อธิการมหิดลผิดหวังฮาร์วาร์ด ปัดเคลียร์ทพ.หญิง คนค้ำเดือดร้อน หวั่นกระทบรุ่นต่อไป
นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.)
อธิการบดีมหิดลเผยทันตแพทย์สาวเบี้ยวหนี้ทุนไปทำงานกับฮาร์วาร์ด แต่มหาวิทยาลัยดังปัดช่วยตาม ชี้เป็นเรื่องส่วนตัว ชาวเน็ตโพสต์กระหึ่ม ไม่ชดใช้ตามสัญญา คนค้ำโอดต้องรับหนี้แทน
เมื่อวันที่ 31 มกราคม จากกรณีอดีตอาจารย์สาวหนีทุนหลังจากไปศึกษาต่อต่างประเทศ แล้วไม่กลับมาทำงานชดใช้ทุนตามสัญญา จนผู้ค้ำประกันต้องชดใช้เงินแทน
เหตุการณ์เริ่มจาก ทพ.เผด็จ พูลวิทยกิจ ทันตแพทย์ที่คลินิกแห่งหนึ่งใน จ.สระบุรี เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีที่ได้ชดใช้เงินค้ำประกันราว 2 ล้านบาท แทนทันตแพทย์หญิงรายหนึ่ง เป็นอดีตอาจารย์คณะทันตแพทย์ ม.มหิดล ขอทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อปริญญาโทและปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วไม่กลับมาทำงานใช้ทุนตามสัญญา จนเรื่องราวถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็วในโลกโซเชียล
กรณีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2536 โดยทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้เสนอชื่ออาจารย์หญิงคนดังกล่าวขอทุนจากรัฐบาล แต่เนื่องจากอาจารย์หญิงคนนี้เพิ่งเรียนจบและทำงานได้เพียง 1 ปี จึงต้องมีผู้คำประกันให้ โดยปรากฏชื่อผู้ค้ำประกัน 4 ราย อาจารย์หญิงรายนี้ใช้เวลาเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 10 ปี ใช้ทุนประมาณ 10 ล้านบาท
ต่อมา พ.ศ.2547 อาจารย์หญิงแจ้งกลับมาทางมหาวิทยาลัยต้นสังกัดว่า ปฏิเสธการกลับมาทำงานและใช้ทุนคืน จำนวนเงินจะต้องชดใช้เงินคืน เป็นจำนวน 3 เท่าของ 10 ล้านบาท นั่นหมายถึง 30 ล้านบาททางมหาวิทยาลัยจึงติดต่อไปยังผู้ค้ำประกันทั้ง 4 รายเพื่อชดใช้เงินแทน คือ ทพ.เผด็จ อาจารย์ของทันตแพทย์หญิง เพื่อนร่วมงานของทันตแพทย์หญิง เพื่อนของทันตแพทย์หญิง
ภายหลังผู้ค้ำประกันได้มาเจรจาต่อศาลเพื่อขอลดหย่อนชดใช้ตามจำนวนทุนที่ได้รับ 10 ล้านบาท และทยอยชดใช้เงินจนหมด ก่อน ทพ.เผด็จจะโพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่เรื่องราวจนเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง
ทพ.เผด็จ เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า ได้ส่งจดหมายถึงคู่กรณีและมหาวิทยาลัยที่ทำงานของทันตแพทย์หญิง ปรากฏว่าคู่กรณีได้ตั้งทนายสู้คดี และทางมหาวิทยาลัยตอบกลับมาว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ทางมหาวิทยาลัยไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้
"ปัจจุบันเธอเป็นหมอฟัน และเป็นนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศอเมริกา และเท่าที่ทราบมาพบว่า อาจารย์หญิงคนนี้มีชีวิตที่ดีอยู่ในอพาร์ตเมนต์หรูหรา ผู้ค้ำประกันทุกคนต่างเดือดร้อนถึงขนาดต้องนำบ้านไปจำนองและยื่นกู้เพื่อนำเงินมาใช้ในส่วนนี้ ขณะที่ตนก็ทำเรื่องยื่นกู้เช่นกัน โดยจ่ายเงินจำนวน 2 ล้านบาท ไปให้ทางมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว" ทพ.เผด็จกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในโลกออนไลน์ โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กบางรายไปตามขุดประวัติ ที่อยู่ สถานที่ทำงาน และภาพบ้านหรูในสหรัฐอเมริกาของทันตแพทย์หญิงคนดังกล่าว
นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) กล่าวถึงกรณีโลกออนไลน์ได้เปิดเผยข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ "ทพ.เผด็จ หมอทอม" ขอความเป็นธรรมจากสังคมกรณีต้องรับผิดชอบชดใช้หนี้แทน อดีตอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทย์ มม. ที่ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่อเมริกา แต่ไม่ยอมกลับมาใช้ทุนคืนรัฐบาลตามสัญญา ทำให้ ทพ.เผด็จ อาจารย์ และเพื่อนที่ร่วมค้ำประกันต้องใช้เงินคืนในฐานะผู้ค้ำประกัน รวมแล้วกว่า 10 ล้านบาท โดยอ้างว่าไม่มีเงิน
ทั้งที่ปัจุบันอดีตอาจารย์คนดังกล่าวทำงานเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ว่า กรณีของอดีตอาจารย์คนดังกล่าวรับทุนของรัฐบาล ไม่ใช่ทุนมหาวิทยาลัย แต่มหาวิทยาลัยเป็นตัวกลางในการประสานและเสนอชื่อผู้ค้ำประกัน ให้ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ตามหลักเกณฑ์ ในฐานะต้นสังกัดก็ต้องดำเนินการเพื่อส่งสริมให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง
ขณะที่ มม.เองที่ผ่านมาให้ทุนอาจารย์ไปเรียนต่อต่างประเทศปีหนึ่งเกือบร้อยทุน เฉพาะทุนด้านสาธารณสุขในกลุ่มแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล ฯลฯ ประมาณ 50-60 ทุน และมีบ้างที่ไม่ยอมกลับมาทำงานตามกำหนด และเลือกจะใช้ทุนคืนเป็นเงิน แต่ไม่เคยมีกรณีไม่ใช้เงินคืน มีเพียงรายนี้ที่หนีไป ไม่ใช้หนี้และไม่กลับมา การที่รัฐบาลหรือมหาวิทยาลัยกำหนดเงื่อนไขให้ใช้ทุนคืน 3 เท่า เพราะอยากให้คนเหล่านี้กลับทำงานเพื่อประเทศชาติ ไม่ได้อยากได้เงินคืน
"คนที่เบี้ยวไม่ยอมใช้ทุนคืนคนนี้ถือว่าแย่ ทั้งที่ทำงานที่ ม.ฮาร์วาร์ด ได้รับเงินค่าตอบแทนจำนวนมาก แต่ไม่ยอมใช้หนี้ ทำให้คนค้ำเดือดร้อน เพราะรัฐบาลก็ต้องไปไล่บี้เอากันคนค้ำประกัน มม.เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามประสานไปยัง ม.ฮาร์วาร์ด แต่คำตอบที่ได้รับจาก ม.ฮาร์วาร์ดคือเป็นเรื่องส่วนตัวที่ต้องประสานไปยังเจ้าตัว ผมเองก็รู้สึกไม่ดีกับ ม.ฮาร์วาร์ดที่ตอบแบบนั้นและไม่แสดงท่าทีอะไรกับเราเลย
ทั้งที่การรับคนเป็นอาจารย์ควรจะดูเรื่องความมีคุณธรรมประกอบด้วย แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เรื่องนี้ทำเสียชื่อไปหมด ทั้ง มม.เองไปจนถึงโรงเรียนเก่าที่จบออกมา อีกทั้งยังส่งผลกระทบกับผู้ที่รับทุนในรุ่นต่อไป ทำให้หาคนมาค้ำประกันยากขึ้น ถ้าถามความเห็นส่วนตัวของผมเอง ถ้ามีลูกศิษย์หรืออาจารย์มาขอให้ค้ำก็คงต้องคิดให้หนัก เพราะถ้าหนีไม่ยอมใช้หนี้อีกแล้วเดือดร้อน คงไม่มีใครมาช่วยได้" อธิการบดี มม.กล่าว