มองย้อน วันอาทิตย์สีแดง
ผ่านมาแล้วสำหรับนัดหมาย 1 พ.ย.วันอาทิตย์สีแดง ผลปรากฏ กลายเป็นนัดบอด นัดแล้วไม่มา หรือ เป็นเพราะถูกบล็อคอยู่หมัด จากฝ่ายคสช. จึงทำให้กระแสใส่เสื้อแดงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ ในการให้กำลังใจอดีตนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เป็นไปตามที่คาด
เรื่องนี้ อย่างที่บรรดาเซียนการเมืองวิเคราะห์ก่อนนัดหมาย ...ความไม่เป็นเอกภาพของบรรดาแกนนำ ที่ซีกหนึ่งอยากขยับ แต่ตัวบิ๊กๆ ที่เป็นผู้จัดการบริหารมวลชน อย่างจตุพร พรหมพันธุ์ ไม่ขยับ แถมออกมาปราม กลัวจะเข้าทางอีกฝั่ง หรือ ด้วยเหตุที่มีการสกัดแกมขู่ของบิ๊ก คสช. ทำให้ กระแสวันอาทิตย์สีแดงหดหายไป
ซึ่งจะว่าไป แม้แต่นายใหญ่ ที่อยู่ต่างประเทศลงทุนออกแรง ออกมาชี้นำ เตรียมซื้อเสื้อแดง ใส่เสื้อแดงโชว์ในวันอาทิตย์เอง... บรรดาอดีต ส.ส. อดีต รัฐมนตรีบางคนออก มาใส่เสื้อแดง ปลุกกระแสกัน แต่ก็ไม่สามารถปลุกกระแสขึ้นมาได้
อย่างไรก็ตาม กระแสที่เกิดในโลกโซเชียล ดูเหมือนจะกระพือไปได้ไกลกว่า มีการเคลื่อนไหวคึกคักอยู่บ้าง แต่ในสนามจริง ไม่สามารถปั่นกระแส ออกมาได้ จึงทำให้ขาดพลังที่จะมาเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน หากวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีคนจำนวนมากออกมาใส่เสื้อแดงจริงจำนวนมาก รับรองได้ว่า เหตุการณ์จะถูกนำไปกระพือต่อในโลกโซเชียล เพื่อปั่นกระแสจริงให้เพิ่มเติม...แต่ในเมื่อโลกเป็นจริงไม่เกิด โลกเสมือนจริงจึงขาดแรงส่งไปด้วยเช่นกัน
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ เชื่อว่า ในการเคลื่อนไหวเพื่อจะปลุกกระแสของกลุ่มสนับสนุนอดีตนายกยิ่งลักษณ์ ต้องคิดหนัก และปรับกลยุทธ์กันไม่น้อย ซึ่งกระแสเรียกความสงสาร น่าจะเป็นทิศทางที่ถูกนำมาเป็นประเด็นนำหลังจากนี้ การเรียกคะแนนสงสารเพื่อจะดิสเครดิต ระบบยุติธรรม พยายามสร้างกระแสความไม่เป็นธรรมในเรื่องดังกล่าว กระแส 2 มาตรฐานจะถูกนำกลับมากระพือหนักอีกครั้งหนึ่ง
กระแสจากวันนัดหมาย วันอาทิตย์สีแดง ที่นายใหญ่ลงทุนปั่นกระแสเอง แต่กลับไม่ขึ้น ..ทำให้ต้องคิดหนักเหมือนกันว่า จะเดินหน้าอย่างไร...? และ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ น่าจะได้บทเรียนในเรื่องการบริหารมวลชนกันพอสมควร ...
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่อาจสรุปได้ว่า กระแสต้านจะไม่เกิดขึ้นมาอีก หรือไร้พลังโดยสิ้นเชิง คสช.ไม่อาจประมาท หรือปล่อยวาง ตายใจกับกระแสต่างๆได้ ด้วย พลังของนายใหญ่ ที่มีแรงขับมีทุนพร้อมที่จะขับเคลื่อนได้ทันทีหากมีช่อง ดังนั้น การติดตามเพื่อให้ทันความเคลื่อนไหวอย่างแท้จริงจึงไม่อาจพลาดได้เช่นกัน
โดย: เปลวไฟน้อย