"ยุบพรรคใหญ่" ไม่ได้ตอบโจทย์..ปฏิรูปการเมือง

"ยุบพรรคใหญ่" ไม่ได้ตอบโจทย์..ปฏิรูปการเมือง

"ยุบพรรคใหญ่" ไม่ได้ตอบโจทย์..ปฏิรูปการเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นกระแสร้อนในประเด็นทางการเมืองขึ้นมาทันที เมื่อ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการยุบพรรคการเมืองและให้สมัครใหม่ ในการตอบคำถามเพื่อตอบโต้กรณีข้อเสนอของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ให้เร่งระยะเวลาการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกให้เร็วขึ้น เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่เร็วขึ้น

การพูดถึง การยุบพรรคการเมืองใหญ่ ถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นทันทีว่า เป็นสูตรพิสดาร ต้องการล้าง 2 พรรคใหญ่ที่เป็นพรรค 2 ขั้วการเมือง เพื่อนำไปสู่แนวทางการปรองดอง

ในประเด็นดังกล่าว ส่วนตัวแล้ว ไม่เชื่อว่า เป็นแนวทางที่ต้องการดำเนินการอย่างนั้นจริง น่าจะเป็นเพียงการยกตัวอย่างถึงขั้นตอนของที่มาในการกำหนดระยะเวลา เป็นการยกตัวอย่างประกอบเท่านั้น เหมือนกับที่ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ให้สัมภาษณ์ ว่า...

"ส่วนตัวเข้าใจว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงแค่ตัวอย่างที่ นายวิษณุ ยกตัวอย่างขึ้นมา ไม่ได้หมายความอย่างนั้นจริงๆ เนื่องจากต้องการยกตัวอย่างประกอบเพื่อตอบโต้โรดแม็พของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งเร็วที่สุด ซึ่งนายวิษณุบอกว่า หากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญออกมาให้ทุกพรรคไปจดทะเบียนหาสมาชิกกันใหม่ จะส่งผลให้การเลือกตั้งในระยะเวลา 2 เดือนนั้น ทำไม่ได้แน่นอน"

นอกจากนี้ อาจารย์สมบัติยังชี้ให้เห็นว่า แนวคิดการยุบพรรคเพื่อให้จัดตั้งใหม่นั้น เป็นแนวคิดที่จะทำให้เกิดปัญหาความยุ่งยาก สูญเสียเวลามากขึ้น เพราะพรรคการเมืองเก่าจะต้องไปทำเรื่องจัดตั้งใหม่หาสมาชิกใหม่ แนวคิดนี้ยังไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความได้เปรียบเสียเปรียบแต่อย่างใด ต่อให้ยุบพรรคใหญ่ๆ คนในพรรคก็ยังจะกลับมารวมกลุ่มภายใต้ชื่อพรรคใหม่อยู่ดี อย่างกรณีพรรคเพื่อไทยที่สมาชิกส่วนใหญ่มาจากพรรคพลังประชาชน เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนชื่อพรรค แต่สมาชิกไม่เปลี่ยน ดังนั้นการที่พรรคการเมืองนั้นจะมีฐานะเป็นพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่ ก็ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของพรรคเอง

เป็นการวิเคราะห์แนวทางที่ชัดเจน ว่าแนวคิดการยุบพรรคการเมืองใหญ่ไม่เกิดประโยชน์ และ หากลองคิดต่อจากที่อาจารย์สมบัติวิเคราะห์ ข้อเท็จจริงของนักการเมืองไทยก็คือ บรรดานักการเมืองที่เป็นตัวแทน เป็นส.ส. แท้จริงแล้ว ไม่ได้มีจุดยืนเพื่อส่วนรวมเสียทุกคน

นักการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่สร้างฐานมาจากระบบอุปถัมภ์ มาจากการสร้างอิทธิพลท้องถิ่น มุ่งรักษาผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องเป็นหลัก และ นักการเมืองจำนวนมากก็ขายตัวเป็นลูกน้องของนายทุนใหญ่ หรือ ผู้มีอิทธิพลที่เหนือกว่าเพื่อรักษาดุลอำนาจของตัวเอง หรือ รับผลประโยชน์มารักษาดุลอำนาจของตัวเอง

ประสบการณ์ตรงที่ผ่านมาที่เราได้รับรู้ ชัดเจนยิ่ง เราเห็นบรรดา ส.ส.ทำหน้าที่อย่างไรในการประชุมสภา เราเห็น ส.ส. เอาแต่ตีรวนกีดขวาง ขัดขวางกระบวนการตรวจสอบ ทำหน้าที่อย่างไร้ยางอายเพื่อรักษาอำนาจให้ตัวเองและพวกพ้อง เราเห็น ส.ส.แสดงความกักขฬะ อย่างที่ไม่น่าจะเห็น ก็เคยเห็นมาแล้ว ฯลฯ

ดังนั้น การยุบพรรคการเมือง เป็นเพียงการทำให้เสียเวลายุ่งยาก ต้องจดทะเบียนใหม่ รับสมาชิกใหม่ เป็นการเพิ่มเวลาโดยใช่เหตุ เพราะถึงเวลาจริงๆ บรรดานักการเมืองหน้าเก่า ที่ไม่เคยมองเรื่องประโยชน์ของส่วนรวม แสดงพฤติกรรมเหมือนที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น ก็กลับมารวมกันในมุ้ง ในนามพรรคการเมืองใหม่อยู่ดี

การยุบพรรคการเมืองจึงไม่ช่วยให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองใดๆทั้งสิ้น.........ใช้เวลาศึกษากลไกลเพื่อป้องกันหรือกำจัดนักแสวงหาประโยชน์ เหมือนอย่างข้างตน ให้ออกไปจากระบบการเมือง หรือให้หลุดรอดเข้ามาให้น้อยที่สุด หรือ สร้างกลไกในการลงโทษนักการเมืองที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวให้เข้มข้นและปฏิบัติได้จริงดีกว่า......

เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook