อย่าละเลย ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

อย่าละเลย ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

อย่าละเลย ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นเรื่องความโชคร้ายของเกษตรกรไทยโดยเฉพาะ ยางพารา ที่ต้องเผชิญปัญหาราคายางตกต่ำมานานนับปี ผ่านปี 2558 ไปแล้ว เข้าสู่ปีใหม่ 2559 สถานการณ์ราคายางพารายังไม่กระเตื้องขึ้น มิหนำซ้ำ สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก จนล่าสุด เกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ ได้ส่งเสียงร้องมายังรัฐบาลให้รีบช่วยเหลือ

เพราะราคายางพาราที่ดิ่งเหวลงไปเหลือ 4 กิโลร้อยบาท เป็นราคาที่ชาวสวนยางไม่อาจแบกรับได้ต่อไปอีก โดยล่าสุด ชาวสวนยางขอให้ นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจพิเศษตาม ม. 44 ให้เข้ามาชดเชยราคายางพาราให้อยู่ที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท เพื่อให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้

ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ที่เกิดขึ้นมาในปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ใช่ไม่รู้ปัญหา เพราะจากสถานการณ์โลก ที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกตกต่ำมาโดยตลอดทั้งปีในปีที่ผ่านมา และ แนวโน้มจากการคาดการณ์ก็จะยังคงอยู่ในระดับต่ำไปอีกในปี 2559 นี้

ปัจจัยพื้นฐานนี้ ทำให้ผู้ผลิตสินค้าหันไปใช้ยางเทียมที่มาจากกระบวนการสังเคราะห์จากการผลิตปิโตเลียม ซึ่ง มีราคาถูกมาก เป็นตัวกดดันให้ไม่มีการใช้ยางธรรมชาติหรือยางพารา ทำให้ราคาตกต่ำไป

เหตุผลเหล่านี้เป็นเรื่องที่อธิบายได้ทุกคนเข้าใจ แต่ด้วยข้อเท็จจริงของเกษตรกร ที่มีต้นทุนการปลูกยาง ที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาผลผลิต แม้ก่อนหน้ารัฐบาลจะใช้มาตรการในการช่วยเหลือด้วยการช่วยเหลือปัจจัยด้านการผลิตไร่ละ 1,500 บาท โดยแบ่งเป็นค่าสนับสนุนวัสดุการเกษตร 700 บาทต่อไร่, เพิ่มคุณภาพการผลิต 200 บาทต่อไร่ และช่วยค่าครองชีพคนกรีดยาง 600 บาทต่อไร่ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า เกษตรกรยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง

วันนี้ เกษตรกรชาวสวนยางไม่เฉพาะที่ภาคใต้ ชาวสวนยางที่ภาคตะวันออก และภาคอีสานอีกจำนวนมาก ต่างได้รับผลกระทบได้รับความเดือดร้อนจากราคาตกต่ำมาก

ถึงเวลาที่รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาดูแล และเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงทีและตรงจุด อย่าปล่อยให้มีการนำเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรไปขยายผลในทางการเมือง

รัฐบาลต้องแสดงให้ผู้ที่มีอำนาจ ที่ได้รับความน่าเชื่อถือเข้ามาหารือกับเกษตรกรอย่างเร่งด่วน ร่วมกันหาทางออกเท่าที่เป็นไปได้ให้มากที่สุด อย่าปล่อยให้เขาร้องโดยไม่มีการเหลียวแล เพราะก่อนหน้า รัฐบาลใช้นโยบายหลายอย่างเอาใจให้ประโยชน์คนที่มีรายได้ หรือมนุษย์เงินเดือดไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการช็อปช่วยชาติ การหาทางลดภาษีให้คนมีรายได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ฯลฯ

รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในเรื่องราคาด้วย ในเมื่อมาตรการที่ออกมาไม่เพียงพอก็จำเป็นต้องทบทวนหรือจะเพิ่มเติมมาตรการให้เหมาะสม อย่าให้เกษตรกรเกิดข้อเปรียบเทียบเกิดความน้อยอกน้อยใจกับเรื่องการช่วยเหลือเรื่องปากท้อง

เพราะสำหรับชาวสวนจำนวนมากแล้ว นี้เป็นเรื่องสำคัญของครอบครัว หากขายยางไม่ได้ราคา หมายถึงลูก เมียได้รับผลกระทบทั้งหมด..สิ่งเหล่านี้จะยิ่งส่งผลต่อปัญหาขยายเพิ่มเติมลุกลามต่อไปข้างหน้าได้ ไม่ว่าปัญหาสังคม หรือ อาจลามเป็นปัญหาการเมืองได้ในอนาคต....

เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook