พลิกปูม!อดีตอาจารย์สาวหนีทุน ทิ้งหนี้ให้ผู้ค้ำประกันใช้แทน
แรงไม่หยุด! กับกรณีอดีตอาจารย์สาวหนีทุน ที่เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมขณะนี้ จนชาวเน็ตตามขุดคุ้ยประวัติของทันตแพทย์หญิงระดับด็อกเตอร์ที่ไม่กลับมาทำงานใช้ทุนตามสัญญา จนผู้ค้ำประกันต้องชดใช้เงินแทน
ไล่เรียงเหตุการณ์ เริ่มจากที่ ทพ.เผด็จ พูลวิทยกิจ ทันตแพทย์ที่คลินิกแห่งหนึ่งในจ.สระบุรี เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีที่ได้ชดใช้เงินค้ำประกันราว 2 ล้านบาท แทนทันตแพทย์หญิงรายหนึ่ง ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์คณะทันตแพทย์ ม.มหิดล ซึ่งขอทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อปริญญาโทและปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วไม่กลับมาทำงานใช้ทุนตามสัญญาว่า
"สิ้นสุดสักทีกับกรรมเก่า ผมได้ชดใช้ให้แล้ว รวมยอดกับที่ต้องชำระให้อีกร่วมล้าน กับการค้ำประกัน นางสาวxxx อดีตอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทย์ ม.มหิดล ผู้ซึ่งรับทุนศึกษาต่อที่อเมริกา โดยมีผมซึ่งเข้ามาเรียนที่มหิดลในฐานะคนรู้จัก แต่ด้วยความที่เห็นแก่คณะและวิชาชีพจึงยอมค้ำประกันร่วมกับ อาจารย์และเพื่อนร่วมงานและเพื่อนอีกคนของ นางสาวxxx หวังว่าเค้าจะกลับมาทำประโยชน์แก่ส่วนรวม
แต่สิ่งที่ผมและทุกคนได้รับคือบอกว่าไม่มีเงิน ทั้งๆที่เค้าทำงานเป็นนักวิจัยที่ ม.xxx รับเงินเดือนสูง อยู่อพาร์ทเม้นท์หรูหราในอเมริกา
เค้าทำได้แม้อาจารย์ผู้สั่งสอนและสนับสนุนให้เค้าได้เรียน ผู้ร่วมงาน เพื่อน อย่างไม่ละอายแก่ใจ พ่อของเค้าและญาติพี่น้องก็ไม่สนใจ เค้าเคยโทรหาผมแค่ครั้งเดียวว่าจะไม่ทำให้ผมเดือดร้อน ผมยังต้องส่งเสียลูกอีก 4 คน แต่ผมต้องนำเงินมาชำระแทนเค้า เลยขอให้เรื่องนี้เตือนสติแก่ผู้ที่จะค้ำประกันใคร การศึกษาและชาติตระกูลไม่ได้ช่วยอะไร
เค้าวางแผนล่วงหน้าแล้วให้พ่อเค้ารับผิดชอบน้อยที่สุดและมาชดใช้ให้หมดแต่ไม่ยอมชดใช้ให้คนอื่น ช่วยแชร์กันนะครับ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ และผู้ที่จะทำธุรกรรมกับคนในครอบครัวนี้หรือบุคคลอื่น แม้ท่านจะปรารถนาดีก็ตาม"
ไม่นานนักข้อความของทพ.เผด็จก็ถูกแชร์ออกไปอย่างรวดเร็วในโลกโซเชียล
เรื่องดังกล่าวนี้เกิดขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2536 โดยทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้เสนอชื่ออาจารย์หญิงคนดังกล่าวขอทุนจากรัฐบาล แต่เนื่อจากอาจารย์หญิงคนนี้เพิ่งเรียนจบและทำงานได้เพียง 1 ปี จึงต้องมีผู้คำประกันให้ โดยปรากฏชื่อผู้ค้ำประกัน 4 ราย
อาจารย์หญิงรายนี้ใช้เวลาเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 10 ปี โดยใช้ทุนประมาณ 10 ล้านบาท
ทั้งนี้ ทุนการศึกษาของรัฐบาลนั้นจะมีเงื่อนไขในสัญญาที่แตกต่างกันไป แต่โดยปกติจะมีการชดใช้ 2 รูปแบบ คือ เวลากับเงิน การชดใช้ด้วยเวลา คือต้องกลับมาทำงานชดใช้เป็นเวลา 1 หรือ 2 เท่า จากที่ใช้เวลาเรียนไป และหากไม่กลับมาทำงานก็ต้องชดใช้เป็นเงิน ในกรณีนี้มีเงื่อนไขว่ากรณีไม่ทำงานใช้ทุนจะต้องจ่ายเงินคืน 3 เท่าจากทุนที่ได้รับ
ต่อมาพ.ศ.2547 อาจารย์หญิงแจ้งกลับมาทางมหาวิทยาลัยต้นสังกัดว่า ปฏิเสธการกลับมาทำงานและใช้ทุนคืน ซึ่งจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้เงินคืน เป็นจำนวน 3 เท่าของ 10 ล้านบาท นั่นหมายถึง 30 ล้านบาท ทางมหาวิทยาลัยจึงติดต่อไปยังผู้ค้ำประกันทั้ง 4 รายเพื่อชดใช้เงินแทน คือ ทพ.เผด็จ-อาจารย์ของทันตแพทย์หญิง-เพื่อนร่วมงานของทันตแพทย์หญิง-เพื่อนของทันตแพทย์หญิง
ภายหลังผู้ค้ำประกันได้มาเจรจาต่อศาลเพื่อขอลดหย่อนชดใช้ตามจำนวนทุนที่ได้รับ 10 ล้านบาท และทยอยชดใช้เงินจนหมด ก่อนที่ทพ.เผด็จจะโพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่เรื่องราวจนเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง
ทพ.เผด็จ ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กอีกว่า "ขณะนี้ได้ตั้งทนาย พร้อมส่งจดหมายแจ้งเรื่องดังกล่าวไปถึงอาจารย์ที่เป็นคู่กรณีและมหาวิทยาลัยxxx ปรากฏว่าอาจารย์คนดังกล่าวได้ตั้งทนายสู้คดี ทั้งยังข่มขู่ทนายของตนด้วย ส่วนทางด้านมหาวิทยาลัยxxx มีจดหมายตอบกลับมาว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องส่วนตัว จึงไม่สามารถเข้ามาช่วยจัดการได้"
และให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังว่า
"อาจารย์หญิงคนดังกล่าวแจ้งความจำนงว่าจะไม่กลับมา และขอลาออกจากการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล โดยปัจจุบันเธอเป็นหมอฟัน และเป็นนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศอเมริกา และเท่าที่ทราบมาพบว่า อาจารย์หญิงคนนี้มีชีวิตที่ดีอยู่ในอพาร์ตเมนต์ที่หรูหรา ซึ่งผู้ค้ำประกันทุกคนต่างเดือดร้อนถึงขนาดต้องนำบ้านไปจำนองและยื่นกู้เพื่อนำเงินมาใช้ในส่วนนี้ ขณะที่ตนก็ทำเรื่องยื่นกู้เช่นกัน โดยจ่ายเงินจำนวน 2 ล้านบาทไปให้ทางมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว"
หลังจากที่ ทพ.เผด็จ ติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยที่ทันตแพทย์หญิงทำงานอยู่ปรากฎว่า ทางมหาวิทยาลัยตอบกลับมาว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ทางมหาวิทยาลัยไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้
กรณีนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในโลกออนไลน์ โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กบางรายไปตามขุดประวัติ ที่อยู่ สถานที่ทำงาน ภาพบ้านหรูในสหรัฐอเมริกาของทันตแพทย์หญิงคนดังกล่าว
ผู้ใช้เฟซบุ๊กตามไปคอมเม้นท์ต่อว่าในแฟนเพจหน้าหนึ่งซึ่งปรากฏชื่อและภาพของอดีตอาจารย์สาว
ภายหลังจากมีกระแสกดดัน ทันตแพทย์หญิงได้ติดต่อกลับมา โดยทพ.เผด็จ เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กไว้ว่า
"ขอบคุณทุกท่านครับ กระแส Social ทำให้นางตอบมาแล้วครับ บอกยืนยันคำเดิม จนจัง ให้จ่ายไปก่อนนะ จริงๆ ก็จ่ายไปแล้ว และนางไม่มีสำนึกที่จะขอโทษที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนเลย คงยากที่sheจะคิดได้ ขนาด Social แรงแล้วนะ"
แน่นอน กรณีของอดีตอาจารย์สาวรายนี้ไม่ใช่รายแรกและรายสุดท้าย ยังมีผู้ขอทุนอีกหลายรายที่ไม่ได้กลับมาชดใช้ทุนตามสัญญา ซึ่งแต่ละรายก็ต้องดำเนินการตามข้อกฎหมาย นับเป็นกรณีตัวอย่างที่เตือนใจถึงผู้สนใจศึกษาต่อต่างประเทศว่าในการขอทุนแต่ละทุนนั้นต้องศึกษาเงื่อนไขข้อผูกมัดให้ดีก่อนตัดสินใจ
เพราะหากทำผิดสัญญาแล้วอาจทำให้เดือดร้อนถึงบุคคลอื่นดังเช่นในกรณีนี้