการยึดทรัพย์ผู้กู้ที่ยังไม่ชำระหนี้ไปแล้ว จำนวน 786 ราย รวมเป็นเงิน 22 ล้านบาท และในปีนี้ มีผู้ที่เข้าข่ายจะถูกยึดทรัพย์อีก 4,175 ราย รวมเป็นเงิน 109 ล้านบาท

จากการรายงานผลดังกล่าวต้องถือว่าภาพรวมของ ความรับผิดชอบของผู้กู้ ดีขึ้นจากอดีตที่ผ่านมา ซึ่งทางกยศ.เห็นว่าเป็นผลมาจากการรณรงค์ แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือกลุ่มที่ไม่ยอมคืนเงินกู้จนถูกฟ้องร้องตามมาจึงถึงขั้นบังคับคดียึดทรัพย์ตามมา

ในส่วนการบังคับยึดทรัพย์นี้ในรายละเอียดไม่ได้บอกว่า ผู้กู้เหล่านั้นมีสาเหตุใดถึงไม่ยอมชำระหนี้คืน หากเป็นกรณี เมื่อจบแล้วมีงานทำ หรือ มีรายได้ แล้วไม่ยอมชำระหนี้คืนก็เป็นเหตุอันสมควร แต่ หากไม่ชำระหนี้คืนเพราะจบไปแล้วยังไม่สามารถทำงานสร้างรายได้ หรือ ทำงานสร้างรายได้แต่ไม่เพียงพอกับการดำรงชีพที่มีภาระค่าใช้จ่ายมากมายจนไม่เพียงพอ ไม่สามารถนำเงินมาจ่ายคืนเงินกู้ได้...ในรายละเอียดเหล่านี้ยังไม่มีรายงาน....เพราะหากเป็นประเด็นหลังจะนำไปสู่คำถามว่า เป็นการสมควรหรือไม่หากมีการบังคับยึดทรัพย์มา และการยึดทรัพย์จะเป็นการซ้ำเติมปัญหาลงไปอีกหรือไม่...? ในรายละเอียดเหล่านี้ยังไม่มีรายงาน..

อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่า ในภาพรวมของความรับผิดชอบของคนรุ่นใหม่ที่มีโอกาสทางการศึกษา และนำไปสู่โอกาสของการมีงานทำ จากกองทุน กยศ.ดีขึ้น เป็นบทสะท้อนทางสังคมที่ดีขึ้น เพราะการจัดตั้งกองทุน กยศ.เพื่อโอกาสทางการเงิน เพื่อโอกาสทางการศึกษาเป็นพื้นฐานที่ดีที่สุดของการพัฒนาบุคลากรในการพัฒนาศักยภาพและโอกาสในการทำงาน การสร้างงาน เป็นหนทางหนึ่ง ในการสร้างความมั่นคงของชีวิต

ดังนั้นผู้กู้เมื่อได้รับโอกาสแล้ว ความรับผิดชอบต่อคนรุ่นหลังที่ยังขาดโอกาสอยู่จึงมีความสำคัญมาก และยังเป็นการสร้างความรับผิดชอบต่อส่วนรวมของบุคคลกรนั้นๆ เพื่อไม่ให้เอาเปรียบสังคมส่วนรวมในภายภาคหน้า อันเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป

ความรับผิดชอบของคนรุ่นใหม่ที่สะท้อนผ่าน กองทุน กยศ. จึงมีส่วนสำคัญยิ่งส่วนหนึ่งที่สะท้อนคุณภาพของสังคมไทยในวันข้างหน้า....

โดย: เปลวไฟน้อย 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook