เหรียญอีกด้านของการกระตุ้นการใช้จ่ายปลายปี 58
ต้องยอมรับว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี 58 โดยให้คนไทยสามารถนำรายจ่าย ซื้อสินค้าและบริการ ในประเทศที่จดทะเบียนมูลค่าเพิ่มในช่วงวันที่ 25 - 31 ธ.ค. นี้ มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ในวงเงินสูงสุด 15,000 บาท นั้น เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ยอดเยี่ยม
ไม่ผิดครับ เป็นกลยุทธ์ทางการตลาด ที่นำนโยบายการคลัง มาเป็นประเด็นนำ สิ่งที่รัฐบาลโดยแนวคิดของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่เป็นเซียนกลยุทธ์การตลาด มีความชำนาญยิ่ง
โดยหลักการที่กระทรวงการคลังแถลง ผลของมาตรการนี้ ชัดเจนว่า เป็นมาตรการทางการคลัง คือ การลดหย่อนภาษี ให้กับประชาชน ที่ใช้จ่ายตามระยะเวลาที่กำหนดในช่วงสั้นๆ โดยกระทรวงการคลังคาดว่าจะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยทำให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินหลายแสนล้าน หรือประมาณ 4.5 แสนล้านบาท
ซึ่งเม็ดเงินหมุนเวียนนี้ แน่นอนว่า จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจขยายตัวจาก 2.8 เป็น 3 %
สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนการให้ของขวัญประชาชนเพิ่มเติม จากที่ได้ร่วมมือกับเอกชนลดราคาสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ลงเช่นกัน
โดยลำพังการลดราคาสินค้าลงมา ไม่อาจกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยได้มากพอ ไม่อาจทำให้การจับจ่ายใช้สอยคึกคักขึ้นมาได้ เนื่องจาก ประชาชนยังมีความกังวลภาวะรายจ่ายในอนาคต อันเนื่องมาจากความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจในอนาคตหรือปีหน้าว่าจะเผชิญกับภาวะเช่นไร..
ดังนั้น มาตรการ ที่กระทรวงการคลังออกมา บอกว่า เชิญจับจ่ายกันเถิดเดี่ยวเอารายจ่ายเหล่านั้นมาหักภาษีได้ จึงเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่สำคัญที่ออกมาสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้จ่าย เป็นการสร้างแรงขับดันให้กับคนที่ไม่มั่นใจไม่แน่ใจ ระวังมัดระวังการใช้จ่ายได้ตรงจุดพอดิบพอดี
โดยปรกติ ในช่วงเทศกาลแบบนี้ ประชาชนก็มีการใช้จ่ายมากกว่าภาวะทั่วๆไปอยู่แล้วเพราะถือว่าทำงานมาทั้งปีขอให้รางวัลกับตัวเอง หรือ ครอบครัวบ้าง แต่ความกังวลใจนั้นเองที่เป็นตัวฉุดรั้ง อาจทำให้การใช้จ่ายที่แม้มากกว่าเดิมแต่ก็ไม่เต็มเหนี่ยว
การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้ลดหย่อนภาษีครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้คนใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้การจับจ่ายของคนในประเทศพุ่งขึ้นและเป็นการบู้ทเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยมีเป้าหมายในเรื่องการขยับตัวเลขจีดีพี เป็นเป้าหมายหลัก...
แต่อีกด้านหนึ่งก็คือ ...หลังจากผ่านเทศกาลปีใหม่แล้ว เป็นอย่างไร...? แรงขับดันที่กระตุ้นการใช้จ่าย จะส่งผลต่อเนื่องระยะยาวได้หรือไม่...? การลุงทุนของเอกชน และ ของรัฐบาล จะเข้ามาสอดรับทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้หรือไม่...?
โดยเฉพาะการลงทุนในประเทศ ยังจะมีการขยายตัวได้ต่อหรือไม่ ...เพราะนั้นหมายถึงเมื่อมีการลงทุนก็มีการจ้างงาน หมายถึงรายได้ หมายถึงความมั่นคงในรายได้ของผู้คนอีกด้วย
ทั้งนี้ในแง่ของภาคเกษตรต้องยอมรับว่า ในปีหน้า ภาคเกษตรอย่างข้าว และ ยางพารา ยังคงมีราคาตกต่ำตาม แนวโน้มราคาน้ำมัน ในตลาดโลก
ดังนั้น การสร้างรายได้ การเพิ่มรายได้ การจ้างงาน ในปีหน้า เป็นสิ่งสำคัญ เพราะ ช่วงปีใหม่นี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการมากระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเป็นการดึงเงินในมือของผู้มีรายได้ไป อัดฉีด เร่งตัวเลข จีดีพี ตามเป้าประสงค์แล้ว หากไม่สามารถสร้างรายได้ให้กลับคืนมาได้ในปีหน้า..ก็น่าเป็นห่วงยิ่งเช่นกัน..........
โดย...เปลวไฟน้อย