ลำดับเหตุการณ์ห้วงเวลาก่อน 'หมอหยอง' เสียชีวิต
(9 พ.ย.) กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ได้ออกหนังสือแถลงข่าว กรณี นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง หมอดูชื่อดัง ผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เสียชีวิต (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : รมว.ยุติธรรม ยืนยัน "หมอหยอง" เสียชีวิตแล้ว ติดเชื้อในกระแสเลือด)
ส่วนสาเหตุการเสียชีวิต สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ ได้ทำการชันสูตร โดยลงความเห็นว่า สันนิษฐานว่า ระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจากติดเชื้อในกระแสโลหิต ซึ่งทางเรือนจำจะแจ้งให้ญาติผู้เสียชีวิตมารับศพไปดำเนินการตามประเพณีต่อไป ทั้งนี้ ในหนังสือแถลงข่าว ได้มีการสรุปเหตุการณ์ไว้ โดยมีดังต่อไปนี้
22 ต.ค. หมอหยอง ถูกส่งไปรักษาตัวยังโรงพยาบาลภายนอก หลังจากมีอาการโรคความดันกำเริบ ผลการตรวจของแพทย์ปรากฏว่า ไม่พบความผิดปกติ กะโหลกศีรษะไม่แตก แต่น่าจะเป็นการแกล้งทำ และไม่พบว่ามีอาการอย่างอื่น จึงส่งตัวกลับคืนเรือนจำชั่วคราว 24-25 ต.ค. อาการปกติ
29 ต.ค. หมอหยอง มีอาการปวดศีรษะ ปวดท้องด้านขวา ท้องอืด เวียนศีรษะ ตอบคำถามได้ค่อนข้างช้า ทางเรือนจำชั่วคราวจึงส่งไปรักษาในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เวลา 21.30 น. ผลการตรวจพบว่า ความดันโลหิตสูง มีภาวะไขมันพอกตับ ประกอบมีความเครียดและวิตกกังวล
31 ต.ค. ถูกส่งตัวกลับที่คุมขังที่เรือนจำชั่วคราว หลังอาการป่วยดีขึ้น
5 พ.ย. ต่อเนื่องถึงวันที่ 6 พ.ย. หมอหยองมีอาการไข้สูงกระสับกระส่าย ไอ พยาบาลเสนารักษ์ประจำเรือนจำ จ่ายยาลดไข้ ยาลดอาการไอ แล้วให้นอนพัก
7 พ.ย. เมื่อเวลา 21.00 น. เจ้าหน้าที่เวรไปตรวจ พบว่าผู้ต้องขังมีอาการเรียกไม่รู้สึกตัว หายใจเฮือกยาว เสนารักษ์ จึงแจ้งให้นำส่งทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ทันที
เมื่อไปถึงแพทย์เวรได้พยายามช่วยชีวิตตามหลักเกณฑ์และจรรยาบรรณทางวิชาชีพ ทำกระบวนการฟื้นคืนชีพ (Advanced CPR: Cardio Pulmonary) ใช้เวลาดำเนินกระบวนการ ตั้งแต่แรกพบตัว โดยใส่ท่อช่วยหายใจ ปั๊มหัวใจ ให้ยากระตุ้นหัวใจและความดันโลหิต ฯลฯ โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมงเศษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้แจ้งพนักงานสอบสวนท้องที่มาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับความเป็นไปได้ที่จะมีเชื้อที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตทันทีอย่างรวดเร็ว จากการสอบถามแพทย์ระบุว่า ในกรณีของ หมอหยอง มีความเป็นไปได้ที่อาจมีภูมิต้านทานอ่อนแอ โดยตรวจพบจากการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ว่า มีภาวะไขมันสะสมในตับสูง
ประกอบกับผลการตรวจเลือดขณะทำ CPR เมื่อวันที่ 7 พ.ย. พบมีเอนไซม์การทำงานของตับสูง ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดพบว่า มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ มีเพียง 60,000 คิวบิกมิลลิเมตร (ค่าปกติ 140,000-400,000 / คิวบิกมิลลิเมตร)
สันนิษฐานว่าเมื่อได้รับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือดเข้าไป จึงอาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลวและนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม