Exclusive ชีวิตที่ไม่ง่าย "เอ๋ มณีรัตน์" (อดีต) ตัวประกอบค่าตัว 300 บาท
การได้เคยเป็นตัวประกอบมาก่อนก็ทำให้เข้าใจการทำงานของคนเบื้องหลังด้วยทำให้เข้าใจว่าค่าของคนมันเท่ากันไม่ว่าเขาจะทำหน้าที่อะไรจะเป็นช่างไฟหรือแม่ครัวดูแลเรื่องกับข้าวทีมประสานงานทุกคนเท่ากันหมดแต่แค่เขามีหน้าที่ต่างกัน เราเองเป็นนักแสดงเราต้องพึ่งเขาด้วยซ้ำโดย เอ๋ มณีรัตน์
"เอ๋ มณีรัตน์ คำอ้วน" ชื่อนี้แม้จะไม่ใช่ดารานักแสดงดังเบอร์ต้นๆ ของวงการแต่เชื่อว่าชื่อของเธอนั้นก็คงเป็นที่รู้จักกันดีใบบทบาทนักแสดง และล่าสุดเธอก็กำลังมีผลงานละคร "กำไลมาศ" กับทางช่องสามที่เป็นหนึ่งตัวละครสร้างสีสันให้ละครเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน แต่รู้หรือไม่? ชีวิตบนเส้นทางในวงการบันเทิงของ "เอ๋ มณีรัตน์" ที่ดูภายนอกใครๆ ก็มองว่าสวยงามเข้าวงการผลงานชิ้นแรกภาพยนตร์ "เพื่อนสนิท" ก็โด่งดังพลุแตกกลายเป็นที่รู้จักทันที แต่หากย้อนเส้นทางชีวิตก่อนจะเป็นดวงดาวในวงการบันเทิงนั้นชีวิตของเธอต้องผ่านเรื่องราวการสู้ชีวิตที่มากมาย
จากเด็กต่างจังหวัดในภาคอีสานที่ตัดสินใจเข้าเมืองหลวงเริ่มต้นงานแรกด้วยการเป็นเซลล์ขายของเคาะประตูตามบ้านต่อด้วยการเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อที่ได้ค่าแรงชั่วโมงล่ะ 20 บาท และก้าวมาสู่การเป็นนักแสดงตังประกอบค่าตัววันละ 300 ซึ่งเธอก็เป็นอีกหนึ่งคนวงการบันเทิงที่มีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจที่สัปดาห์นี้ Sanook! News ขอเลือกนำมาถ่ายทอดในมุมชีวิตของ "เอ๋ มณีรัตน์" กว่าเธอจะเดินทางมาถึงจุดคำว่า "นักแสดง" ได้แบบเต็มตัวนั้นไม่ง่ายเลยจริงๆ
เปิดชีวิตเด็กหญิง "เอ๋ มณีรัตน์"
เอ๋เป็นเด็กสาวต่างจังหวัดที่เติบโตมาในครอบครัวขนาดปานกลางแม้จะไม่ร่ำรวยเงินทองแต่ครอบครัวของเธอนั้นก็มีความสุขกับการประกอบอาชีพสุจริตเอ๋เล่าว่า พ่อกับแม่เธอนั้นเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายโรตีโดยเธอจะมีหน้าที่รับผิดชอบคือการช่วยพ่อแม่นวดแป้งและออกไปขายโรตีบ้างแต่ก็ไม่เคยน้อยใจที่บางครั้งอาจไม่ได้เล่นสนุกสนานแบบเด็กคนอื่นเพราะสิ่งที่เธอได้รับจากการช่วยพ่อแม่ทำงานคือการได้รู้จักคำว่า "หน้าที่"
"ช่วงวัยเด็กถามว่าเอ๋ลำบากมั้ยก็ไม่ได้ลำบากมากแต่ว่าเอ๋มองว่าเราทำตามหน้าที่ของเราที่ควรจะต้องทำก็คือตอนเด็กๆ ที่บ้านเอ๋ขายโรตีเอ๋ก็ช่วยพ่อแม่มาตั้งแต่เด็กตั้งแต่จำความได้ คือหน้าที่ของเอ๋จะเป็นหน้าที่นวดแป้งกับเอาแป้งมาคลุกกับเนยเตรียมพร้อมก่อนที่จะไปขายและก็จะมีออกไปช่วยขายของบ้าง และพอช่วงโตขึ้นมาอีกทุกอาทิตย์แถวบ้านจะมีสนามม้าประจำจังหวัดค่ะเอ๋ก็จะไปขายลูกชิ้นขายปลาหมึกย่างโตมาอีกหน่อยก็จะเริ่มขายหมากจะเอาไปส่งโรงงานแต่จะเป็นหมากแห้งๆ เอ๋ก็จะไปรับหมากตามบ้านต่างๆ เอ๋ก็จะไปติดต่อขอซื้อและเอ๋ก็จะมีหน้าที่ช่วยพ่อขับรถข้ามจังหวัดไปขอนแก่นไปชัยภูมิ
เอ๋มองว่าในครอบครัวต้องช่วยกันหมดแล้วครอบครัวเอ๋สอนมาว่าเราอยู่ด้วยกันเราต้องช่วยกันเพราะฉะนั้นเอ๋ก็เลยรู้สึกว่าเรามีหน้าที่ของเรา พ่อแม่แบ่งหน้าที่ชัดเจนเอ๋ทำอันนี้เอ๋ก็จะรู้หน้าที่ของเอ๋ เอ๋ทำอันนี้เสร็จเอ๋ถึงไปเล่นได้ครอบครัวเอ๋ปูพื้นฐานมาไม่ใช่ต้องมาคอยบอกเธอต้องทำแบบนั้นหน้าที่ของเธอนะคือไม่ใช่การสั่งค่ะ มันก็เลยทำให้รู้หน้าที่รับผิดชอบโดยอัตติโนมัติเองโดยที่ไม่ต้องใช้คำสั่งกันและมันก็ทำให้เอ๋รู้ว่าเอ๋โตขึ้นมาเอ๋มีหน้าที่อะไรบ้างและเอ๋ต้องรับผิดชอบหน้าที่ของเอ๋ให้ได้ไม่ผลักภาระไปให้คนอื่นๆ ให้ตัวเองทำหน้าที่ตัวเองให้สมบูรณ์ก่อนและคนอื่นค่อยมาช่วยได้อันนี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่เอ๋สอนมาและติดตัวมา"
จุดพลิกชีวิต "สูญเสียเสาหลัก" ครอบครัว เธอบอกว่า เสียใจที่ต้องเสียพ่อแต่ก็ต้องเดินหน้าเพื่อเป็นเสาหลักใหม่ให้คุณแม่
"ครอบครัวจากที่พ่อเป็นคนดูแลครอบครัวพ่อเป็นคนหารายได้หลักแม่ก็เป็นคนช่วยเสริมและเอ๋ก็เป็นลูกคนเล็กและมีพี่สาวที่จะรับผิดชอบทำงานดูแลช่วยนั้นช่วยนี้ทุกอย่างของเอ๋ก็จะรองลงมาเยอะมากพูดง่ายๆ ก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรหนักมากก็จะรู้สึกว่าสบายๆ พอเหตุการณ์มันพลิกปุ๊บหลังจากนั้นมันก็เปลี่ยนแม่หาตังค์คนเดียวเลี้ยงลูกเอ๋ก็เลยรู้สึกว่ามันต้องช่วยกันก็มองเห็นว่าคุณแม่ทำอยู่คนเดียวและเอ๋ต้องเรียนมีค่าใช้จ่ายเยอะมากและคุณแม่หาคนเดียวก็คงไม่ไหว บวกกับตัวเราอยากจะลองทำอะไรที่ไม่เคยทำก็เลยรู้สึกสนุกที่จะได้ทำอะไรใหม่ๆ
แต่ถามว่ามันมีความเสียใจมั้ยที่ครอบครัวต้องสูญเสียคุณพ่อมันมีอยู่แล้วแต่ว่าเราต้องเดินต่อ ถ้าเรามานั่งโทษว่าโชคร้ายจังเลยแย่จังเลยไม่เหลืออะไรแล้วมันไม่มีประโยชน์คือเราจะทำยังไงให้ ณ ปัจจุบันมันดีที่สุดแล้วเราแบ่งเบาภาระคุณแม่ได้อยากดูแลคุณแม่ให้มันดีกว่านี้ ซึ่งคุณแม่เขาก็เสียใจอยู่แล้วและเราก็เสียใจเพราะฉะนั้นถ้าเรายิ่งเสียใจไม่ลุกขึ้นมาเป็นเสาหลักให้เขาแล้วเขาจะพึ่งพาใครคุณแม่ช่วยตัวเองได้มั้ยเขาช่วยตัวเองได้แต่เราต้องมีหน้าที่ช่วยกัน
