รถเมล์"สาย 8"ในตำนาน ดังไกล! สื่อนอกชี้ต้องปรับพฤติกรรมคนขับ

รถเมล์"สาย 8"ในตำนาน ดังไกล! สื่อนอกชี้ต้องปรับพฤติกรรมคนขับ

รถเมล์"สาย 8"ในตำนาน ดังไกล! สื่อนอกชี้ต้องปรับพฤติกรรมคนขับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พฤติกรรมของคนขับรถเมล์สาธารณะสาย 8 ในกรุงเทพฯนั้น ได้รับเสียงวิจารณ์จากสังคมออนไลน์ในแง่ลบเป็นวงกว้าง ไม่ใช่แค่เพียงคนไทยที่พูดถึงเรื่องความย่ำแย่ของพนักงานที่ขับรถหวาดเสียวเท่านั้น แต่สื่อต่างชาติก็ยังติดตามเรื่องรถเมล์สาย 8 เช่นกัน

นิกเกอิ เอเชียน รีวิว สื่อของญี่ปุ่น รายงานเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมว่า การขับขี่ของรถเมล์สาย 8 นั้นนับเป็นเรื่องเลวร้ายอย่างยิ่ง ปีที่ผ่านมาผู้ให้บริการรถเมล์สาย 8 ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้โดยสารมากถึง 345 ครั้ง หรือ คิดเป็นอัตราส่วนถูกร้องเรียน"เกือบทุกวัน" ก็ว่าได้ เช่น การขับรถอย่างไม่ระมัดระวัง หรือคิดอยากจะไม่รับ หรือส่งผู้โดยสารตามอำเภอใจ

ทั้งนี้ รถเมล์สาย 8 เริ่มวิ่งจากสะพานพระพุทธยอดฟ้าใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา และมุ่งหน้ายังจุดหมายปลายทางยังเขตศูนย์กลางเศรษฐกิจก่อนจะกลับมาเขตบางกะปิ รวมเป็นระยะทางทั้งหมด 30 กิโลเมตร

การออกแบบของรถเมล์สาย 8 (แบบไม่ติดแอร์) เป็นลักษณะโบราณ พื้นไม้ มีพัดลมติดบนเพดาน มีช่องว่างระบายอากาศ ประตูทางขึ้น-ลง ยังคงเปิดแม้รถกำลังวิ่งด้วยความเร็วสูง อย่างไรก็ดี ผู้โดยสารยังสามารถสูดรับอากาศจากภายนอกได้ พร้อมกับชมบรรยากาศของกรุงเทพฯผ่านหน้าต่างที่สามารถเปิดได้

แม้ผู้โดยสารรถเมล์สาย 8 จะนั่งได้ไม่ค่อยสะดวกสบายเท่ากับรถโดยสารในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เมื่อเปรียบเทียบราคาค่าโดยสารที่ 9 บาท ก็ดูสมเหตุสมผล

การเดินทางของรถสาย 8 นั้น เริ่มวิ่งจากคนไม่ค่อยเยอะเท่าใด แต่หลังจากนั้นประมาณ 10 นาที ผู้โดยสารจะนั่งเต็มทุกที่ และบนรถจะไม่มีการประกาศจุดหมายปลายทาง หรือป้ายรถเมล์ถัดไป

บางทีอาจเป็นเพราะผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่นจึงรู้ข้อมูลอยู่แล้ว จากนั้นไม่นานประมาณ 1 ชั่วโมงก็เข้าสู่ช่วงเวลาอันตกตะลึง เมื่อคนขับเร่งความเร็วอย่างน่ากลัว ผู้ขับขี่รถบนท้องถนนจะเริ่มกลัวและหลีกทางให้ ซึ่งรวมถึงการขับข้ามเลนขวาสุดมายังซ้ายสุดเพื่อจอดป้ายรถเมล์อย่างกะทันหันด้วย

อันตรายแต่ได้เงินเยอะขึ้น

สื่อท้องถิ่นในไทยรายงานว่าระหว่างปี 2554-2556 พบอุบัติเหตุประมาณ 29 ครั้งเกี่ยวข้องกับรถเมล์ในกรุงเทพฯซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 30 ราย และบาดเจ็บกว่า 100 คน

บางคนกล่าวตำหนิสาเหตุว่า มาจากค่าจ้างพนักงานขับรถที่ขึ้นอยู่กับยอดเก็บเงินผู้โดยสาร ทำให้คนขับต้องรีบเร่งขับรถเร็วเพื่อทำเวลา และแซงหน้ารถโดยสารคันอื่นเพื่อรับผู้โดยสารให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

"ดิฉันรู้สึกหวาดกลัวเป็นอย่างมากเมื่อจำเป็นต้องขึ้นรถเมล์สาย 8 เพราะคนขับขับเร็วกว่ารถเมล์คันอื่น และชอบปาดไปมา" ผู้ใช้รถเมล์สาย 8 ไม่ประสงค์ออกนามเปิดเผยกับมติชน และว่า "ดิฉันคิดว่าผู้ให้บริการควรเพิ่มเงินเดือนให้กับพนักงานขับรถ เพราะจะได้ไม่ต้องขับรถเร็วมาแย่งลูกค้าเพื่อให้ได้เงินเดือนมากขึ้น"

ปัจจุบันหากพูดถึงระบบเครือข่ายการขนส่งในไทย โดยเฉพาะรถไฟฟ้า บางครั้งรถเมล์ยังคงเป็นทางเลือกที่สำคัญในระบบขนส่งสำหรับใครหลายคน ขณะที่รัฐบาลไทยกำลังเดินหน้าวางแผนพัฒนาระบบเส้นทางขนส่งรถไฟฟ้าในเมือง รวมถึงการนำรถไฟและเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในเส้นทางใหม่ ซึ่งจะเปิดใช้ในช่วงปีหน้า

ทั้งนี้ แม้หลายคนจะพบความเลวร้ายของรถเมล์สาย 8 จากปัญหาคนขับแต่รถเมล์สาย 8 ยังจะคงอยู่ติดกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างหยั่งลึก เป็นไปได้ไหมว่า รถเมล์สาย 8 จะยังอยู่รอดในธุรกิจ เช่นนี้ ขณะที่ไทยกำลังเดินหน้าเปลี่ยนแปลงระบบขนส่ง

แน่นอน ! สิ่งสำคัญขณะนี้คือ ผู้ให้บริการรถเมล์สาย 8 ต้องกลับมาทบทวนว่า การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ รถเมล์สาย 8 จะปรับคุณภาพการบริการอย่างไรให้อยู่รอด?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook