ศาลนัด 21 มิ.ย."แพรวา"สาวซีวิค คุยคุมประพฤติ กำหนดเงื่อนไขบริการสังคมใหม่
เมื่อวันที่ 19 มี.ค. พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึง น.ส.แพรวา อดีตเยาวชนซึ่งขับรถยนต์ฮอนด้าซีวิคเฉี่ยวชนรถตู้โดยสารสายธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-หมอชิต บนทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์
เป็นเหตุให้คนขับรถตู้และผู้โดยสารเสียชีวิตรวม 9 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2553 และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา โดยยืนโทษจำคุก 2 ปี แต่แก้โทษให้เพิ่มเวลารอลงอาญาจาก 3 ปี เป็น 4 ปี คุมประพฤติ 3 ปี พร้อมทั้งทำงานบริการสังคม จำนวน 144 ชั่วโมง ห้ามขับรถจนอายุ 25 ปี เมื่อปี 2557 ว่า
จากการตรวจสอบเจ้าพนักงานคุมประพฤติ จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ ที่ น.ส.แพรวา ต้องมารายงานตัวตามคำสั่งศาลพบว่าช่วง 3 ปี ที่ผ่าน มาน.ส.แพร ว่า ไม่ได้ทำงานบริการสังคม โดนอ้างว่าติดเรียนหนังสือ ซึ่งพนักงานคุมประพฤติ ก็ผ่อนปรนให้
แต่พบว่าเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา น.ส.แพรวา ได้ส่งทนายความไปยื่นต่อศาลว่าได้ทำงานบริการสังคมไปแล้วจำนวน 90 ชั่วโมง โดยทำงานบริการสังคมที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มีการลงนามรับรองเป็นเอกสารจากทางโรงพยาบาล และทนายความนำไปยื่นต่อศาล
และให้ น.ส.แพรวา ติดต่อพนักงานคุมประพฤติเพื่อแจ้งการทำงานบริการสังคม ที่เหลืออีก 30 ชั่วโมง กรมคุมประพฤติไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน เพราะขั้นตอนการทำงานบริการสังคม ของผู้ถูกคุมประพฤติตามคำสั่งศาลนั้น กรมคุมประพฤติจะต้องออกหนังสือส่งตัวไปยังสถานที่ หรือโรงพยาบาล ที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือการรับรองของกรมคุมประพฤติ ไม่ใช่การดำเนินการได้ด้วยตนเอง
จากนั้นกรมคุมประพฤติได้แจ้งไปยัง น.ส.แพรวา ว่าศาลมีคำสั่งดังกล่าว แต่ น.ส.แพรวา ปฏิเสธและบอกว่าจะดำเนินการเหมือนที่ผ่านมา จะกลับไปทำงานบริการสังคมที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เช่นเดิม อีกทั้งยังไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่
อย่างไรก็ตาม กรมคุมประพฤติได้รายงานพฤติกรรม และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ศาลรับทราบ และศาลได้นัดไต่สวนในวันที่ 21 มิ.ย. เหลืออีก 30 ชั่วโมง จะดำเนินการอย่างไร และอาจรวมถึงทำงานบริการสังคมที่ผ่านมา จะชอบด้วยระเบียบหรือไม่ซึ่งเป็นดุลยพินิจของศาล
พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวด้วยว่า กรณีของ น.ส.แพรวา ศาลเห็นว่าบุคลคลดังกล่าวเป็นเยาวชน ต้องการให้โอกาสแก้ไขความผิด ได้เรียนหนังสือและกลับมาทำงานรับใช้สังคม แต่ปรากฏว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
การทำงานบริการสังคมนั้นต้องมีการตกลง เห็นพ้องร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งพนักงานคุมประพฤติและผู้ถูกคุมประพฤติ ไม่ใช่อยากไปทำงานบริการสังคมที่ไหนก็ได้ เพราะจะให้มั่นใจได้อย่างไรว่า ไปทำงานจริง ดังนั้นเพื่อความโปร่งใส กรมคุมประพฤติจึงต้องมีระบบและระเบียบแบบแผนรองรับบุคคล ที่เข้ามาสู่การดูแลตามคำสั่งศาลอย่างชัดเจน