คนไทยตื่นตา! สุริยุปราคา 9 มีนาคม 59
เช้าวันที่ 9 มีนาคม 2559 เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวีปออสเตรเลียตอนเหนือ มหาสมุทรอินเดียบางส่วน และมหาสมุทรแปซิฟิกบางส่วน โดยที่ ประเทศอินโดนีเซีย จะสามารถมองเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ขณะที่ ประเทศไทย สามารถมองเห็นสุริยุปราคาได้บางส่วน
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา สดร.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่า ปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นเพียงครั้งแรกในรอบปี 2559 ที่ประเทศไทยจะสามารถมองเห็น ดวงจันทร์จะเคลื่อนตัวผ่านระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ในช่วงเช้าของวันที่ 9 มีนาคม เวลา 06.39 น. เงาของดวงจันทร์จะบดบังมากที่สุดในเวลา 07.33 น. ก่อนจะค่อยๆ เคลื่อนตัวออกและสิ้นสุดลงในเวลา 08.32 น. รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง 54 นาที
สำหรับในพื้นที่ประเทศไทยนั้น กรุงเทพมหานคร สามารถมองเห็นเงาบดบังดวงอาทิตย์ราวๆ 40% ของทั้งหมด ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ มองเห็นเงาบดบังดวงอาทิตย์ได้เพียง 27% เช่นเดียวกับ จ.ขอนแก่น มองเห็นเงาบดบังดวงอาทิตย์ได้ราวๆ 34%
ขณะที่ภาคใต้จะมองเห็นปรากฏการณ์นี้ได้ชัดเจนว่า อ.เกาะสมุย จะมองเห็นเงาบดบังได้ 55% ส่วนที่ จ.ภูเก็ต และ จ.สงขลา จะมองเห็นเงาบดบังได้ราวๆ 60% แต่พื้นที่ที่สามารถมองเห็นสุริยุปราคาครั้งนี้ได้เกือบจะสมบูรณ์แบบที่สุดคือ อ.เบตง จ.ยะลา ดินแดนใต้สุดของประเทศไทย ที่มองเห็นเงาบดบังดวงอาทิตย์ได้ถึง 70%
อย่างไรก็ตาม การชมสุริยุปราคาครั้งนี้ ควรมองผ่านอุปกรณ์หรือแว่นตากรองแสงที่ถูกต้อง แม้ว่าช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ครั้งนี้นั้นจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ แต่แสงจากดวงอาทิตย์ก็ส่งผลอันตรายแก่ดวงตา จึงห้ามมองดูดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับจอประสาทตา
ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ กลายเป็นความตื่นตาตื่นใจอีกครั้งของคนไทย เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่ใกล้เคียงกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อราวๆ 20 ปีก่อน ในวันที่ 24 ตุลาคม 2538 ที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศไทย ทั่วพื้นที่ตกอยู่ใต้เงามืดสนิทเกือบ 2 นาที กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้น หากพลาดโอกาสครั้งนี้ สุริยุปราคาลักษณะนี้ครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นอีก 54 ปีข้างหน้า หรือในวันที่ 11 เมษายน 2613
ภาพถ่ายทอดปรากฏการณ์สุริยุปราคา จาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
ภาพถ่ายทอดปรากฏการณ์สุริยุปราคา จาก ประเทศอินโดนีเซีย