สธ.ประกาศ! พบผู้ป่วยโรคเมอร์สรายที่ 2 ในไทยซ้ำ

สธ.ประกาศ! พบผู้ป่วยโรคเมอร์สรายที่ 2 ในไทยซ้ำ

สธ.ประกาศ! พบผู้ป่วยโรคเมอร์สรายที่ 2 ในไทยซ้ำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สธ.ประกาศพบผู้ป่วยโรคเมอร์สรายที่ 2 ในไทยซ้ำ เป็นชายชาวโอมานอายุ 71 ปีเข้ามาเหมือนนักท่องเที่ยว แต่มุ่งมารักษาที่ไทย ด้านรพ.บำรุงราษฎร์ ประสานสถาบันบำราศนราดูร เข้าห้องแยกโรคเฝ้าระวังการแพร่เชื้อแล้ว พร้อมติดตามผู้สัมผัสโรค 37 คน เป็นคนไทย 13 คน ด้านโซเฟอร์แท็กซี่รับส่งยังตามตัวไม่ได้

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 24 มกราคม ที่กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วยศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผอ.สำนักโรคติดต่อทั่วไป นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผอ.สำนักโรคระบาด พญ.จริยา แสงสัจจา ผอ.สถาบันบำราศนราดูร นพ.ธนากฤต จินตวร รองผอ.ด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ร่วมกันแถลงข่าว "ตรวจพบผู้ป่วยเข้าข่ายโรคเมอร์ส หรือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางในประเทศไทยรายที่ 2"

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นชายชาวโอมาน อายุ 71 ปี ได้เดินทางมาพร้อมกับลูกชายจำนวน 1 คน เข้ามาประเทศไทยวันที่ 22 มกราคม 2559 เมื่อมาถึงสนามบินไม่พบอาการไข้ ทำให้การตรวจสอบจากเครื่องเทอร์โมสแกนค่อนข้างลำบาก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยได้นั่งแท็กซี่เพื่อจะไปเช็คอินที่โรงแรมเพื่อเก็บสัมภาระ แต่ไม่ทันเข้าพัก เพราะเดินทางไปโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เพื่อรักษาตัวก่อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบพบว่า ผู้ป่วยรายนี้มีอาการเบาหวานร่วมด้วย และก่อนหน้าที่ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในประเทศโอมานแล้ว 1 สัปดาห์ แต่ไม่รอผลการตรวจว่าเป็นอย่างไร จึงออกเดินทางมายังประเทศไทยทันที เนื่องจากเชื่อมั่นในมาตรฐานการรักษาโรคของประเทศไทย โดยไม่ได้แจ้งประสานงานผ่านระบบส่งต่อระหว่างประเทศแต่อย่างใด

ซึ่งระหว่างเดินทางก็ไม่ได้แจ้งสายการบิน ให้ทราบก่อน เมื่อมาถึงไทยวันที่ 22 มกราคม จึงเข้ารักษาตัวโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ช่วงเวลา 01.30 น. วันที่ 23 มกราคม ทางโรงพยาบาลดังกล่าวได้นำตัวเข้าสู่ห้องแยกโรค และทำการตรวจเลือดครั้งแรกให้ผลเป็นลบ แต่ไม่นิ่งนอนใจจึงได้แจ้งมาที่กรมควบคุมโรค และตรวจซ้ำอีกครั้งพบผลเป็นบวก

ทางสถาบันบำราศนราดูร จึงได้รับตัวมาไว้ที่ห้องแยกโรคของสถาบันบำราศนราดูรเวลา 18.00 น. วันที่ 23 มกราคม อาการล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันที่ 24 มกราคม อาการทรงตัว มีภาวะปอดติดเชื้อต้องใช้เครื่งช่วยหายใจ สามารถรับประทานอาหารได้ และพูดคุยได้ แต่ยังต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

"เมื่อพบเชื้อทางสถาบันบำราศนราดูร ได้ติดต่อและประสานรับตัวมาอยู่ที่สถาบันฯ โดยสรุปผู้ป่วยรายนี้เป็นชายอายุ 71 ปี มีโรคเบาหวานร่วมด้วย ขณะนี้พักรักษาตัวที่ห้องแยกโรคสถาบันบำราศนราดูรแล้ว โดยช่วงเช้าที่ผ่านมาสามารถพูดคุยได้ รับประทานอาหารเองได้ แต่ยังจำเป็นต้องให้ออกซิเจน เพราะมีการอักเสบของปอด อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องกังวล มั่นใจว่า ผู้ป่วยเมอร์สรายที่ 2 ของไทยครั้งนี้จะไม่มีการแพร่เชื้อไปยังชุมชน เพราะเราสามารถควบคุมได้แล้ว" นพ.ปิยะสกล กล่าว

รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยรายอื่นๆ นั้น ทางการแพทย์จำเป็นต้องติดตาม เพื่อเฝ้าระวังด้วย โดยระยะในการเฝ้าระวังจะอยู่ที่ 14 วันหลังจากสัมผัสผู้ป่วย หากพ้นระยะติดต่อโรคก็ถือว่าปลอดภัย ทั้งนี้ สำหรับผู้สัมผัสโรคที่มีความเสี่ยงสูงมีจำนวน 37 คน โดยเป็นคนไทยประมาณ 13 คน เป็นเจ้าหน้าที่โรงแรม 1 คน คนขับแท็กซี่ 1 คน และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 11 คน

อย่างไรก็ตาม รวมถึงลูกชายของผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงแล้ว และได้ให้อยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร เพื่อติดตามอาการแล้วเช่นกัน โดยส่วนใหญ่ผู้สัมผัสโรคจะเป็นผู้โดยสารเครื่องบิน นับจากผู้ป่วยนั่งแถวหน้าและแถวหลังไป 2 แถว มีจำนวน 23 คน แต่ถือว่าโชคดีที่ผู้ป่วยนั่งริมหน้าต่าง โอกาสแพร่เชื้อจึงแคบลง ส่วนผู้โดยสาร และเจ้าหน้าที่บนเครื่องบิน ที่เสี่ยงไม่สูง ไม่ต้องกักตัวไว้

ผู้สื่อข่าวถามว่าผู้ป่วยทราบก่อนหรือไม่ว่าป่วยด้วยโรคเมอร์ส นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ผู้ป่วยทราบ แต่ไม่ได้แจ้งอะไรกับกัปตันหรือลูกเรือเลย แต่เดินทางเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป โดยต้องการมารักษาที่ไทย แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังคงน่าห่วง สิ่งสำคัญ ไทยจากที่มีระบบเข้มงวดเฝ้าระวังโรคอยู่แล้ว ก็ต้องยิ่งเฝ้าระวังมากขึ้นอีก

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดสธ. กล่าวว่า ไทยมีบทเรียนจากครั้งที่แล้ว ซึ่งครั้งนี้เราตรวจจับรวดเร็ว และผู้สัมผัสโรคลดลง และขอให้อย่าตื่นตระหนก การแถลงเพื่อให้รับทราบว่าควบคุมได้ ซึ่งเชื้อไม่สามารถออกมาในชุมชนได้ ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดทุกคน ไม่ได้แพร่โรค และไม่ใช่ผู้ป่วย จึงขอให้อย่าตื่นตระหนกมาก

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่า ครั้งนี้เบาใจกว่าคราวที่แล้ว คราวที่แล้วเป็นรายแรกยังไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ครั้งนี้ตรวจจับได้ทันที และทราบโรคเป็นอย่างดี ทำให้ทราบว่ามีใครสัมผัสกับคนไข้คนนี้ได้บ้าง ซึ่งก็จะช่วยให้เราควบคุมโรคได้เร็ว ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องกลัว แต่คอยตามข่าวว่า กระทรวงฯได้ดำเนินการไปอย่างไร เพื่อปฏิบัติตัวได้ถูกต้องก็เพียงพอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนารายแรกของไทย เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 เป็นชายชาวโอมานอายุ 75 ปี ซึ่งเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว เกิดการติดเชื้อก่อนเดินทางเข้ามาประเทศไทยพร้อมครอบครัว เพื่อพักผ่อน เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าแล้ว ทำให้ต้องอยู่ในห้องแยกโรคความดันเป็นลบ สถาบันบำราศนราดูร กระทรวงสาธารณสุข จนร่างกายปลอดเชื้อ

เช่นเดียวกับญาติซึ่งต้องเข้าห้องแยกโรคเช่นเดียวกัน ส่วนผู้มีความเสี่ยงสัมผัสโรค อาทิ ผู้ร่วมเดินทางบนเที่ยวบินเดียวกันกับผู้ป่วย เจ้าหน้าที่โรงแรมที่ผู้ป่วยไปพัก คนขับรถแท็กซี่ที่รับผู้ป่วยขึ้นโดยสารก็ต้องเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังจนพ้นระยะของโรค กระทั่งเมื่อวันที่ กระทระทรวงสาธารณสุขจึงได้ประกาศว่านั้นประเทศไทยพื้นที่ปลอดผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook