คุมเข้มนศ.ขายตัวผ่านเว็บไซต์! รมช.ศธ.สั่งม.รัฐเอกชนอาชีวะ
รมช.ศธ.สั่งมหาวิทยาลัยรัฐ-เอกชน-อาชีวะ คุมเข้มนักศึกษาขายตัวผ่านเว็บไซต์ เร่งปลูกฝังให้มีจิตสาธารณะ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เล็งชงเข้าหารือกับ กกอ. นายกสมาคมสถาบันอุดมเอกชนยันทราบปัญหาไม่ได้นิ่งนอนใจ
เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2552 นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)ออกมาเปิดเผยได้รับการร้องเรียนจากคนไทยในต่างประเทศว่า มีนักศึกษาไทยขายบริการทางเพศผ่านเวบไซต์และไฮไฟว์เป็นจำนวนมากและเกรงจะกระทบภาพลักษณ์ประเทศว่า ตั้งแต่มีข่าวออกมา 2-3 วันก่อนหน้านี้ได้แจ้งไปยังสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชน และสถาบันอาชีวศึกษาผ่านสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ขอให้ช่วยกวดขันดูแลนักศึกษาไม่ให้มีการขายบริการทางเพศ ซึ่งคิดว่าปัญหามีสาเหตุจากนักศึกษามีค่านิยมที่ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ตามกระแสวัตถุนิยมและปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งกรณีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำนั้นทุกฝ่ายต่างเจอปัญหานี้ทั้งนั้น ดังนั้น นักศึกษาจึงต้องรู้จักหาทางออกที่เหมาะสม
"กรณีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจนั้น ศธ.มีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)ให้นักเรียน นักศึกษากู้ยืมเรียนอยู่แล้ว ปีนี้ได้เสนอรัฐบาลให้ขยายฐานผู้กู้กยศ.โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 2-4 ที่กู้กองทุนกยศ.ไม่ได้ในช่วงเรียนปีที่ 1 ก็สามารถกู้ได้และใช้งบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาทซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว ส่วนปัญหานักศึกษามีค่านิยมฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยนั้น ศธ.คงแก้ปัญหาโดยลำพังไม่ได้ แต่จะต้องร่วมมือกับทุกฝ่ายเช่น กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง(พม.) ช่วยกันปลูกฝังให้นักศึกษามีความรับผิดชอบมากขึ้น มีจิตสาธารณะและดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ทั้งนี้ จะนำปัญหานี้ไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.)ด้วย" นายชัยวุฒิ กล่าว
ด้านรศ.ดร.จีรเดชอู่สวัสดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนายกสมาคมสถาบันอุดมเอกชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อทราบปัญหาดังกล่าวไม่ได้นิ่งนอนใจได้ให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่มีเบอร์โทรศัพท์ ชื่อ ที่อยู่ที่ปรากฎบนเว็บไซต์ ปรากฎว่า ไม่ใช่นักศึกษา กลับเป็นผู้หญิงขายบริการทั่วไป แต่อ้างเป็นนักศึกษา เพราะต้องการเพิ่มค่าตัว เมื่อนำเอาชื่อ สกุล ไปตรวจสอบตามมหาวิทยาลัยเอกชน ก็ไม่พบว่าเป็นนักศึกษา ทั้งที่ทุกมหาวิทยาลัยจะมีทะเบียนนักศึกษาทุกคนอยู่ หากรายชื่อดังกล่าวเป็นนักศึกษาจริง จะต้องตรวจสอบได้ในทะเบียนนักศึกษา แต่กรณีดังกล่าวไม่พบ ตนจึงมองว่าเป็นเรื่องของการแอบอ้างใช้ชุดนักศึกษาเพิ่มค่าตัวมากกว่า
"เราคงไม่ต้องไปนั่งแก้ปัญหานี้ ยิ่งแก้เหมือนยิ่งมีปัญหา ยิ่งพูดยิ่งเข้าตัว อีกอย่างเรื่องนี้ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ใช่นักศึกษาของเรา ไม่จำเป็นต้องไปนั่งแก้ นั่งแถลง อย่างไรก็ตาม การที่มีผู้แอบอ้างเช่นนี้เพราะไม่มีรายได้ บวกกับพิษเศรษฐกิจตกต่ำ จึงพยายามหาทางที่จะหาเงินได้ง่าย และมากๆ จึงมาแอบอ้างเป็นนักศึกษา เรามหาวิทยาลัยเอกชนถูกกล่าวหาเรื่องนี้มาตลอด ทั้งที่ความจริงแล้ว เด็กที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชน ถือว่าพ่อแม่มีเงิน ฐานะปานกลาง คงไม่จำเป็นต้องไปขายบริการ อีกทั้ง เมื่อทุกคนมีเงิน แล้วใช้ของฟุ้งเฟ้อแล้ว ก็ไม่จำเป็ต้องเอาตัวเข้าแลก เพราะต่างมีเงินจับจ่ายหาซื้อของมาใช้อยู่แล้ว ข้อเท็จจริงมันไปด้วยกันไม่ได้ เพราะไม่ใช่เด็กมหาวิทยาลัยเอกชน" รศ.ดร.จีรเดช กล่าวทิ้งท้าย