ก็เลยเข้ามากรุงเทพที่นี้จากที่แบบชีวิตไม่เคยเข้ากรุงเทพก็เลยเข้ามาอยู่และเรียนต่อในกรุงเทพเพราะที่บ้านไม่มีมหา'ลัย พอเข้ามาในกรุงเทพก็มองหาว่าที่ไหนที่เราจะเรียนและทำงานได้ด้วยเข้ามาตอนแรกรู้สึกมันอู้ฟู้มาก รู้สึกมันใหญ่มันมีอะไรที่ให้เรารู้สึก ห๊ะๆๆๆ ให้เราตื่นตาตื่นใจทำตัวไม่ถูกเพราะที่บ้านเรามันก็มีแต่ทุ่งหญ้าคุยกับคนก็คุยกันได้เลยไม่ต้องคิดอะไรมากแต่พอเข้ามาในเมืองมันจะมีความซับซ้อนมากๆ เวลาคุยกับคนก็ต้องพูดอะไรก็ต้องคิดต้องคิดมากขึ้นแต่ไม่ได้ระแวงค่ะ"
เริ่มต้นงานขายตรงพนักขายของร้านสะดวกซื้อ เธอเล่า คืองานที่ได้ลองเรียนรู้แต่ก็ "ไม่ใช่ตัวเอง"
"งานแรกที่เอ๋เข้ากรุงเทพมาเลยก็คืองานขายตรงตอนแรกไม่รู้คือทำทุกอย่างนั่งเปิดดูสมุดหางานไล่ๆ ดูว่ามีใครรับสมัครอะไรบ้างและมีที่นึงบอกว่าเงินเดือนดีทำงานน้อยรายได้เยอะ คำว่ารายได้เยอะก็เลยลองไปดูพอไปดูมันเขาก็บอกว่าน้องมาฝึกงานเลยเราก็รู้สึกว่าพี่ไม่สัมภาษณ์หรอคะก็ดีใจคิดว่าตัวเองผ่านแล้วเริ่มงานได้เลย เขาก็นัดให้เจอนั่งรถเมล์ไปเราก็แบบนั่งรถเมล์ออกนอกสถานที่ด้วยตื่นเต้นพอไปถึงก็จะมารวมกลุ่มกันก็ไปเคาะตามบ้านกดกริ่งตามบ้าน บางบ้านก็โอเคบางบ้านก็ไม่เอาไล่ไป
วันนั้นสรุปเดินเคาะประตูขายของตามบ้านโดยรวมแล้วประมาณสิบกิโลแต่ขายไม่ได้เลยซักอันและค่าใช้จ่ายเราออกเองค่าข้าวค่ารถ ที่นี่เราก็มีคำถามและไปถามพี่ที่ทำด้วยกันถ้าขายไม่ได้จะได้อะไรและจะได้เงินมาจากไหนเขาก็บอกว่าก็ได้เงินมาจากที่เราขายได้ถ้าขายไม่ได้ก็คือไม่ได้แล้วค่ากินค่ารถก็ต้องออกเองและตอนนั้นในตัวก็มีไม่ถึงยี่สิบบาทก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราทำอย่างนี้ทุกวันแล้ววันไหนที่เราจะได้แล้วเราต้องมานั่งขายอย่างนี้เราเป็นคนพูดเก่งมั้ยก็รู้ว่าเราไม่ได้มันไม่ใช่ทางและเอ๋ก็กลับบ้านด้วยความรู้สึกที่เฟลที่ยังมีคำถามเยอะและก็มีคำตอบตัวเองแล้วว่าเราไม่สามารถที่จะมานั่งคุยแบบนี้ได้โน้มน้าวคนได้ใจเราไม่แข็งพอกับการโดนปฏิเสธ
ก็เลยมองว่ามันไม่น่าจะใช่จริงๆ และหลังจากนั้นก็มาลองทำเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อแต่ไปสาขาที่คนเยอะมากเป็นสาขาที่คนเข้าทั้งวันยังไงก็เข้า คืองานเหนื่อยไม่เท่าไหร่นะคะแต่เราต้องรับผิดชอบของที่เราควบคุมไม่ได้ที่แบบเวลาของหายพนักงานทุกคนต้องเฉลี่ยเงินกัน ซึ่งเดือนนึงเนี่ยก็จะได้ค่าแรงที่น้อยอยู่แล้วและมันต้องมาเสียเงินตรงนี้เอ๋จำได้ว่าได้ชั่วโมงล่ะยี่สิบทำวันละสี่ชั่วโมงคนก็เข้าๆ ออกๆ เราไม่สามารถนั่งได้และมันก็มีช่วงทดลองงานและมันก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ทางเราอีกแล้วอะไรที่มันควบคุมไม่ได้และเราก็อยากจะทำอะไรที่เราควบคุมได้เรามีความคิดว่าเราอยากลองทำอย่างอื่นที่มันอาจจะได้เยอะกว่านี้หรือมันอาจจะช่วยเราได้มากกว่านี้ค่ะ"
จุดเริ่มต้นชีวิตตัวประกอบค่าตัววันละ 300 บาท เธอบอกว่า ประสบการณ์ชีวิตในอาชีพตัวประกอบทำให้เธอรู้ว่า "คุณค่าของคนทุกคนเท่ากัน"
"ตอนแรกๆ เอ๋ไปเป็นนักแสดงตัวประกอบละครจากการแนะนำของเพื่อนๆ ทำตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงสี่ทุ่มและก็โดนหักค่าแรงเหลือสามร้อยเพราะเราอยู่โมเดลลิ่งงานตัวประกอบเอ๋จับพ้อยนึงได้ว่าเรารู้สึกสนุกและลองดูเขาเล่นและเขาทำได้มันเลยเป็นสิ่งที่ตื่นเต้นแต่ได้เจอบางเหตุการณ์ที่เวลาพักทานอาหารช่วงพักเที่ยงซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเขามีกฎการแบ่งโซนนักแสดงกับนักแสดงตัวประกอบเราก็ไปเดินๆ เที่ยงแล้วไปกินข้าวก็เดินไปที่เขาตั้งอาหารแบบเยอะๆ แล้วแม่ครัวเขาบอกเราว่าเอ็กซ์ตร้าอยู่ทางโน่นเราก็แบบว่า ห๊ะ! มันก็รู้สึกหน้าชาไปนะเขามีแบ่งแยกหรอ ข้าวกล่องเราอยู่ทางโน่นไปหยิบเอาและก็ไปนั่งทานอยู่ตรงริมทางนั่งกินข้าวเปิดข้าวกล่องออกมานับชิ้นได้เลยวิญญาณหมูทั้งนั้นเลย (หัวเราะ)
เราก็รู้สึกว่าเราทำงานตั้งแต่กี่โมงจนถึงกี่โมงมันก็เลยมีคำถามที่ว่าทำไมล่ะเราก็เหมือนเขาแต่เราก็เข้าใจและมองในมุมที่แบบเขาอาจจะสื่อสารไม่เป็นและตอนนั้นเราอาจจะยังไม่เข้าใจระบบ แต่การทำงานเป็นตัวประกอบเดินไปเดินมาก็จะเจอความรู้สึกฝั่งดาราทางนี้ตัวประกอบฝั่งนั้นมันเลยทำให้รู้สึกว่าเดี๋ยวนะใช่หรอกับการที่เราจะอยู่แบบนี้ใช่หรอกับการที่เราก็ทำงานเหมือนกับคนทำงานเหมือนกันด้วยทำไมจะต้องแบบพูดจาแรงๆ แบบนี้ในเมื่อค่าความเป็นคนก็เท่ากันก็เลยมาถามตัวเองสักพักเหมือนกันใช่หรอๆ
จนกระทั่งมีอยู่วันนึงเอ๋ได้บทมาแล้วเราดันเล่นได้ตามที่ผู้กำกับบอกจากออกแค่เห็นข้างหลังตอนนี้เรามีหนึ่งไดอาร็อก ซึ่งหนึ่งไดอาร็อกนั้นเอ๋ตื่นเต้นมากและบทนั้นก็มีแค่สองประโยคด้วยและมันเล่นได้เราก็รู้สึกว่าสนุกอยากลองทำและหลังจากนั้นก็ขยับมาเป็นโฆษณาเอ๋ก็ผ่านการแคสงานที่ทางโมเดลลิ่งส่งไปก็ได้งานตอนนั้นเป็นพี่น๊อตที่เล่นสตรีเหล็กเอ๋รู้จักกับพี่น๊อตและเขาเป็นคนส่งเอ๋ไปแคสงานชิ้นแรกรวมทั้งเพื่อนสนิทด้วย พี่น๊อตถือว่าเป็นคนที่มีพระคุณกับเอ๋มากๆ
