10 คดีเด็ด..สั่นสะท้านสังคมแห่งปี 2558
ปี 2558 นับเป็นอีกปีที่เรื่องราวทางสังคมและแวดวงการเมืองเข้มข้นไม่แพ้ปีไหนๆ เหตุการณ์และคดีความต่างๆ เกิดขึ้นตลอดทั้งปีและได้รับความสนใจในหมู่คนทั่วไปในแต่ละช่วงเวลา บางคดีได้รับการไขวามกระจ่างแจ้งให้ได้รับทราบทั่วกัน และก็ยังมีอีกหลายคดีที่ยังเป็นปริศนาและรอคอยบทสรุป และนี่คือประมวลภาพทั้งหมด 10 คดีเด็ดแห่งปี 2558
1. คดีฉาวสีกากี "พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์"
เป็นคดีที่เชื่อมต่อมาจากเมื่อปี 2557 ปมอื้อฉาวของอดีต ผบช.ก. "พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์" ที่กลายเป็นผู้ต้องหาฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย และเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบนหรือประโยชน์อื่นใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 149 พร้อมกับถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมด
วันที่ 30 มกราคม 2559 ศาลอาญาได้พิพากษา สั่งจำคุกในข้อหาหมิ่นสถาบันเป็นเวลา 5 ปี ข้อหาสนับสนุนให้มีการเปิดบ่อนการพนัน จำคุก 2 ปี และ ข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ สั่งจำคุก 5 ปี รวมโทษจำคุก 12 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง และในเวลาต่อมายังมีคดีสะสมตามอีกเป็นระลอก เช่น คดีรับของโจร คดีซุกไม้หวงห้าม จนได้รับฉายาว่า "นายพลช็อกโลก"
2. คดีสะเทือนประเทศ "ระเบิดแยกราชประสงค์"
วันที่ 17 สิงหาคม 2558 เป็นเหตุการณ์ที่คนไทยไม่ลืม เกิดเหตุระเบิดบริเวณศาลพระพรหม แยกราชประสงค์ เป็นเหตุทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ คดีดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความสับสนต่างๆ ในสถานการณ์ พร้อมกับกระแสข่าวที่ลือว่าเป็นเหตุก่อการร้าย
คดีความที่ยังซับซ้อนอยู่หลายสัปดาห์ กระทั่งสืบสวนและแกะรอยพบว่าน่าจะมีส่วนเชื่อมโยงเกี่ยวกับกลุ่มหัวรุนแรงจากนอกประเทศ นำมาสู่การจับกุมตัวผู้ร่วมก่อเหตุเป็นชาวต่างชาติ ประกอบด้วย นายอาเดม คาราดัก และ นายไมราลี ยูซูฟู พร้อมกับยังติดตามจับกุมกลุ่มผู้ร่วมขบวนการอีกอย่างน้อย 6-8 คน มาถึงวันนี้คดีดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปในขั้นตอนกฎหมาย ผู้ต้องหาถูกสั่งฟ้องอย่างน้อย 10 ข้อหา แต่เหตุการณ์และความสูญเสียกลายเป็นแผลเป็นในสังคม
3. คดีปริศนา "เสี่ยชูวงษ์ แซ่ตั๊ง"
วันที่ 26 มิถุนายน 2558 เสี่ยหมื่นล้าน "นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง" เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชนต้นไม้ที่ย่านบางนา โดยที่มีชื่อของ "พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์" อดีต รมช.พาณิชย์ ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วย แต่การเสียชีวิตครั้งนี้เต็มไปด้วยเงื่อนงำ เมื่อตำรวจเข้ามาสืบสวนพิสูจน์ข้อเท็จจริง และโยงมาสู่คดีอื้อฉาวต่างๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน การโอนหุ้น และปลอมแปลงเอกสาร
เมื่อตำรวจเห็นว่าหลักฐานต่างๆ ช่วยพิสูจน์ว่า เสี่ยชูวงษ์ เสียชีวิตแบบผิดธรรมชาติ ก็มีตัวละครที่เกี่ยวข้องต่างๆ โผล่ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น พ.ต.ท.บรรยิน ที่ถูกกล่าวหาว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตครั้งนี้ หลังพบพิรุธเกี่ยวกับการโอนหุ้น รวมทั้ง "สาวพริตตี้" , "โบรกเกอร์สาวคนสนิท" และ "แม่ของโบรกเกอร์" ล่วงไปสู่ความสัมพันธ์พิเศษของแต่ละฝ่าย ทำให้คดีดังกล่าวยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการ
4. คดีบานปลาย "จลาจลใหญ่ สภ.ถลาง"
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2558 เกิดเหตุจลาจลวุ่นวายบริเวณหน้า สภ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อชาวบ้านกลุ่มใหญ่รวมตัวกันเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับวัยรุ่น 2 คนที่เสียชีวิตจากการกระทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เหตุการณ์เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงสาย ลุกลามบานปลายกลายเป็นเหตุประท้วงและจุดไฟเผาทำลายสถานที่ราชการ
ภายหลังมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ส่วนโลกออนไลน์มีการแชร์ภาพเหตุการณ์การจับกุม 2 วัยรุ่นที่เสียชีวิต พบเจ้าหน้าที่พยายามถีบรถจักรยานยนต์ให้เสียหลักจริง ส่วนผลชันสูตรศพซ้ำครั้งที่ 2 ก็พบว่าเสียชีวิตจากการถูกกระแทกที่ศีรษะอย่างแรง โดยเสียชีวิตก่อนจะถึงโรงพยาบาล ขณะที่ชาวบ้านที่ร่วมกันก่อเหตุจุดไฟเผาโรงพัก ก็ต้องถูกทำดำเนินคดีความเช่นเดียวกัน
5. คดีความผิด ม.112
กลายเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจที่สุดในรอบปี หลังจากการจับกุมตัว "หมอหยอง นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์" เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2558 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คดีหมิ่นเบื้องสูง และมีการจับกุมเพิ่ม คือ "พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา" และ "นายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์" ทั้งหมดให้การรับสารภาพ
คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากการแอบอ้างสถาบันเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรม ปั่นเพื่อแม่ และ ปั่นเพื่อพ่อ ก่อนจะมีขยายผลเกี่ยวกับทรัพย์สินต่างๆ ของผู้ต้องหาจำนวนหลายสิบล้านบาท ต่อมา พ.ต.ต.ปรากรม ได้ทำการฆ่าตัวตายในเรือนจำ ก่อนที่ในเวลาต่อมาไม่นานนัก "หมอหยอง" ได้ป่วยและเสียชีวิตลงเช่นกัน
สำหรับคดีดังกล่าวยังดำเนินการทางกฎหมายและสอบสวนขยายผลจับกุม ขณะยังคงควบคุมตัวผู้ต้องหาที่จับกุมได้ไว้สั่งฟ้อง อีกทั้งมีคำสั่งโปรดเกล้าฯ ปลดยศ "พล.ต.พิสิฐศักดิ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา" รองผู้บังคับหน่วยทหารมหาดเล็กฯ เนื่องจากผิดวินัยทหาร และยังติดตามจับกุมตัว "พ.อ.คชาชาต บุญดี"
6. คดีอุกอาจ "เสี่ยพระราม 9 คาเฟ่"
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 เกิดเหตุคนร้ายบุกใช้อาวุธปืนยิงใส่ นายสมยศ สุธางค์กูร อดีตเสี่ยเจ้าของพระราม 9 คาเฟ่ เป็นเหตุทำให้เสียชีวิตอย่างอุกอาจ ท่ามกลางการตั้งปมประเด็นสังหารครั้งนี้หลายจุด รวมทั้งความขัดแย้งบาดหมางเรื่องธุรกิจตั้งแต่หลายสิบปีก่อนกับ นายบุญเลี้ยง อดุลยฤทธิกุล อดีตเจ้าของวิลล่าคาเฟ่
แต่ใช้เวลาสืบสวนไม่นานนัก ก่อนจะรวบตัวกลุ่มผู้ก่อเหตุได้ ประกอบด้วย นายภาณุพงศ์ รัสนา และ นายนายชม ไชยณรงค์ โดยมือปืนได้รับการว่าจ้าง 300,000 บาท เพื่อไปก่อเหตุและจำใจรับงานเพราะอยากทดแทนบุญคุณ ส่วนผู้บงการสารภาพว่า ไม่พอใจที่เสียชีวิตรับปากว่าจะวิ่งเต้นคดียาเสพติดให้ รับเงินไปแล้วแต่ทำไม่ได้ เมื่อทวงถามเงินก้อนนั้นคืนก็ถูกปฏิเสธ จึงตัดสินใจวางแผนสังหารดังกล่าว
7. คดีค้ามนุษย์ "ชาวโรฮิงญา"
"โรฮิงญา" กลายเป็นคำที่คนไทยให้ความสนใจอยู่ไม่น้อยในช่วงปีนี้ เพราะเบื้องลึกเบื้องหลังเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างโหดร้ายถูกเปิดโปงออกมาสู่สังคม เริ่มต้นจากปัญหาระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นของชางโรฮิงญาในพื้นที่ประเทศเมียนมาร์ แต่กลับมาไม่มีประเทศใดอ้าแขนรับเข้ามาพักพิง อีกทั้งยังพบหลุมศพปริศนาเป็นจำนวนมากในพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่เชื่อว่าเป็นศพของชาวโรฮิงญา ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์สู่เวทีนานาชาติ
ขณะที่ยังพบเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบมีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์ ชาวโรฮิงญา มีการสั่งเด้งระนาวหลายสิบตำแหน่ง กระทั่งนำมาสู่การออกหมายจับ พล.ต.มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิ ทบ. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์ครั้งนี้ เคยปรากฎชื่อในบัญชีรับจ่ายของผู้เกี่ยวข้องในขบวนการฯ ซึ่งตำรวจตรวจยึดได้จากการค้นบ้านพักของหนึ่งในผู้ต้องหาขบวนการ
อีกทั้งล่าสุดคดีนี้อาจจะกลายเป็นอาถรรพ์ หลัง พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์ ชาวโรฮิงญา ได้ขอยื่นหนังสือเพื่อลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรเลีย โดยให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติว่า เกรงว่าจะมีภัยเกี่ยวกับการทำคดีนี้ ทั้งจากเจ้าหน้ารัฐและนักธุรกิจ เพราะชุดสืบสวนตอนนี้ก็ถูกยุบลงไป หลังดำเนินการได้แค่ 5 เดือน ทำให้คดีนี้ยังเป็นปริศนา...
8. คดีเงื่อนงำ "ข่มขืนต่อเนื่องพื้นที่ภาคกลาง"
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2558 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม กลายเป็นประเด็นสะเทือนขวัญสังคม เมื่อพบว่ามีคนร้ายลักษณะฆาตกรต่อเนื่อง ก่อเหตุบุกทำร้ายและข่มขืนกระทำชำเราผู้หญิงในพื้นที่ดังกล่าวกว่า 10 ราย เหยื่อส่วนใหญ่เป็นหญิงสูงวัย บางคนถูกฆ่าปิดปากเสียชีวิต
คดีดังกล่าวกลายได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างมาก หลังจากสืบสวนพบว่ามีเหตุลักษณะคล้ายกันเกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ในจังหวัดทางภาคกลาง ระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งสืบหาตามเบาะแสของคนร้าย กระทั่งมีการเปิดเผยรูปสเก็ตซ์ของคนร้ายเพื่อประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ แม้ว่าในที่สุดคดีดังกล่าวได้เลือนหายไปจากหน้าข่าวสังคม และยังคงจับกุมตัวผู้ก่อเหตุไม่ได้...
9. คดีซับซ้อน "พระธัมมชโย ณ ธรรมกาย"
ประเด็นเกี่ยวกับ "พระธัมมชโย" แห่งวัดธรรมกาย กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังมีการเปิดโปงข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารเช็คสหกรณ์ฯ คลองจั่น จำนวนหลายสิบฉบับ มูลค่าหลายร้อยล้านบาท ซึ่งพัวพันเกี่ยวกับคดียักยอกทรัพย์ นำมาสู่ความพยายามพิสูจน์ถึงกิจการภายในวัดพระธรรมกาย
คดีนี้ยังรวมถึงประเด็นการคืนทรัพย์สินและการปาราชิกของ พระธัมมชโย ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้หารือกับมหาเถรสมาคม ให้ยึดตามเอกสารตามมติมหาเถรสมาคมเมื่อปี พ.ศ. 2542 พระธัมมชโย ได้คืนทรัพย์สินและที่ดินกว่า 900 ล้านบาทให้กับวัดพระธรรมกาย ทำให้ยังสามารถเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายได้ต่อไป
10. คดีต้องลุ้น "บิ๊กแจ๊ด โดนจับพกปืนที่ญี่ปุ่น"
วันที่ 22 มิถุนายน 2558 มีกระแสข่าวระบุว่า "บิ๊กแจ๊ด พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง" อดีต ผบช.น. ถูกควบคุมตัวที่สนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น ตกเป็นผู้ต้องหาคดีพกพาอาวุธปืนเข้าประเทศ หลังพบอาวุธปืนสะสมของตัวเองติดไปอยู่กับกระเป๋าเดินทาง ทำให้ถูกกักขังที่ต่างแดน 2 ผลัด เป็นเวลา 23 วัน ท่ามกลางทีมกฎหมายที่เร่งช่วยเหลือและยืนยันความบริสุทธิ์
จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวและกลับมาเมืองไทยในที่สุด แม้คดีดังกล่าวจะปิดฉากลงไปเงียบๆ ท่ามกลางบทสรุปที่ปรากฏเป็นข่าวคล้ายๆ กัน แต่ก็เกิดเป็นคำถามในสังคมเกี่ยวกับระบบรักษาความปลอดภัยของสนามบินไทย เหตุใดอาวุธปืนที่เล็ดลอดจากการตรวจสอบ ก่อนออกจากประเทศไปได้..?