ครูยุ่น จี้คุมร้านเกม-ต้นตอ เด็กกล่อง
ครูยุ่น ชี้ เด็กกล่อง เหยื่อผลประโยชน์ร้านเกม เด็กเล่นเกมจนติดกระทั่งแยกแยะความจริงไม่ออก ต่อไปจะซึมซับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จี้ออกมาตรการคุมร้านเกมจริงจัง เพราะมาตรการที่ผ่านๆ มาไม่ทันกับปัญหา มูลนิธิกระจกเงา เผยติดตามเด็กกล่องมาร่วม 2 สัปดาห์หลังมีคนแจ้งเข้าไป เผยมีเด็กติดเกมหนักถึงขั้นหนีออกจากบ้าน เด็กผู้หญิงก็มี ผบช.น. สุชาติ เหมือนแก้ว สั่งทุกท้องที่กวดขันปัญหาเด็ก ไม่ให้มีเด็กกล่องเกิดขึ้น
จากกรณีมีคลิปกลุ่มเด็กชายวัย 6-8 ขวบคลั่งเกม เผยแพร่อยู่ในอินเตอร์เน็ต โดยพฤติกรรมเด็กกลุ่มนี้อารมณ์ค่อนข้างรุนแรง พฤติกรรมก้าวร้าว ตะโกนด่าทอและสบถด้วยถ้อยคำหยาบคายตลอดเวลา บางครั้งก็ทะเลาะกันเอง โดยจับกลุ่มเล่นเกมอยู่ในร้านเกมแห่งหนึ่งในห้างเซ็นจูรี่ ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีประมาณ 3-4 คน อายุระหว่าง 6-8 ขวบ ผู้คนในย่านดังกล่าวจะรู้จักเด็กกลุ่มนี้ดี เรียกกันว่า "เด็กกล่อง" เนื่องจากจะคอยถือกล่องกระดาษยืนรับเงินบริจาคอยู่ตามบันไดเลื่อนภายในห้างและสะพานลอยตรงอนุสาวรีย์ชัยฯ เมื่อได้เงินมาแล้วจะนำไปเล่นเกม ไม่ได้นำไปใช้จ่ายในการเรียนแต่อย่างใด ล่าสุด นักสังคม สงเคราะห์ ตามพบเด็กชายอายุประมาณ 8 ขวบ รูปร่างลักษณะตรงตามที่ปรากฏในคลิป กำลังนั่งเล่นเกมอยู่ในชุดนักเรียน ทราบชื่อด.ช.เอ (นามสมมติ) อายุ 8 ขวบ เรียนอยู่ชั้นป.2/1 โรงเรียนวัดแห่งหนึ่ง ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 30 ม.ค. นายศุภฤกษ์ หงศ์ภักดี ผอ.ศูนย์ประชาบดี กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ให้สัมภาษณ์กรณีเด็กกล่องว่า เบื้องต้นนักสังคมสงเคราะห์ ศูนย์ประชาบดี เข้าไปทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กแล้ว ว่าเด็กมีพฤติกรรมน่าเป็นห่วง โดยพ่อแม่และครูที่โรงเรียนของเด็กทราบปัญหาดี แต่ไม่สามารถหาทางแก้ปัญหาได้ ซึ่งกระทรวงได้ให้เจ้าหน้าที่คอยติดตามปัญหาของเด็กกลุ่มนี้ พร้อมทั้งประสานทางร้านเกมที่เด็กมาเล่นเป็นประจำให้ช่วยดูแลตักเตือนอีกทาง หากพบว่าเด็กยังไม่ปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น ช่วงใกล้จะปิดเทอมกระทรวงคงต้องใช้อำนาจตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ในการนำเด็กมาเข้ากระบวนการดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะเท่าที่เจ้าหน้าที่พูดคุยกับเด็กเบื้องต้น เด็กฉลาด ใช้ได้ การเรียนดี แต่เมื่อเล่นเกมแล้วมีอาการอย่างที่เห็น ซึ่งเด็กเคยถูกลงโทษก็จะดีได้ 1-2 วัน ก็กลับมาเล่นใหม่
"เราห่วงว่าตอนนี้เด็กยังเล่นเกมต่อสู้ทั่วไป แต่ต่อไปจะพัฒนาไปเล่นเกมที่รุนแรงมากขึ้น ต้องเร่งเข้าไปดูแลปรับพฤติกรรมเด็กก่อน โดยให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำงานกับครอบครัวของเด็กอย่างใกล้ชิด และดึงโรงเรียนมาร่วมแก้ปัญหาด้วย ค่อยๆ เยียวยาปรับพฤติกรรมเด็กให้ลดการติดเกม เบี่ยงเบนให้สนใจกิจกรรมอื่นๆ ทดแทน คิดว่าหากนำเด็กเข้ากระบวนการพัฒนาปรับพฤติกรรมแล้วน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาให้ได้ ซึ่งปัญหาแบบนี้ยังมีอีก ปัญหาสังคมเกิดขึ้นทุกที่ ใครพบเห็นเหตุการณ์ขอให้ช่วยโทร.แจ้งศูนย์ประชาบดี 1300 ได้ตลอดเวลา" นายศุภฤกษ์กล่าว
นายมนตรี สินทวิชัย หรือ ครูยุ่น เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก และอดีตส.ว.สมุทรสงคราม กล่าวว่า เด็กมีพฤติกรรมติดเกมแล้ว วิถีชีวิตประจำวันของเด็กมีเกมเป็นที่พึ่ง การที่เด็กถือกล่องไปขอเงิน เป็นหนึ่งในหลายพฤติกรรมที่มีปัญหา ที่พบเด็กบางคนใช้วิธีขโมยเงินพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อน โกหกญาติและเพื่อนเอาเงินไปเล่นเกมจนติด คิดว่าเกมเป็นที่พึ่งให้มีความสุข เพราะเกมท้าทาย เป็นจินตนาการให้เด็กมีความสุข จะเล่นเกมจนอินกับเกมว่าเป็นชีวิตจริงแยกไม่ออก และแสดงอาการไม่พอใจฟูมฟายเมื่อเล่นแพ้ ซึ่งเราปล่อยให้เด็กประสบปัญหาเพราะเกมไม่ได้อีกต่อไป จะปล่อยให้เด็กตกเป็นเหยื่อของผลประโยชน์จากเกมที่มาทำลายอนาคตเด็กไม่ได้ เพราะเด็กที่มีปัญหาแบบนี้มีทั้งที่สัมพันธภาพกับครอบครัวและเพื่อนปกติดี ก็ยังมีไปขโมยเงินครูที่โรงเรียน หรือเด็กที่มีปัญหาพ่อแม่ครอบครัวแยกทางกัน
ครูยุ่นกล่าวอีกว่า เด็กไม่ได้มีปัญหาแค่ถือกล่องไปขอเงิน แต่ปล่อยไว้ไม่ไปแก้ที่ต้นตอปัญหา คือ ร้านเกม ตู้เกม ที่มักมีมาตรการออกมาดำเนินการเป็นช่วงๆ ไม่ทันกับปัญหา เด็กแสดงพฤติกรรมเด็กกล่อง 3-4 คน ตอนนี้ แต่ต้นตอการแสวงประโยชน์จากการใช้เกมเป็นสื่อเชื่อมเอาเงินจากกระเป๋าเด็กและผู้ปกครอง และบีบให้ต้องหาเงินด้วยพฤติกรรมต่างๆ เพื่อเอาเงินมาเล่นเกม ดังนั้น จะปล่อยร้านเกมไว้ต่อไปหรือไม่ และหากอนุญาตร้านเกมยังอยู่ต่อ ก็ต้องควบคุมเนื้อหา เวลา เพราะเป็นปัญหาที่กระทบกับเด็กโดยตรง แต่กฎหมายที่ผ่านมาการบังคับใช้ไม่บรรลุผลเลย
"การปล่อยเด็กอยู่กับเกมเป็นปีๆ เด็กจะซึมซับความรุนแรงทุกอย่าง เด็กเป็นเหยื่อ ทำให้เด็กก้าวร้าวแน่ เด็กจะแคบมากเพราะอยู่แต่กับตัวละครในเกมเท่า นั้น มาตรการทางกฎหมายต้องรีบจัดการร้านเกม ตู้เกมทั้งหลายไม่ใช่มีเงินแล้วจะเปิดได้หมด บางร้านก็ไม่ต้องเสียภาษี ปล่อยให้คนทำอาชีพสร้างสรรค์ต้องเสียภาษีมากกว่าอาชีพมอมเมาเด็ก ตลกมาก ส่วน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ต้องสนับสนุนให้เกิดสิ่งสร้าง สรรค์กับเด็ก พนักงานเจ้าหน้าที่รู้ปัญหาเด็กแค่ไหน" ครูยุ่น กล่าว
นายมนตรีกล่าวต่อว่า โรงเรียนควรจัดให้ครูแนะ แนว 1-2 คน ที่รู้ปัญหาเด็กคอยดูแลพฤติกรรมเด็กที่ประสบปัญหาแล้วรีบดำเนินการแก้ไขเชื่อมกับพ่อแม่ ตอนนี้ยังไม่เห็นทำเป็นรูปธรรม มีแต่แนะแนวเรียนต่อไม่มีแนะแนวชีวิตให้เด็ก อย่าบอกว่าแก้ปัญหาไม่ได้ เราต้องรู้ว่าเด็กติดเกมเพราะเด็กอยากเท่าเทียมกับเพื่อน เพราะเด็กหลายคนที่ทั้งชีวิตมองมุมไหนก็แพ้มาตลอด แพ้ตั้งแต่ฐานะทางบ้าน การเงิน ผู้ปกครอง ครอบครัวมีปัญหาเด็กก็แพ้ตั้งแต่ที่บ้าน ไปโรงเรียนก็แพ้อีกเรียนไม่เก่ง อาจเล่นกีฬาเก่ง กีฬาสีก็มีปีละครั้ง หรือไม่มีความสามารถอะไรเลยเด็กก็แพ้อีก พื้นที่เกมจึงทำให้เด็กรู้สึกว่าอาจชนะบ้าง ชนะในจอก็เป็นจินตนาการให้ชนะได้บ้าง เด็กอยากเท่าเทียมคนอื่นบ้าง ก็พยายามทำทุกอย่างหาเงินเล่นเกม
"ผมขอร้องอย่ามองเด็กพฤติกรรมไม่ดี ก้าวร้าว ติดเกม เพราะเราทิ้งเด็กตกเป็นเหยื่อมายาวนานแล้ว ต้องหันมาเอาจริงโดยรัฐบาลต้องใช้กฎหมายจัดการต้นตอปัญหาร้านเกมตู้เกมทั้งหลาย รัฐบาลนี้มีแต่นโยบาย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มาตรการด้านสังคมไม่มีเลย ผมอยากให้มองปัญหาให้ทะลุ ให้เห็นคุณูปการของเด็ก ไม่ใช่ให้เด็กเห็นแต่ความรุนแรงตั้งแต่ริมถนนถึงในสภาแล้วจะบอกว่าไม่ให้เด็กมีปัญหาไม่ได้" นายมนตรีกล่าว
ครูยุ่น กล่าวด้วยว่า กรณีด.ช.เอการช่วยเหลือเร่งด่วนต้องรีบปรับพฤติกรรม ปฏิบัติแบบมีรายละเอียด ที่บอกว่าเด็กฉลาดก็น่าจะดึงความสามารถให้มาทำกิจกรรมอื่นที่มีความสุขได้ง่าย เพราะลึกๆ เด็กติดเกม มากบวกกับความเหงา เด็กยิ้มแต่ข้างในเหงา ต้องทำให้เด็กไม่เหงา หรืออยู่กับความเหงาได้ ไม่ใช่สัมมนาเข้าค่ายฟังพระเทศน์ 3 วันแล้วจบ กิจกรรมที่ทำกับเด็กต้องละเอียดกว่านี้ ต้องให้เวลากับเด็กเพียงพอจะช่วยแก้ปัญหาได้
ด้านน.ส.กรกนก สำเนากลาง ผู้ประสานงานศูนย์เฝ้าระวังภัยเทคโนโลยี (IT WATCH) มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า เด็กรายนี้มูลนิธิติดตามพฤติกรรมมาประมาณ 2 สัปดาห์ เนื่องจากมีผู้แจ้งเหตุว่าไปถือกล่องขอเงินเพื่อมาเล่นเกม จากการเข้าไปติดตามพบว่าเด็กจะไปนั่งขอเงินบนสะพานลอยย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ ช่วงเช้าประมาณ 7 โมง ก่อนไปโรงเรียน และช่วงเย็นตั้งแต่ 16.00-21.00 น. จะขอเงินบนสะพานลอยแถวห้างเซ็นจูรี่ แล้วนำมาเล่นเกม เงินหมดก็วิ่งออกไปขอสลับอยู่อย่างนี้จนกว่าโซนเกมจะปิด โดยระหว่างเล่นเกมก็พบว่าเด็กจะจับจ้องการเล่นเกมแบบจริงจัง มักโวยวายตลอดเวลา หากเล่นแพ้จะไม่ยอม ทำให้พนักงานแลกเหรียญต้องเตือนอยู่บ่อยๆ ว่า หากไม่เงียบจะไม่ให้เล่น ลักษณะเกมที่เล่นจะมีทั้งเกมต่อสู้รุนแรงมาก ทั้งเกมชกต่อย ยิงปืน แม้ไม่มีเงินเล่นเองเด็กก็จะยืนเกาะตู้เกมดูคนอื่นเล่น พบว่ามีเด็กอยู่ 2-3 คนในกลุ่มวัยไล่เลี่ยกัน ที่ใช้วิธีไปถือกล่องขอเงินเพื่อมาเล่นเกม แต่ตอนนี้เหลือด.ช.เอคนเดียว
น.ส.กรกนกกล่าวว่า ปัญหาที่มูลนิธิรับแจ้ง คือ เด็กติดเกมจำนวนหนึ่งจะหนีออกจากบ้าน ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชายอายุ 10-15 ปี มีเด็กผู้หญิงบ้าง เนื่องจากติดบรรยากาศร้านเกม จะหนีมารวมกลุ่มเพื่อนที่เล่นเกมด้วยกัน ไปอยู่บ้านเพื่อน หรือโดนขัดใจที่บ้านไม่ให้เล่นเกมก็มีหนีออกจากบ้านเช่นกัน ขณะนี้มูลนิธิพยายามทำงานร่วมกับครอบครัวและโรงเรียน โดยเสนอแนะกรณีศึกษาเด็กที่มีปัญหาติดเกม หนีออกจากบ้านแล้วกลับมาจะแก้ปัญหาอย่างไร ช่วยแก้ปัญหาให้เด็กอย่างไรได้บ้าง เพราะการใช้วิธีลงโทษตีเด็กไม่สามารถแก้ปัญหาได้
ที่ห้องประชุมใหญ่ บช.น. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น. กล่าวในที่ประชุมถึงปัญหาเด็กกล่องว่า มอบหมายให้ทุกท้องที่กลับไปปรับเปลี่ยนวางเรื่องการป้องกันในการปราบปรามใหม่ ต้องลดการเกิดคดีให้ได้ เมื่อเกิดแล้วต้องจับให้ได้มากขึ้นรวมทั้งคดีค้างเก่าด้วย อีกเรื่องที่กำชับเป็นเรื่องเด็กก่อเหตุทะเลาะวิวาทไล่ตีกัน ตนได้ให้ไปดูสถาบันกลุ่มเสี่ยง ในจุดที่เสี่ยง ให้ไปแก้ไขวางแผนป้องกันให้ได้ อีกเรื่องที่ตนได้ย้ำที่ประชุมคือเรื่องเด็กกล่อง ตนได้ให้แต่ละท้องที่ไปเข้มงวดกวดจับอย่าให้มีลักษณะของเด็กกล่องเกิดขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ดินแดงจะต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ
ด้านพ.ต.อ.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองผบก.น.8 กล่าวถึงกรณีเด็กเล่นเกมว่า ทุกฝ่ายจะต้องมาช่วยกัน ไม่ใช่ไปแก้ปัญหาด้วยการไปปิดร้านเกม คำว่า "ติดเกม" เป็นการพูดผิด เพราะการที่ไม่ได้เล่นเกมแล้วเด็กจะตายหรือลงแดง แต่เป็นการแสดงอาการพัฒนา การตามช่วงวัย เป็นแค่บุคลิกภาพ พฤติกรรมก้าวร้าว การที่เด็กไปเล่นเกมเพราะเขาไม่มีกิจกรรม การที่เราจะแก้ปัญหาจะต้องแก้ให้ถูกที่คันคือ เด็กในช่วงวัยนี้จะต้องมีกิจกรรมต้องให้ทำกิจกรรมที่ถูกที่ควร เช่นการจัดลานกีฬาต้านยาเสพติด เมื่อไปเล่นกีฬาก็จะไม่หันไปยุ่งเกี่ยวยาเสพติด อย่าลืมการเล่นเกมเป็นการพัฒนา ทั่วโลกเขาพัฒนาโดยการให้เด็กได้ใช้ไอที แต่เรากลับมาห้ามเด็กเล่นเกม จริงๆ แล้วเราจะต้องบอกวิธีการเล่น แต่กิจกรรมอื่นก็ต้องทำ
"เด็กกล่องติดเกมแบบครอบครัวเป็นต้นเหตุต้องโทษพ่อแม่อันดับแรก กิจกรรมอื่นทำไมเด็กไม่ไปเล่น การเลี้ยงเด็กจะต้องเอากิจกรรมให้เด็กทำ ถ้าการเรียนน้อยหรือเบา ก็จะต้องหากิจกรรมอื่นให้ทำ จะต้องอบรมกล่อมเกลา เพราะเด็กยังไม่มีวุฒิภาวะไม่มีจะต้องสอดใส่ให้โดยพ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่ใช่มาจัดการที่ปลายเหตุ วิ่งไล่จับเด็กเล่นเกมกัน เราต้องสนับสนุนให้เล่นเกม แต่ต้องเล่นตามเวลาที่พอเหมาะ ร้านเกมต้องจัดให้เป็นสัดส่วน ลามกอนาจารต้องควบคุม แต่ไม่ใช่บังคับไม่ให้เด็กเล่นเกม" พ.ต.อ.ปิยะพันธ์กล่าว
น.พ.บัณฑิต ศรไพศาล ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า จะมีการประสานงานเพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือกับเด็กรายดังกล่าวในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน จากการรับทราบข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า พื้นฐานทางครอบครัวของเด็กรายดังกล่าวส่งผลให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ขึ้น ทำให้เด็กปฏิเสธครอบครัวและไม่อยากกลับบ้าน ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องได้รับการเยียวยาทั้งครอบครัวและตัวเด็กเอง ซึ่งทราบว่า แม่เด็ก หมดทางที่จะดูแลมีใช้มาตรการต่างๆ แล้วเด็กก็ยังไม่ดีขึ้น และครอบครัวไม่มีเวลาดูแลมากนักเพราะต้องทำงาน จึงจำเป็นต้องมีผู้เข้าไปช่วยเหลือ เช่น ครู อย่างไรก็ตาม ต้องมีการวินิจฉัยครอบครัวว่ามีความสามารถในการดูแลเด็กได้หรือไม่ จำเป็นต้องแยกเด็กออกจากครอบครัว ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก หรือไม่ มิฉะนั้นจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถาวร
น.พ.บัณฑิตกล่าวต่อว่า สำหรับพฤติกรรมของเด็กแสดงออกอย่างชัดเจนว่าถูกอิทธิพลของเกมเล่นงาน จากการติดเกม ดูได้จากเด็กร้องไห้เมื่อแพ้ หรือ เตะเพื่อน หรือตู้เกม เมื่อไม่ได้ดั่งใจ เกิดจากเด็กไม่สามารถแยกแยะโลกจริงกับโลกเสมือนได้ เด็กเอาตัวเองไปอยู่ในโลกเกม ถ้าชนะก็จะอารมณ์ดี ถ้าแพ้ก็จะโกรธ ยิ่งโกรธมากเท่าใด ก็แสดงถึงระดับความติดเกมว่ามากเพียงใด ส่วนวิธีการหาเงินเล่นเกมของเด็ก ที่ขอทานเพื่อนำเงินมาเล่นเกมนั้น เกิดจากเด็กไม่มีเป้าหมายในชีวิต ไม่ได้รับความรัก จึงสามารถทำอะไรก็ได้เพื่อให้ได้เงินจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้
"สมองของเด็ก ยังโตไม่เต็มที่โดยร่างกายจะปรับตัวตามการใช้งาน เช่นเดียวกับคนพิการก็จะมีการพัฒนาอวัยวะส่วนต่างๆ เพื่อทดแทนสิ่งที่ขาดไป ซึ่งเมื่อเด็กเล่นเกม เด็กจะรู้สึกว่าได้รับความสุขจากเกม ยิ่งเล่นเกมที่รุนแรง ก็จะมีความสุขเมื่อเกิดความรุนแรง ได้ใช้ความรุนแรง พอไม่มีความรุนแรงก็จะไม่มีความสุขเกิดขึ้น ไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ที่เล่นเกมรุนแรงจะไม่ได้รับผลกระทบมากเพราะสมองมีพัฒนาการเต็มที่แล้ว ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น สิ่งที่น่าห่วงที่สุดคือ วิธีการหาเงินของเด็ก แสดงให้เห็นว่าเด็กกำลังเรียนรู้การทำผิดศีลธรรม และจะมีพฤติกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถขโมย ปล้น โดยไม่รู้สึกผิด" น.พ.บัณฑิตกล่าว
พ.ญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผอ.สถาบันราชานุ กูล กล่าวว่า พฤติกรรมที่เด็กแสดงออกถือว่าน่าเป็นห่วง จำเป็นต้องได้รับการดูแลและแก้ไขพฤติกรรมอย่างเร่งด่วน เพราะพฤติกรรมที่แสดงออกเป็นลักษณะที่เกินวัย ซึ่งการติดเกมนั้น ถือเป็นปัญหาทางพฤติกรรม และจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ทั้งปัญหาทางอารมณ์ การแสดงออกที่ก้าวร้าว ใช้ความรุนแรง ส่วนการที่เด็กมีอารมณ์ที่รุนแรงเมื่อเล่นเกมแพ้ โดยร้องไห้หรือทำร้ายเพื่อนนั้น เป็นปัญหาที่เด็กไม่สามารถแยกแยะโลกของความจริงกับโลกเสมือนในเกมออกจากกันได้ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงของเด็กในวัยนี้อยู่แล้ว เพราะเด็กอายุไม่เกิน 10 ขวบ จะเลียนแบบสิ่งที่เห็น การที่เด็กเล่นเกมที่ใช้ความรุนแรงแล้วแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเป็นผลจากการเล่นเกมที่ไม่เหมาะสมกับช่วงอายุด้วย ถ้าถึงจุดรุนแรงที่สุด จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย จิตใจ ที่รุนแรงมากขึ้น
พ.ญ.พรรณพิมลกล่าวว่า การวิเคราะห์เด็กต้องอาศัยการพูดคุยอย่างละเอียด เพราะบางครั้งเด็กอาจมีภาวะบกพร่องทางสมองร่วมด้วย เช่น เป็นสมาธิสั้น ไม่สามารถเรียนรู้ในห้องเรียนได้จนเกิดความเบื่อทำให้ออกมาหาสิ่งที่สนุกกว่าทำ หรือเด็กอาจมีภาวะการเรียนรู้บกพร่อง จนไม่สามารถเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนในชั้นเรียนได้ ประกอบกับ หากเด็กมีปัญหาด้านการเลี้ยงดูจากครอบครัว ก็ทำให้เด็กตีตัวออกห่างครอบ ครัว และอยู่ในโลกของเกมและเชื่อว่าการเล่นเกมตามร้านจะเป็นเกมประเภทที่ไม่เหมาะสมกับวัยเด็ก ซึ่งเด็กเล็กมีความสามารถแยกแยะต่ำกว่าเด็กโต ซึ่งทำให้เกิดพฤติกรรมด้านลบ การบำบัด และแก้ปัญหาเด็กจึงต้องทำพร้อมกันทุกด้าน ทั้งสภาพจิตใจ สมอง สังคม ครอบครัว ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้เด็กจะติดเกมเหมือนเดิม
น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผอ.สำนักสุขภาพจิตสังคม กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เด็กในวัย 6-8 ขวบ อยู่ในวัยที่กำลังเจริญเติบโตทางสมอง ถ้าได้รับการเรียนรู้ที่ถูกต้องและเหมาะสมจะเป็นรากฐานในการเรียนรู้ในอนาคตของเด็ก แต่หากเรียนรู้ผิดทางในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะทำให้สมองมีพัฒนาการช้ายากที่จะทำการเรียนรู้ในอนาคค เด็กในช่วงวัยดังกล่าวจึงต้องได้รับการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม ควรเล่นเกมที่ฝึกสมองด้านต่างๆ โดยเฉพาะการวางแผน จะทำให้พัฒนาการทางสมองของเด็กเป็นไปในด้านดี แต่เกมประเภทต่อสู้ มีเพียงทักษะการเคลื่อนไหว และฝึกเพียงกล้ามเนื้อ เด็กไม่ได้สร้างพัฒนาการด้านสมอง ไม่ได้คิดในเชิงตรรกะเหตุและผล ทำให้ส่งผลต่อพฤติกรรม การเรียน สัมพันธภาพกับคนรอบข้าง ครอบครัวในเชิงลบ
เวลา 14.00 น. ผู้สื่อข่าวเข้าตรวจสอบร้านเกมภายในห้างสรรพสินค้า เซ็นจูรี่ ชั้น 1 ซึ่งเป็นร้านเกมที่กำลังเกิดปัญหา ซึ่งเปิดโดยบริษัทมีชื่อแห่งหนึ่ง พบว่าวันนี้มีการเข้มงวดห้ามเด็กเข้าไปเล่นเกมเป็นพิเศษ เมื่อผู้สื่อข่าวเข้าไปพูดคุยกับผู้จัดการร้าน ได้แสดงความไม่พอใจที่มีข่าวออกไป โดยชี้แจงว่า เด็กที่เป็นข่าวไม่เกี่ยวกับทางร้าน เด็กเข้ามาเล่นครู่เดียวก็กลับบ้าน ส่วนพวกเด็กกล่อง ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับร้าน