ว่อนโซเชียลชื่นชม ‘เภสัชกร รพ.สุราษฎร์ฯ'ขับรถส่งยาต้านพิษ ช่วยผู้ป่วยต่างด้าวรอด 2 ราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ในแวดวงสาธารณสุขได้มีการเผยแพร่หนังสือชมเชยผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยเป็นหนังสือจากศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ชื่นชมการทำงานของ "ภก.ประมนัส ตุ้มทอง" กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ลงวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา กรณีการนำส่งยาต้านพิษยามวิกาล ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยแรงงานประมงที่ได้รับพิษก๊าซไข่เน่ารอดชีวิตได้ 2 ราย
ภก.ประมนัส ตุ้มทอง กลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2558 เวลาประมาณเที่ยงคืน ได้รับโทรศัพท์แจ้งจากศูนย์พิษวิทยาว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษก๊าซไข่เน่า และจำเป็นต้องได้รับยาต้านพิษเร่งด่วน
ซึ่ง รพ.สุราษฎร์ธานีเป็นคลังสำรองยาต้านพิษ "โซเดียมไนไตรท์" ที่ใช้รักษาภาวะพิษจากก๊าซไข่เน่าที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ที่รับรักษาผู้ป่วยมากที่สุด จึงประสานขอเบิกจ่ายยาเพื่อนำส่งยาให้กับผู้ป่วยโดยเร็ว
แต่เนื่องจากช่วงเกิดเหตุเป็นยามวิกาล ไม่เคยมีมาก่อน และ รพ.สุราษฎร์ธานีไม่ได้มีการจัดระบบส่งยาต้านพิษในช่วงกลางคืนรองรับไว้ ประกอบกับหากผู้ป่วยได้รับยาต้านพิษโดยเร็วจะมีโอกาสฟื้นจากภาวะเป็นพิษจนหายเป็นปกติได้ จึงตัดสินใจขับรถยนต์ส่วนตัวเพื่อนำยาต้านพิษไปส่งเอง
"แต่ด้วยวันรุ่งขึ้นมีภารกิจที่ต้องร่วมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในช่วงเช้า ซึ่งระยะทางระหว่างโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีกับโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ห่างกันประมาณ 170 กิโลเมตร หากให้ขับไปถึงพรุ่งนี้คงไม่ไหว จึงได้ประสานขอให้โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์นำรถออกมารับยาครึ่งทาง ซึ่งตนเองจะนำยาไปส่งไปที่ห้องยา แผนกผู้ป่วยฉุกเฉิน โรงพยาบาลหลังสวนแทน
ทั้งนี้ สาเหตุที่ตัดสินใจนำส่งยาด้วยตนเอง เนื่องจากในฐานะที่เป็นเภสัชกร และจากที่ได้เข้าอบรมความรู้สารพิษและยาต้านพิษ ทราบถึงความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องได้รับยาโดยเร็ว เพราะอาจมีผลต่อชีวิตได้" ภก.ประมนัส กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทราบภายหลังว่าเหตุการณ์นี้มีผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษก๊าซไข่เน่า 3 ราย ในจำนวนนี้ 1 ราย ได้เสียชีวิตที่ห้องฉุกเฉินไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากได้รับปริมาณสารพิษจำนวนมาก ส่วนอีก 2 ราย พ้นขีดอันตรายแล้วหลังได้รับยาต้านพิษ
โดยผู้ป่วยเป็นแรงงานต่างด้าวที่ทำงานบนเรือประมง ได้รับก๊าซไข่เน่าจากการลงไปใต้ท้องเรือเพื่อเก็บสัตว์น้ำที่จับได้ ซึ่งใต้ท้องเรือเป็นพื้นที่ปิด หากมีสัตว์น้ำจำนวนมาก แต่ความเย็นไม่เพียงพอ ก็จะเกิดการหมักหมมจนเกิดก๊าซไข่เน่านั่นเอง