ผู้เชี่ยวชาญปลาน้ำจืด ชี้ "เจ้าบุญครึ่ง" มีชีวิตได้เพราะอวัยวะสำคัญยังอยู่
กรณีมีการนำเสนอข่าวเจ้าของร้านขายปลาสวยงามแห่งหนึ่งใน จ.ราชบุรี ได้นำ "เจ้าบุญครึ่ง" ซึ่งเป็นปลาสายพันธุ์ตะพากส้ม(อยู่ในสายพันธุ์ปลาตะเพียน) ซึ่งเป็นปลาแม่น้ำของไทย แต่เจ้าบุญครึ่งมีสภาพเพียงครึ่งตัว โดยส่วนลำตัวตั้งแต่กระโดงกลางหลังไปถึงหางขาดหายไป จากการที่กระโดดไปกระแทกขอบบ่ออย่างแรง จนกระดูกสันหลังหักส่งผลให้ช่วงครึ่งท่อนหางค่อยๆ หลุดออกแล้วลอยขึ้นมาเหลือเพียงครึ่งตัว แต่เจ้าบุญครึ่งสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในตู้ปลามาประมาณ 6 เดือนแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายชวลิต วิทยนนท์ ผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(เอ็มอาร์ซี) และผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาน้ำจืดในประเทศไทย อธิบายว่า สาเหตุที่เจ้าบุญครึ่งยังมีชีวิตอยู่ได้ เพราะระบบประสาทส่วนกลางกับหัวใจ และอวัยวะภายในยังอยู่ครบ เทียบเท่าคนที่สะโพกลงไปถูกตัด เหมือนกับปลาพิการตัวหนึ่ง อวัยวะบางชิ้นหายไป แต่อวัยวะที่ทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ยังคงมีอยู่ จึงทำให้มีชีวิตอยู่ได้ แต่ไม่สมบูรณ์แบบ เช่น ว่ายน้ำไม่ได้ เพราะไม่มีหาง อย่างไรก็ตามถ้าหางขาดขึ้นมามากกว่านี้อีกประมาณ 2 เซนติเมตร เชื่อว่าอาจจะไม่รอดเพราะจะกระทบกับอวัยวะสำคัญที่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้
"เจ้าบุญครึ่งถือว่าโชคดี ที่เป็นปลาเลี้ยง มีคนให้อาหารและดูแลอย่างดี มันจึงอยู่รอดได้ ถ้าเป็นปลาในธรรมชาติคงตายไปนานแล้ว" นายชวลิตกล่าว
เมื่อถามว่า ลักษณะแบบนี้ เจ้าบุญครึ่งจะเจ็บปวดและทรมานมากไหม นายชวลิตกล่าวว่า คงทรมานมากพอสมควร แต่ก็เห็นว่ามันยังมีความพยายามที่จะมีชีวิตอยู่ ถือเป็นปลานักสู้ ซึ่งถ้าเจ้าของดูแลดีๆ ก็คงอยู่ได้เท่ากับปลาตะเพียนตัวอื่นๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: อึ้ง!! "เจ้าบุญครึ่ง" ปลาครึ่งท่อนยังวายน้ำได้