โต้วิลาศ "รองผู้ว่าฯกทม."ปัดใช้เงินทัวร์นอก บอกไปปีละครั้ง ไม่เก่งภาษา-ระเบียบชัด
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม นายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวกรณีนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เปิดโปงการทุจริตภายใน กทม.ว่า มีการใช้จ่ายงบประมาณไม่ถูกต้อง พร้อมระบุว่ามีรองผู้ว่าฯกทม.คนหนึ่งเดินทางไปต่างประเทศทุกเดือน และมีการแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อหวังผลประโยชน์ เป็นต้น ว่าไม่อยากจะออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพราะนายวิลาศไม่ได้ระบุว่าเป็น รองผู้ว่าฯกทม.คนไหน จนถึงขณะนี้ยังไม่รู้ว่าหมายถึงใคร แต่ส่วนตัวแม้จะเป็นรองผู้ว่าฯกทม. แต่ยันยืนว่าไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศทุกเดือน
"ผมไปราชการเพียงปีละครั้ง ส่วนหนึ่งเพราะไม่ถนัดภาษาอังกฤษ ส่วนการใช้จ่ายงบประมาณก็มีระเบียบขั้นตอนที่ชัดเจนที่ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว คงไม่สามารถนำมาเบิกจ่ายเพื่อการส่วนตัวได้ ขณะที่การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ผู้ที่มีอำนาจดำเนินการเรื่องดังกล่าวก็มีเพียง 2 คน คือ ผู้ว่าฯกทม.ที่จะพิจารณาในตำแหน่งระดับสูง หรือซี 9 ขึ้นไป ส่วนตำแหน่งรองจากนั้นเป็นอำนาจของปลัด กทม. ส่วนการจัดซื้อรถดูดเลนหรือรถดูด ไขมัน เท่าที่ทราบก็มีการจัดซื้อมานานตั้งแต่สมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.สมัยที่ 1 ขณะนั้นผมเป็นรองปลัด กทม. กรณีที่ว่ามีหนังสือเวียนให้สำนักงานเขตสำรวจเพื่อจัดซื้อเพิ่มนั้น ผมก็ไม่ทราบเรื่อง" นายจุมพล กล่าว
นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า เพิ่งเดินทางกลับมาจากฝรั่งเศสเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม เป็นการเดินทางไปทำงานเพื่อร่วมการประชุมหุ่นกระบอกโลก พร้อมนำตัวแทนประเทศไทยไปจัดการแสดงเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทยและส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยว การเดินทางครั้งนี้ไปในฐานะที่กำกับดูแลสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กทม.
"ผมไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศบ่อย อย่างครั้งนี้ก็ห่างจากงานครั้งที่แล้วกว่า 8 เดือน ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผม ส่วนที่มีการระบุถึงสำนักงานเขตบางกอกใหญ่ ผมก็ไม่ได้กำกับดูแลเขตดังกล่าว หรือจะเป็นการจัดซื้อรถดูดเลนหรือรถดูดไขมัน ก็ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานที่ผมกำกับดูแล จึงไม่ทราบเช่นกันว่าหมายถึงรองผู้ว่าฯกทม.คนใด" นายอมรกล่าว
ด้าน นายกฤษฎา ศิริพิบูลย์ ผอ.สำนักการคลัง (สนค.) กล่าวว่า ขณะนี้เงินสะสมกทม. ต้นปีงบประมาณ 2559 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.58 รวมกับเงินกันเหลื่อมของปี 2558 ซึ่งเป็นยอดก่อนปรับปรุงบัญชี มีอยู่ 30,000 ล้านบาท กทม.ต้องบริหารจัดการ ส่วนหนึ่งจะต้องใช้จ่ายเป็นเงินเดือนค่าจ้างของข้าราช การ ลูกจ้างและบุคลากรกทม. เป็นเวลา 2 เดือน เดือนละ 1,300-1,500 ล้านบาท ทำให้เงินสะสมยังคงเหลือ 27,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ กทม.ยังได้รับเงินจากการจัดเก็บภาษีทั้งในส่วนที่รัฐบาลจัดสรรให้และที่กทม.จัดเก็บเองอีก ยืนยันว่าเงินสะสมไม่ได้เหลือ 2,000 ล้านบาท ตามที่นายวิลาศ ตั้งข้อสังเกต ไม่รู้ว่านายวิลาศ เอาข้อมูลมาจากที่ใด