กทม.ปิดป้ายไล่ ‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’ ขีดเส้น 30 เม.ย. ชาวบ้านถามให้ไปอยู่ไหน
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/ns/0/ud/394/1971222/news05.jpgกทม.ปิดป้ายไล่ ‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’ ขีดเส้น 30 เม.ย. ชาวบ้านถามให้ไปอยู่ไหน

    กทม.ปิดป้ายไล่ ‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’ ขีดเส้น 30 เม.ย. ชาวบ้านถามให้ไปอยู่ไหน

    2016-03-28T15:24:37+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    ความคืบหน้ากรณีชาวชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร ร่วมกับนักวิชาการจำนวนหนึ่ง เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการรื้อย้ายชุมชนเพื่อปรับปรุงพื้นที่เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเรื่องนี้ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี นั้น

    เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่สำนักการโยธา และ สำนักงานเขตพระนคร กทม.ได้นำป้ายประกาศแจ้งการรื้อย้ายชุมชนป้อมมหากาฬไปปิดที่กำแพงป้อมเพื่อกดดันให้ชาวบ้านซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 15 หลังคาเรือน ออกจากพื้นที่ ขณะที่บรรยากาศภายในชุมชนค่อนข้างเงียบเหงา ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า จะไม่ย้ายออกจากพื้นที่อย่างเด็ดขาด

    "ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายการอนุรักษ์ป้อมและกำแพงพระนคร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งป้อมมหากาฬถือเป็นพื้นที่หนี่งที่ต้องมีการอนุรักษ์ โดยที่ผ่านมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ประกอบกับพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ กทม.และกรมศิลปากร ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณป้อมมหากาฬ ตั้งแต่ปี 2545 และในปี 2547 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ กทม.สามารถเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างได้"

    "ซึ่งในการรื้อย้ายบ้านเรือนภายในชุมชนป้อมมหากาฬนั้น กทม.ได้ดำเนินการจ่ายค่าทดแทนและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดแล้ว ดังนั้นขณะนี้จึงเป็นเวลาอันสมควรที่ กทม.จะขอความร่วมมือให้ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าวรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ โดยกำหนดวันให้รื้อย้ายได้ภายในวันที่ 30 เมษายน 2559 ทั้งนี้ กทม.จะเปิดบริการเกี่ยวกับการจัดหาที่อยู่อาศัยอื่นๆ ให้แก่ประชาชน โดยร่วมกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดบริการแก่ประชาชนชุมชนป้อมมหากาฬ ในวันที่ 19 เมษายนนี้"

    นายพีระพล เหมรัตน์ รองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ เปิดเผยว่า ชาวบ้านในชุมชนทราบเรื่องและติดตามข่าวสารมาโดยตลอด หากมีการรื้อย้ายตามประกาศนี้จริง ชาวชุมชนกว่า 300 คน กทม.จะให้ไปอยู่ที่ไหน

    "ก่อนหน้านี้ กทม.เคยจ่ายเงินชดเชยให้ชาวชุมชนแล้ว เอาไปปล่อยทิ้งที่การเคหะฯ มีนบุรีและหนองจอก ก่อนที่จะมีระบบสาธารณูปโภคเข้าถึงด้วยซ้ำ รวมทั้งการเคหะฯ มีระยะทางที่ไกลจากชุมชนเดิมมาก อาชีพที่ทำอยู่ก็ไม่ได้ตามไปที่การเคหะฯ ส่วนคำสั่งที่มาปิดประกาศนี้ ชาวชุมชนไม่มีใครเตรียมตัวที่จะรื้อย้าย และไม่ขอคุยเรื่องกฎหมาย อยากให้คุยเรื่องสิทธิมนุษยชนมากกว่า หากเจ้าหน้าที่เข้ามารื้อย้ายพื้นที่ป้อมมหากาฬจริง อาจเกิดศึกบางระจัน 2 ขึ้นอีกครั้งก็ได้" นายพีระพล กล่าว

    นอกจากนี้ การที่ กทม.จะพัฒนาพื้นที่ป้อมมหากาฬให้เป็นสวนสาธารณะนั้น ควรมีสิ่งมีชีวิตร่วมอยู่ด้วย ซึ่งชาวชุมชนพร้อมจะเป็นอาสาเฝ้าเวรยาม ดูแลรักษาสวนสาธารณะให้ ขณะเดียวกัน ทีมงานชุมชนป้อมมหากาฬอยู่ระหว่างทำหนังสือขอเข้าพบ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.เพื่อขอเปิดเวทีเจรจาและยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ ดังนี้ 1.ขอคืนเงินชดเชยทั้งหมดโดยจะผ่อนชำระเป็นงวด และขอแบ่งพื้นที่อยู่อาศัยร่วมกันด้วยการเช่าพื้นที่ระยะยาว 2.ขอเป็นเวรยามดูแลพื้นที่ 3.ดูแลรักษาสวนสาธรณะแห่งนี้ 4.ให้ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นแหล่งท่องเที่ยว และ 5.เป็นชุมชนตัวอย่างที่ทำงานควบคู่กับหน่วยงานรัฐ

    ด้าน นายสมชัย ไตรพิทยากุล ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพระนคร กล่าวว่า ประชาชนที่ต้องการจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างสามารถแจ้งความประสงค์ไปยังเขต เพื่อประสานกองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา กทม.ดำเนินการรื้อย้าย และว่า เรื่องเขตพระนครไม่สามารถตอบคำถาม หรืออธิบายรายละเอียดกับประชาชนได้ เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจ