เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไข
มีรายงานข่าวเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า "จากการสำรวจนักเรียนที่จบชั้น ม.3 ในปีการศึกษา 2558 พบผู้ที่ไม่ต้องการเรียนต่อกว่า 60,000 คน"
โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)ไป ดึงเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาเหล่านั้น ให้มาเรียนต่อในสายอาชีพเพื่อเพิ่มจำนวนผู้เรียน
และเพื่อให้เป็นแรงงานที่มีความรู้ และมีทักษะทางวิชาชีพ เพราะหากปล่อยเด็กกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบตลาดแรงงานเลย จะมีข้อจำกัดในเรื่องของอายุ กลายเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ และมีรายได้ต่ำ
ทั้งนี้ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้บอกถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ตามที่ รัฐมนตรีมอบให้ ใน 2 แนวทางคือ
ให้เด็กเริ่มเรียนวิชาชีพตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น และ ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดอบรมพิเศษด้านอาชีพตามความต้องการ และความสนใจของเด็ก อาทิ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า การทำอาหาร เพื่อให้เด็กนำไปต่อยอดประกอบอาชีพได้
อีกทั้ง เมื่อจบหลักสูตรการฝึกอบรมก็ยังนำวุฒิมาเทียบหน่วยกิตในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และในวิชาสามัญก็เก็บหน่วยกิตกับ กศน.ได้อีก
น่าสนใจไม่น้อยนะครับ ว่าตัวเลขเด็กที่จบ ม. 3 ที่ไม่ยอมศึกษาต่อ มีจำนวนไม่น้อยทีเดียว 60,000 คนไม่น้อยเลยสำหรับอนาคตของชาติ
น่าเสียดายที่รายงานข่าวไม่ได้ลงรายละเอียดว่า เหตุใด...? เด็กจำนวน 60,000 นี้ไม่ยอมเรียนต่อ ในระดับที่สูงขึ้น.. ในยุคปัจจุบันที่คนจบระดับปริญญาตรียังต้องแข่งขันกันในตลาดแรงงานอย่างหนักหน่วง
และ เด็กที่ไม่ยอมเรียนต่อ 60,000 คนนี้ ใช้ชีวิตต่ออย่างไรในอนาคต..? เพราะ หากจะเข้าสู่ระบบแรงงาน ก็เข่าข่ายผิดกฎหมายได้ เพราะเด็ก ม. 3 อายุเพียง 15 ปี และหากหลบเลี่ยงเพื่อประกอบอาชีพ ก็คงหนีไม่พ้นเป็นแรงงานขั้นต่ำ เท่านั้น
ปัญหาเด็กหลุดหายไปจากระบบการศึกษา เมื่อลองสืบย้อนข้อมูลกลับไป พบว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว ในปี 2556 มีรายงาน ของเว็บไซต์ tcijthai หัวข้อ
"อึ้งเด็ก 3 ล้านคนหายจากระบบการศึกษา ความยากจน-มุ่งคะแนนผลักเด็กพ้นร.ร." มีข้อมูลน่าสนใจมาก ยกตัวอย่างเช่น
..............ตัวเลขของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ซึ่งอ้างอิงจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา พบว่า หากนับเด็ก 1,108,856 ที่เข้าเรียนชั้น ป.1 พร้อมกันในปี 2540 เมื่อถึงชั้น ป.4 จะเหลือเด็กอยู่ร้อยละ 90.4 หรือ 1,002,050 คน พอถึงปี 2548 เมื่อเด็กขึ้นชั้น ม.3 ตัวเลขจะลดลงเหลือ 860,271 คนหรือร้อยละ 77.6 พอปี 2551 เมื่อเด็กขึ้นชั้น ม.6 หรือ ปวช.3 จะลดลงเหลือแค่ 585,088 คนหรือร้อยละ 52.8 หมายความว่าเด็กที่เข้าเรียนชั้น ป.1 เมื่อปี 2540 เกือบครึ่งหลุดออกไปจากระบบการศึกษา..........
(อ้างอิง: http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=2982)
จะเห็นได้ว่าปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นปัญหาที่เกิดมานาน แต่ไม่เคยถูกหยิบขึ้นมาแก้ไขอย่างจริงจัง ตามรายงานพบว่า เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา มีส่วนหนึ่งหลุดเข้าไปสู่วงจรของแวดวงการค้ายาเสพติด ซึ่งน่าเป็นห่วงยิ่ง เพราะนั้นหมายถึงปัญหาสังคมที่ตามมาอีกมากมาย
เราเพิ่งผ่านข่าวสะเทือนขวัญที่กลุ่มวัยรุ่นก่อคดีอาชญากรรม ฆ่าและข่มขืนมาเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ถึงเวลาที่ รัฐต้องเข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหาในทุกระดับ อย่างจริงจังมากขึ้น
สำหรับแนวทางที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ริเริ่มไว้ เป็นแนวทางที่ถูกต้องที่ภาครัฐต้องเข้าไปดูแลแก้ไข และต้องลงไปในทุกระดับไม่ใช่หวังผลเพียงแรงงานที่ป้อนระบบอุตสาหกรรมเท่านั้น........
เปลวไฟน้อย