ทุกประเทศ จับตา 22 มีนาคม ดาวหาง เฉียดโลกระยะเผาขน 3.4 ล้านกิโลเมตร !!

ทุกประเทศ จับตา 22 มีนาคม ดาวหาง เฉียดโลกระยะเผาขน 3.4 ล้านกิโลเมตร !!

ทุกประเทศ จับตา 22 มีนาคม ดาวหาง เฉียดโลกระยะเผาขน 3.4 ล้านกิโลเมตร !!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันที่ 21 มีนาคม นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) เปิดเผยว่า ในคืนวันที่ 22 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 23:00 น. ดาวหางแพนสตารส์ (P/2016 BA14) จะโคจรเข้ามาเฉียดใกล้โลกที่สุด ที่ระยะห่างประมาณ 3.4 ล้านกิโลเมตร นับเป็นดาวหางที่โคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 246 ปี ช่วงที่ดาวหางดวงนี้เฉียดเข้าใกล้โลกที่สุด จะปรากฏบริเวณกลุ่มดาวหมีใหญ่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าความสว่างปรากฏแมกนิจูด 12 ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า (ความสว่างปรากฏที่ตามนุษย์สามารถมองเห็นได้มีค่าต่ำกว่าแมกนิจูด 6) เตรียมใช้กล้องโทรทรรศน์ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติในโครงการเฝ้าระวังวัตถุจากนอกโลก ติดตามเก็บข้อมูลและสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด

"แม้ว่าจะเป็นดาวหางที่โคจรเข้ามาใกล้โลกที่สุดในรอบกว่าสองร้อยปี แต่ก็นับว่าอยู่ไกลจากโลกมากประมาณ 9 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ ดาวหางดวงนี้จึงไม่มีโอกาสที่จะพุ่งชนโลก และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆ ต่อโลกและมนุษย์ และด้วยเทคโนโลยีทางดาราศาสตร์ในปัจจุบันสามารถตรวจจับและคำนวณได้ล่วงหน้า นอกจากนี้การทำงานแบบเครือข่ายของหอดูดาวทั่วโลกที่มีภารกิจในการเฝ้าระวังภัยจากวัตถุนอกโลกยังช่วยให้การตรวจจับวัตถุต่างๆ ที่เข้ามาใกล้โลกมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" นาย ศรัณย์กล่าว

นาย ศรัณย์กล่าวว่า ระยะแรกของการค้นพบดาวหางดวงนี้ กล้องโทรทรรศน์แพนสตารส์ ซึ่งใช้ปฏิบัติภารกิจการสำรวจดาวเคราะห์น้อย ได้ค้นพบวัตถุที่คาดว่าเป็นดาวเคราะห์น้อย จึงตั้งชื่อว่า 2016 BA14 แต่หลังจากติดตามและศึกษาข้อมูลของวัตถุนี้ พบว่า มีวงโคจรคล้ายดาวหาง นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา จึงใช้กล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวโลเวลล์ตรวจสอบดู และยืนยันว่าวัตถุนี้เป็นดาวหาง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น P/2016 BA14 นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าดาวหาง P/2016 BA14 เป็นดาวหางที่มีคาบการโคจรใกล้เคียงกับดาวหาง 252P/LINEAR ที่ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งดาวหาง252P/LINEAR มีคาบการโคจร 5.32 ปี ส่วน ดาวหาง P/2016BA14 มีคาบการโคจร 5.25 ปี

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา ภายใต้หน่วยงาน NASA's Center of NEO Studies (CNEOS) ได้ให้ความเห็นว่า ดาวหาง P/2016BA14 อาจเป็นชิ้นส่วนที่แตกออกมาจาก 252P/LINEAR ซึ่งขนาดใหญ่และสว่างกว่า มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 230 เมตร และจะโคจรผ่านโลกไปก่อนด้วยระยะห่างประมาณ 5.2 ล้านกิโลเมตร ในวันที่ 21 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 19:14 น. ตามเวลาประเทศไทย นักดาราศาสตร์จึงวางแผนใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลในการเก็บข้อมูลดาวหาง 252P/LINEAR และใช้กล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นวิทยุและอินฟราเรดเก็บข้อมูลของ P/2016BA14 ช่วงที่โคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด เพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยดังกล่าว

ในอดีตที่ผ่านมา ดาวหางที่เข้ามาเฉียดใกล้โลกที่สุดเป็นอันดับ 1 เท่าที่มีข้อมูลยืนยัน ได้แก่ ดาวหางเล็กเซลล์ ค้นพบโดย ชาร์ล เมซิเย นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ดาวหางเล็กเซลล์เข้ามาเฉียดใกล้โลกที่สุด เมื่อ 246 ปีที่แล้ว ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2313 ที่ระยะห่างเพียง 2.2 ล้านกิโลเมตร การโคจรเข้ามาเฉียดโลกของดาวหางแพนสตารส์ (P/2016 BA14) ในวันที่ 22 มีนาคม 2559 นี้ จึงนับว่าเป็นการเข้ามาใกล้โลกที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประวัติศาสตร์การเข้ามาเฉียดโลกของดาวหาง ที่ระยะทาง 3.4 ล้านกิโลเมตร

ภาพถ่ายดาวหาง P/2016BA14 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2559 จากกล้องโทรทรรศน์ 0.7 เมตร หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ขณะกำลังเคลื่อนที่ผ่านกลุ่มดาวสุนัขใหญ่มุ่งหน้าสู่กลุ่มดาวม้าเขาเดียว ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (มุมล่างขวาไปยังด้านบนซ้าย) จากภาพ ดาวหางปรากฏลักษณะเป็นเส้น แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ที่เป็นฉากหลัง แต่ละเส้นใช้เวลาถ่ายห่างกันหนึ่งนาที พื้นที่ในภาพมีขนาดประมาณ 10X10 อาร์คนาที ขณะถ่ายภาพ ดาวหาง P/2016BA14 มีความเร็วประมาณ 20 อาร์ควินาที/นาที เคลื่อนที่จากมุมล่างขวาไปยังด้านบนซ้ายใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook