บทเรียน หมอฟันหนีหนี้ทุน :หรือ มหา'ลัยไม่ใช่คำตอบ
เป็นข่าวครึกโครมจากสังคมออนไลน์ และลุกลามเป็นกระแสข่าวใหญ่ที่คนไทยให้ความสนใจ ติดตามมากเป็นประวัติการณ์ ในระยะเวลาอันสั้น กับกรณี ข่าว ทพ.หญิง หนีหนี้ทุน ปล่อยให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นทั้งอาจารย์ของ ทพ.หญิง และเพื่อนๆ อีก 3 ราย ต้องใช้หนี้แทนไปถึง 10 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ตัวเองมีศักยภาพ มีงานทำ มีฐานะร่ำรวยใช้ชีวิตอย่างหรูหราในสหรัฐอเมริกา และมีงานทำเป็นถึงนักวิจัยของมหาวิทยาลัยชื่อดัง อย่าง ฮาร์วาร์ด
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สะท้อนปัญหาของ สังคมได้ระดับหนึ่ง ทั้งของสังคมไทย และสังคมของอเมริกา ที่อวดอ้างโลกอย่างโก้เก๋ว่า เป็นสังคมชั้นนำของโลก เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก..
ความดังของข่าวเรื่องหนีหนี้ ที่ทำให้คนสนใจ นอกจาก ผู้คนเห็นอกเห็นใจผู้ค้ำประกันลูกหนี้ ที่ต้องรับภาระชำระหนี้แทน ทพ.หญิงนั้นแล้ว ด้วยสถานะทางสังคมของ ลูกหนี้ตัวแสบ ก็คือ ทพ. คือ ทันตแพทย์ หรือหมอฟัน ที่ชาวบ้านรู้จักกัน
อย่างที่ทราบกันว่า สถานทางสังคมในเมืองไทย ...คำว่า หมอ เป็นสถานะที่มีเกียรติ ได้ความยอมรับนับถือสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นหมออะไรก็ตาม แม้กระทั่งวิชาชีพ พยาบาล ชาวบ้านร้านถิ่นทั่วไปยังให้ความนับถือที่สูงเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้น คนไทยโดยทั่วไปให้ความนับถือผู้ประกอบวิชาชีพ หมอ สูงมาก ก็เพราะเห็นว่าอาชีพนี้เป็นผู้ปัดเป่า เป็นผู้คลายทุกข์ เป็นผู้รักษาชีวิตของคน ซึ่งมีความสำคัญยิ่ง และ ต่างก็เห็นว่า ผู้ที่เรียน และจบออกมาเป็นหมอ ต่างเป็นผู้ที่มีสติปัญญาสูงส่ง เรียนเก่ง เป็นคนระดับนำของสังคมเป็นพวกหัวกระทิ ทั้งสิ้น..... ดังนั้น เมื่อเกิดกรณี มีหมอ กระทำความผิดขึ้นมา มักจะได้รับความสนใจ จากสังคมตลอดมา
กรณีหมอฟันหนีหนี้ ครั้งนี้ เป็นการสะท้อนปัญหาความผุกร่อนของ ระบบการศึกษาของสังคมไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะก่อนหน้านี้เมื่อปลายปีที่ผ่านมามีรายงานข่าวจาก กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.ว่า มีสถิติ ที่น่าตกใจคืออาชีพแพทย์และพยาบาล ซึ่งมีงานทำแน่นอน กลับไม่ยอมชำระหนี้เพิ่มขึ้น
จะเห็นได้ว่า อาชีพที่มีงานรองรับแน่นอน มีรายได้แน่นอน และได้รับการยอมรับนับถือทางสังคมสูง กลับมีมาตรฐานทางด้านความรับผิดชอบและจริยธรรมตกต่ำลง ทุกคนที่เข้ามาในวิชาชีพนี้ มองว่านี่เป็นโอกาสทางสังคม ที่จะสามารถสร้างตัวสร้างรายได้ได้อย่างดี แต่ความรับผิดชอบทางสังคมกลับลดน้อยลง...
เป็นเพราะทัศนคติแบบนี้หรือไม่..ที่ทำให้ประเทศไทย ที่ผลิตแพทย์ หมอ มานาน กลับมีปัญหา ขาดแคลนหมอ ..ทุกวันนี้โรงพยาบาลห่างไกลในต่างจังหวัดยังมีปัญหาขาดแคลนหมอ โดยเฉพาะ หมอเฉพาะทางในโรคที่สำคัญ เช่น โรคหัวใจด้วยแล้ว บางจังหวัด มีเพียงคนเดียว บางจังหวัดไม่มีเลย ฯลฯ
เป็นไปได้อย่างไรที่ สถาบันการศึกษาของไทยผลิตแพทย์ออกมาทุกปี นานนับหลายสิบปี แต่เมืองไทยขาดแคลนหมอ...???
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนได้หรือไม่ว่า ระบบการศึกษาของบ้านเราไม่ตอบโจทย์ ที่สำคัญของสังคม ในขณะที่สังคมลงทุนให้โอกาส ให้ความเชื่อถือกับวิชาชีพพิเศษสูง ...แต่คนในวิชาชีพนี้กลับ มุ่งเรียนเพื่อหวังประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก..ไม่เคยคิดถึงการตอบแทนสังคม ตอบแทนคนส่วนใหญ่ที่มอบความเชื่อถือกับวิชาชีพเหล่านี้....????
และจากกรณี ของทพ.หนีหนี้ รายนี้ มีข้อเท็จจริงด้วยว่า ทางมหาวิทยาลัยต้นสังกัด ได้แจ้งไปยังต้นสังกัดใหม่ในต่างประเทศ มหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลก อย่าง ฮาร์วาร์ด โดยทางอธิการมหาวิทยาลัยมหิดลได้แจงว่า ได้พยายามประสานไปยัง ม.ฮาร์วาร์ด แต่คำตอบที่ได้รับจาก ม.ฮาร์วาร์ด คือ เป็นเรื่องส่วนตัวที่ต้องประสานไปยังเจ้าตัวเอง.....ดังรายละเอียดข้างล่าง
"คนที่เบี้ยวไม่ยอมใช้ทุนคืนคนนี้ถือว่าแย่ ทั้งที่ทำงานที่ ม.ฮาร์วาร์ด ได้รับเงินค่าตอบแทนจำนวนมาก แต่ไม่ยอมใช้หนี้ ทำให้คนค้ำเดือดร้อน เพราะรัฐบาลก็ต้องไปไล่บี้เอากับคนค้ำประกัน มม.เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามประสานไปยัง ม.ฮาร์วาร์ด แต่คำตอบที่ได้รับจาก ม.ฮาร์วาร์ดคือเป็นเรื่องส่วนตัวที่ต้องประสานไปยังเจ้าตัว
ผมเองก็รู้สึกไม่ดีกับ ม.ฮาร์วาร์ดที่ตอบแบบนั้นและไม่แสดงท่าทีอะไรกับเราเลย ทั้งที่การรับคนเป็นอาจารย์ควรจะดูเรื่องความมีคุณธรรมประกอบด้วย แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เรื่องนี้ทำเสียชื่อไปหมด ทั้ง มม.เองไปจนถึงโรงเรียนเก่าที่จบออกมา
อีกทั้งยังส่งผลกระทบกับผู้ที่รับทุนในรุ่นต่อไป ทำให้หาคนมาค้ำประกันยากขึ้น ถ้าถามความเห็นส่วนตัวของผมเอง ถ้ามีลูกศิษย์หรืออาจารย์มาขอให้ค้ำก็คงต้องคิดให้หนัก เพราะถ้าหนีไม่ยอมใช้หนี้อีกแล้วเดือดร้อน คงไม่มีใครมาช่วยได้"
สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนว่า ระบบการศึกษาของเราและโลก กำลังมีปัญหาใช่หรือไม่ ? ระบบคุณธรรม จริยธรรม ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ต้องยึดถือกันแล้วหรือ ? ...แล้วโลกปัจจุบัน ระบบการศึกษาปัจจุบันมุ่งหวังอะไร..?
โดย...เปลวไฟน้อย