"ทำฟัน 600" ถึงเวลา สปส.คิดใหม่เพื่อสิทธิผู้ประกันตนอย่างแท้จริง!
ไม่รู้มีใครคิดเหมือนกับผมบ้างว่า "สิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม ในเรื่องค่ารักษาดูแลฟัน ทำไมเขาให้แค่ 600บาทต่อปี" ทำไมมันน้อยนิด ไม่สอดคล้องกับ ค่าทำฟันทั้งในโรงพยาบาลและคลินิกรับรักษาฟันเอาเสียเลย ..?
ค่าทำฟัน 600 บาท ต่อปี ไม่ว่าจะให้เบิกก่อน แบ่งเบิกอะไรก็แล้วแต่ มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเอาเสียเลย งบประมาณ 600 บาทต่อปี ก็คงจะทำได้แต่ไปขูดหินปูน ได้ปีละครั้งเท่านั้น..ซึ่งหากเกิดอาการอื่นแทรกขึ้นมาปวดฟันต้องรักษาขึ้นมา รับรองต้องได้ควักเงินในกระเป๋าตัวเองออกมาจ่ายแน่ๆ
และด้วยระเบียบหยุมหยิมต่างๆที่สร้างขึ้นมาทำให้ ผู้ประกันตน บางคน อย่างผม รู้สึกถึงความไม่สะดวก และพลอยไม่ไปใช่บริการแม้กระทั้งขูดหินปูนเพื่อเป็นการป้องกันรักษาโรคในช่องปากเอาเสียเลย..
ครั้นจะไปใช้บริการของคลินิกหรือโรงพยาบาลที่อยู่นอกสิทธิ ก็เจอราคาที่เรียกได้ว่า หากไม่เจออาการที่สุดๆไม่มีทางที่จะเข้าไปใช้บริการเด็ดขาด
และประเด็นในเรื่องค่ารักษาเรื่องทำฟันนี้ เป็นประเด็นที่มีการเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขจากกองทุนประกันสังคมมานานหลายปี แต่ก็ดูเหมือนไม่ได้รับการตอบสนองเอาเสียเลย ทั้งๆที่สุขภาพของช่องปากเป็นสิ่งสำคัญอาจจะส่งผลไปยังร่างการให้เกิดโรคภัยอื่นๆขึ้นมาได้ แต่ สิทธิในเรื่องรักษาพยาบาลช่างน้อยนิดเสียเหลือเกิน
ทั้งนั้นทั้งนี้ ผู้ประกันตน ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนในทุกๆเดือน โดยที่บางคนก็ไม่เคยใช้สิทธิรับการรักษาใดๆ และเม็ดเงินของกองทุนประกันสังคมก็มีมากมหาศาลเอาไปลงทุนให้เกิดดอกผลจำนวนมาก แต่ทำไมถึงไม่สามารถ ดูแลในเรื่องสิทธิในเรื่องการทำฟันให้สมาชิกได้..?
ถึงวันนี้ ประเด็นการเรียกร้องให้ กองทุนประกันสังคมปรับปรุงสิทธิในเรื่องดังกล่าวก็ยังเป็นประเด็นอยู่โดยล่าสุด
ทพญ.มาลี วันทนาศิริ ทันตแพทย์โรงพยาบาล (รพ.) ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ในฐานะประธานเครือข่าย ฟ.ฟัน สร้างสุข ได้ออกมาพูดในเรื่องเหล่านี้ว่า
"ถึงเวลาต้องปรับปรุงกรณีที่ให้ผู้ประกันตนสำรองทั้งกรณีทำฟัน อุดฟัน ถอนฟัน และขูดหินปูน ในวงเงิน 600 บาทต่อปี เพราะปัจจุบันลูกจ้างรายวันมีรายได้เพียง 300 บาท แต่ขั้นตอนการเบิกเงินยุ่งยาก ทั้งเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายสูง.....บอร์ดประกันสังคมควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เพิ่มวงเงินทันตกรรมเท่านั้น เพราะเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ค่าครองชีพสูงขึ้นก็ต้องมาปรับเปลี่ยนอีก
ดังนั้น เรื่องวงเงินควรกำหนดเป็นไปตามภาวะโรค คือ หากต้องอุดฟัน ถอนฟัน หรือขูดหินปูนในคราวเดียวกัน หรือความจำเป็นใดๆ ก็ตาม ควรได้รับสิทธิการรักษาร่วมกันทั้งหมด ส่วนเรื่องการสำรองจ่ายนั้น ควรมีการปรับเปลี่ยนระบบใหม่ โดย สปส.ควรมีการกำหนดราคากลางสำหรับสิทธิทันตกรรม และทำข้อตกลงร่วมกับคลินิกเอกชนหรือโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาทันตกรรมอย่างแท้จริง"
ข้อเสนอดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุนที่สุด ถึงเวลาหรือยังที่ สปส..จะต้องทบทวน ในเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที หันมาดูแลใส่ใจสร้างสุขภาพให้ประชาชน ผู้ประกันตนอย่างแท้จริงเสียทีเถิด...
โดย : เปลวไฟน้อย