หมอหวั่นรัฐรับภาระอ่วม คนตกงานแห่ใช้บัตรทองแทนประกันสังคม
เศรษฐกิจทรุด หวั่นรพ.รัฐรับภาระไม่ไหว ลูกจ้างตกงานแห่เปลี่ยนใช้สิทธิบัตรแทนประกันสังคม โรงพยาบาลเอกชนช้ำไม่ต่างกัน หลังกลุ่มนายทุนตะวันออกกลางหาย ทีดีอาร์ไอแนะรบ.เอาเงินเมกะโปรเจ็คต์ เพิ่มค่ารักษาพยาบาลรายหัวดีกว่า
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับสถาบันอิศรา จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 15 หัวข้อ "วิกฤตเศรษฐกิจ : ผลกระทบต่อระบบสุขภาพคนไทย"
รศ.นพ.ปิยะ เนตรวิเชียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบไปทุกระบบ ไม่เว้นแต่ระบบสุขภาพ แต่ที่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ คือ สถานพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนระดับเกรดเอ เนื่องจากที่ผ่านมาโรงพยาบาลเหล่านี้จะเน้นความเป็นเมดิคัล ฮับ มุ่งตลาดลูกค้าต่างชาติสูงถึงร้อยละ 70-80 โรงพยาบาลบางแห่งมีลูกค้าต่างชาติสูงถึง 7-8 แสนราย สร้างรายได้ประมาณ 3-4 แสนบาทต่อการรักษาต่อราย แต่จากวิกฤตเศรษฐกิจจะส่งผลให้ลูกค้ากลุ่มนี้หายไปมากกว่าร้อยละ 50
"ลูกค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มาท่องเที่ยวและถือโอกาสมาตรวจสุขภาพไปในตัว รายได้หลักของโรงพยาบาลจึงอยู่ที่การตรวจสุขภาพ ไม่ใช่การตรวจรักษา ต้นทุนการตรวจสุขภาพน้อยมาก แทบไม่ต้องมีอะไรเพิ่มเติม ไม่เหมือนการรักษาผู้ป่วยที่ต้องบวกค่าแพทย์ค่าพยาบาลมากมายมหาศาล แต่เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจทรุด รายได้ส่วนนี้หายไปมาก ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งต้องยุบบางแผนกไป แต่เชื่อว่าไม่ถึงกับต้องยุบโรงพยาบาล เพราะแต่ละแห่งก็มีมาตรการในการแก้ไขอยู่แล้ว" รศ.นพ.ปิยะกล่าว
รศ.นพ.ปิยะ กล่าวอีกว่า แม้ว่าโรงพยาบาลเกรดเอได้รับผลกระทบโดยตรง แต่โรงพยาบาลระดับเกรดบีและซีไม่เดือดร้อนมาก เพราะเน้นตลาดคนไทย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่โรงพยาบาลเกรดเอต้องกังวล คือ อัตราการเข้ารับบริการของลูกค้าต่างชาติจะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มตะวันออกกลาง ซึ่งมี 6 ประเทศ ได้แก่ ดูไบ บาห์เรน กาตาร์ โอมาน คูเวต และซาอุดีอาระเบีย เพราะประเทศเหล่านี้ เมื่อราคาน้ำมันลดลง การจะส่งคนเข้ามารักษาที่ประเทศไทยก็ลดลงด้วย ส่วนใหญ่จะส่งไปที่ประเทศอินเดีย เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าของไทยมาก ยกตัวอย่าง ดูไบมีการคาดการณ์ว่าอีก 10 ปีจากนี้น้ำมันจะหมด การส่งคนไข้ระดับล่างของประเทศก็จะมุ่งเน้นไปที่ประเทศที่ใช้ค่าใช้จ่ายถูก เบื้องต้นคือประเทศอินเดีย ไม่ใช่ประเทศไทย
รศ.นพ.ปิยะ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาการโยกย้ายของคนไข้ จากคนไข้เกรดเอที่เริ่มทยอยลงในระดับเกรดบี ขณะเดียวกันระดับเกรดบีก็เลื่อนลงมาเป็นระดับเกรดซี จากที่ไม่เคยใช้ประกันสังคมก็ใช้มากขึ้น เห็นได้จากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สถิติของผู้ป่วยนอกที่เข้ารับการรักษาโดยใช้สิทธิประกันสังคม พบว่ามีประมาณ 120 ล้านครั้งต่อคนต่อปี แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 170 ล้านครั้งต่อคนต่อปี
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า น่าสังเกตว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2551 มีการขอเปลี่ยนจากสิทธิการใช้บัตรทองเป็นประกันสังคมลดลงถึงเดือนละ 10,000 คน จากที่ผ่านมามีผู้ที่มีสิทธิบัตรทองมาใช้สิทธิประมาณร้อยละ 70 นอกนั้นไปใช้คลีนิคเอกชน แต่ปัจจุบันคนจะหันมาใช้สิทธิบัตรทองมากขึ้น เพราะเริ่มไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ทำให้โรงพยาบาลมีภาระค่าใช้จ่ายจากการรักษามากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพตกคนละ 2,200 บาทต่อหัวต่อปี ซึ่งครอบคลุม 47 ล้านคน แต่จากการประมาณการตัวเลขผู้ตกงานที่ย้ายจากประกันสังคมมาใช้บัตรทองอาจจะเพิ่มอีก 1 ล้านคน สปสช.ก็มีสิทธิที่จะของบฯค่าหัวเพิ่มจากรัฐบาล
"แต่สิ่งที่ต้องกังวลคือ โรงพยาบาลจะรับภาระไม่ไหว เพราะ 47 ล้านคนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ใช้สิทธิรักษาในโรงพยาบาลรัฐบาลสูงถึง 44 ล้านคน หรือร้อยละ 90 มีเพียง 2-3 ล้านคนที่หันไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน หากมีผู้ใช้สิทธิเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านคน เกรงว่าโรงพยาบาลรัฐบาลจะแบกรักภาระไม่ไหว" นพ.วินัยกล่าว
นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า นโยบายการขยายสิทธิประกันสังคมไปยังภรรยาและบุตรของผู้ประกันตนยังอยู่ระหว่างการเตรียมการศึกษาข้อมูล คาดว่าจะใช้เวลา 2 เดือนจึงจะมีข้อมูลเพียงพอว่าการขยายสิทธิดังกล่าวคุ้มค่าหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สปส.มีผู้ประกันตนราว 9 ล้านคน หากพิจารณาจำนวนของภรรยาและบุตรที่จะเพิ่มขึ้น ไม่น่าเกิน 9 ล้านคนเช่นกัน แต่เบื้องต้นต้องแก้กฎหมายที่ปัจจุบันคุ้มครองเฉพาะผู้ประกันตน ให้คุ้มครองภรรยาและบุตรด้วย
นายวิโรจน์ ณ ระนอง นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า วิกฤตเศรษกิจที่เกิดขึ้นจะไม่จบง่ายๆ โดยคาดว่าโรงพยาบาลจะได้รับผลกระทบจากนี้ไปอีกประมาณ 6 เดือน หรือประมาณกลางปี 2552 นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจยังส่งผลให้คนไข้หันมาใช้บริการของภาครัฐมากขึ้น และเชื่อว่า สปสช.จะมีการของบฯเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลสมควรพิจารณาอย่างมาก เพราะเมื่อมีการเพิ่มงบประมาณ คนก็จะมาใช้บริการเพิ่มขึ้น ดังนั้น แทนที่รัฐจะมุ่งโครงการเมกะโปรเจ็คต์ ควรนำเงินมาเพิ่มค่าหัวในการรักษาพยาบาลจะดีกว่า แต่โรงพยาบาลที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือโรงพยาบาลของรัฐที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ที่คนจะหันมาใช้บริการเพิ่มขึ้น ส่วนโรงพยาบาลชุมชนจะไม่กระทบนัก เพราะคนในชุมชนก็จะยังคงใช้กันอยู่