ผอ.ศูนย์บริการโลหิต แจงข้อเท็จจริง สิทธิประโยชน์บริจาคเลือด
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พญ.อุบลวัณณ์ จรูญเรืองฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ถือเป็นสิทธิประโยชน์ที่ออกมาค่อนข้างจะนานมาก และยังไม่ได้มีการแก้ไข
เบื้องต้นหากผู้บริจาคโลหิต 7 ครั้งขึ้นไป หากเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดสภากาชาดไทย ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา นั้นกรณีที่รักษาตัวในห้องผู้ป่วยสามัญหรือห้องผู้ป่วยรวมนั้นก็ให้ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลเดิมของตัวเองโดย แต่หากนอนห้องพิเศษ หรือกรณีที่อยู่ห้องพิเศษ หรือผ่าตัด คลอดบุตรนั้นสามารถลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 50
ทั้งนี้ หากเป็นผู้บริจาคโลหิตเกกิน 24 ครั้งเป็นต้นไป แล้วป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดสภากาชาดไทย จะได้รับการยกเว้นค่ารักษาพยาบาลกรณีรักษาตัวในห้องผู้ป่วยสามัญ แต่ถ้าอยู่ห้องพิเศษ หรือ ผ่าตัด ผ่าตัดคลอดบุตร จะเสียเพียง ร้อยละ 50 ของอัตราที่กำหนด
อย่างไรก็ตามสิทธิดังกล่าวไม่มีข้อกำหนดกรณีบริจาคโลหิต 18 ครั้งแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีบริจาคโลหิต 24 ครั้งขึ้นไปแล้วจะได้รับการยกเว้นค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยสามัญได้ทุกโรคหรือไม่ เช่น โรคมะเร็ง จะสามารถได้รับการยกเว้นด้วยหรือไม่
พญ.อุบลวัณณ์ กล่าวว่า ในระเบียบไม่ได้กำหนดรายโรคเอาไว้ แต่ทั้งนี้ต้องดูที่การพิจารณาของทางโรงพยาบาลด้วย
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า กรณีผ่าตัดจากเดิมที่มีวิธีการไม่มาก แต่ปัจจุบันจะมีการใช้เทคโนโลยีการผ่าตัดที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น การใช้หุ่นยนต์ การผ่าตัดส่องกล้อง จะได้รับการลดหย่อนค่ารักษาร้อยละ 50 ด้วยหรือไม่ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตกล่าวว่า เนื่องจากตอนที่ออกระเบียบตรงนี้มาค่อนข้างนานมากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนเบื้องต้นจึงต้องยึดตามตัวอักษรก่อน อย่างไรก็ตามต้องอยู่ที่การพิจารณาของทางโรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง ส่วนจากนี้จะมีการปรับปรุงระเบียบสิทธิตรงนี้หรือไม่
"ของศูนย์บริการโลหิตเป็นเพียงหน่วยหนึ่งเท่านั้น แต่ระเบียบใหญ่ออกมากจากสภากาชาดไทย ถ้าจะอัพเดตใหม่คงต้องใช้เวลา เบื้องต้นถ้าประชาชนจะใช้สิทธิก็อาจจะมาขอ หรือให้ญาตินำบัตรประจำตัวมาขอหนังสือรับรองการบริการบริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิต หรือภาคบริการโลหิตที่โรงพยาบาลสาขา หรือโรงพยาบาลจังหวัดก็สามารถดูจำนวนครั้งได้เช่นกัน"
พญ.อุบลวัณณ์ กล่าว และว่า เดิมระเบียบดังกล่าวออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีสิทธิการรักษาใดๆ เลย เนื่องจากขณะนั้นคนไทยไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาลกันเยอะแต่ก็ช่วยมาบริจาคเลือดได้ ดังนั้นตอนนี้จะเน้นที่สิทธิประโยชน์เดิมของคนไข้ก่อน
พญ.อุบลวรรณ กล่าวต่อว่า สำหรับการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข นั้น ตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล (ฉบับที่ 6 ) พ.ศ.2558 ระบุเอาไว้ในข้อที่ 8 ประเภท ค.ให้หน่วยบริการช่วยเหลือเฉพาะค่าห้องพิเศษและค่าอาหารพิเศษ โดยให้เรียกเก็บตามอัตราที่กำหนดไว้ แต่ต้องไม่เกินสิทธิอันพึงเบิกได้จากหน่วยงานต้นสังกัดก่อน ส่วนที่เกินให้เรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 โดยจัดสมาชิกผู้บริจาคโลหิตของสภากาชาดไทยเอาไว้ในผู้มีสิทธิตามประเภท ค. ซึ่งได้รับการช่วยเหลือเฉพาะตัว (1) และกำหนดให้ต้องมีหนังสือรับรองจากสภากาชาดไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ระบุจำนวนครั้งของการรับบริจาคเลือดเอาไว้แต่อย่างใด