สำหรับเอ๋การได้เคยเป็นตัวประกอบมาก่อนก็ทำให้เข้าใจการทำงานของคนเบื้องหลังด้วยทำให้เข้าใจว่าค่าของคนมันเท่ากันไม่ว่าเขาจะทำหน้าที่อะไรจะเป็นช่างไฟหรือแม่ครัวดูแลเรื่องกับข้าวทีมประสานงานทุกคนเท่ากันหมดแต่แค่เขามีหน้าที่ต่างกัน เราเองเป็นนักแสดงเราต้องพึ่งเขาด้วยซ้ำถ้าไม่มีช่างไฟเราจะออกมาสวยได้ไง คือคนๆ เดียวไม่สามารถขับเคลื่อนได้ทั้งหมดเอ๋เชื่อในแบบนั้นทำให้เอ๋มองและเข้าใจพี่ๆ ทีมงานมากขึ้นด้วย"
"เพื่อนสนิท" จุดเปลี่ยนชีวิตก้าวสู่ความดัง
"เป็นงานการแสดงชิ้นแรกเลยค่ะที่ได้ แต่ถามว่ามีความรู้สึกหลงมั้ยมันก็ต้องมีหลงอยู่แล้วแต่เอ๋อาจจะเป็นแค่แสงสีบ้างแต่ที่เรายังอยูู่ได้เพราะว่าโชคดีได้คนรอบข้างที่ดีครูที่ดีแค่คือยังไงเราก็ต้องมองหาว่าตัวเราเองเป็นใคร ทำอะไรอยู่ดารานักแสดงคนคนอาจจะมองว่าสวยหรู หน้าที่การงานดูดีแต่มันก็ไม่เสมอไป การใช้ชีวิตมันก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเอ๋เองก็ไม่ได้มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยมากเราก็ควรรู้ตัวว่าควรทำอะไรใช้จ่ายยังไงและเราเป็นอะไรใช้เท่าที่มีเอาเท่าที่มีไม่อยากมากจนเกินไปถ้าไม่งั้นเราจะลำบากจริงๆ และเราจะไม่รู้คำว่าความพอดีมันอยู่ตรงไหนเอ๋มองไปเรื่องของความสุขมากกว่าถ้าทำแล้วมันไม่มีความสุขและมันต้องฝืน ณ ตอนนี้มันก็คงถึงจุดที่ต้องถามว่าความสุขคืออะไรแล้วเราตอบตัวเองได้จริงมั้ยว่าความสุขคืออะไรและอะไรที่เราทำแล้วมีความสุข
เอ๋ภูมิใจนะคะ เพราะมาขนาดนี้แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายฉันมาไกลมากแต่เส้นทางต่อไปนี้มากกว่าที่จะมีสติเดินได้อย่างไรต้องวางแผนและต้องคิดและก็อยากจะลองทำอะไรใหม่ๆ บ้างที่ยังไม่เคยทำอยากลองและไม่ได้มองว่าจะต้องเป็น หนึ่ง สอง สาม เอ๋ไไม่ได้มองตรงนั้นมองว่าอะไรที่น่าสนใจและอยากทำ และเอ๋เป็นคนที่เวลาทำอะไรคือเอ๋เลือกแล้ว เอ๋เลือกที่เอ๋จะเป็นยังไงและพอเอ๋เลือกแล้วเอ๋ก็จะตั้งใจทำจริงๆ เพราะฉะนั้นเอ๋จะรู้สึกว่าเอ๋ตั้งใจทำแล้วและเอ๋ไม่ได้มองถึงผลว่ามันจะดีหรือไม่ดีแต่วันนี้ตั้งใจแล้วอยู่กับมันร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วหรือยังคือไม่ใช่แบบมานึกดูอีกทีไม่น่าเลยน่าจะทำแบบนี้ค่ะ"
และนี่ก็เป็นการสะท้อนมุมชีวิตของ "เอ๋ มณีรัตน์" นักแสดงสาวคนนึงในวงการบันเทิงที่เธอทำให้เห็นว่าการจะเดินถึงเส้นชัยกับงานที่คือตัวตนตัวเองนั้น แม้จะมีอุปสรรคต่างๆ มากมายแต่เธอก็เลือกมองทุกสิ่งเป็นประสบการณ์ชีวิตมากกว่าปัญหาที่ทำให้ตัวเองท้อถอย บวกกับความมุ่งมั่นและตั้งใจทำทุกสิ่งให้เต็มร้อยวันนี้เธอก็เดินมาถึงเส้นชัยและเป็นที่รู้จักในชื่อ "เอ๋ มณีรัตน์" ในทุกวันนี้นั่นเอง!
อัลบั้มภาพ 13 ภาพ