นักวิจัยขอแนะ! หนังสือเรียนลูกป.5 ให้ข้อมูลฟ้อนไหมผิด

นักวิจัยขอแนะ! หนังสือเรียนลูกป.5 ให้ข้อมูลฟ้อนไหมผิด

นักวิจัยขอแนะ! หนังสือเรียนลูกป.5 ให้ข้อมูลฟ้อนไหมผิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

(8 พ.ค.) ในโลกออนไลน์มีการแชร์เฟซบุ๊ก Thitinadda Chinachan โดยเป็นคุณแม่รายหนึ่ง ซึ่งมีอาชีพเป็นนักวิจัย พบหนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ศิลปะ ป.5 ของลูกสาว ที่ให้ข้อมูลเรื่องการรำฟ้อนไหมผิด และเขียนแก้ไขข้อมูลในหนังสือดังกล่าวทันที

โดยกำชับลูกว่าหากครูสงสัยให้บอกว่าแม่เป็นนักวิจัย เก็บข้อมูลมาจากต้นฉบับซึ่งเป็นลูกสาวของคนที่คิดประดิษฐ์ฟ้อนนี้ โดยข้อความทั้งหมดมีดังนี้

"ไหนๆ ก็ไหนๆ ขอให้ข้อมูลเท่าที่พอรู้มาก็แล้วกันนะคะว่าฟ้อนสาวไหมมีความเป็นมาอย่างไร เผื่อพ่อแม่ผู้ปกครองที่ลูกใช้หนังสือ ศิลปะ ป.5 จะได้เอาไปยืนยันกับครูได้

การฟ้อนสาวไหมเป็นการฟ้อนประดิษฐ์ใหม่ที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยพ่อครูกุย สุภาวสิทธิ์ พ่อครูกุยมีถิ่นฐานเดิมอยู่บ้านแม่ก๊ะ (ถ้าจำไม่ผิดและจำไม่สับสนกับพ่อครูคำสุข ช่างสาน) อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ต่อมาย้ายถิ่นฐานไปมีครอบครัวอยู่ที่บ้านศรีทรายมูล อ.เมือง จ.เชียงราย

พ่อครูกุยเคยเรียนเจิงหรือศิลปะการต่อสู้กับบรมครูของล้านนาชื่อพ่อครูปวน คำมาแดง บ้านร้องวัวแดง อ.สันกำแพง ซึ่งพ่อครูปวนนี้เรียนศิลปะการต่อสู้กับครูนับสิบสำนัก และพัฒนามาเป็นเจิงของตนเอง มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วล้านนา แม่ท่าหนึ่งของเจิงพ่อครูปวนที่อาจจะนับเป็น signature ของเจิงสายนี้คือการสาวไหม (จริงๆ แล้วแม่ท่าสาวไหมก็ปรากฏในเจิงของอีกหลายสำนัก แต่มีท่วงท่าการฟ้อนและการตีความต่างกันไป) อ.สนั่น ธรรมธิ ซึ่งเป็นศิษย์ของพ่อครูคำสุข ช่างสาน (ซึ่งพ่อครูคำสุขเป็นศิษย์รุ่นท้ายๆ ของพ่อครูปวนและเป็นศิษย์น้องของพ่อครูกุย) เคยให้ชื่อว่า "สาวไหมลายเจิง"

พ่อครูกุยได้ถ่ายทอดเจิงให้ลูกสาวลูกชาย แต่คนที่มีพรสวรรค์ในศิลปะการแสดงมากที่สุดคือ ด.ญ.บัวเรียว สุภาวสิทธิ์ (ต่อมาแต่งงาน ใช้นามสกุล รัตนมณีภรณ์) แต่ภรรยาของพ่อครูกุยก็ไม่อยากให้ลูกสาวไปฟ้อนเจิงโลดโผนเหมือนผู้ชาย พ่อครูกุยจึงคิดประดิษฐ์ท่าฟ้อนที่อ่อนช้อยสำหรับผู้หญิงเพื่อให้ลูกสาวได้ฟ้อน โดยอาศัยวิถีชีวิตชาวบ้านมาเป็นแรงบันดาลใจ คือขั้นตอนของการปลูกฝ้าย ทอผ้า ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนล้านนาที่ทอผ้าฝ้ายใช้กันเอง ส่วนผ้าไหมนั้น ทางล้านนามีน้อยมาก เข้าใจว่าเริ่มมานิยมกันหลังจากที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีเสด็จกลับมาอยู่เชียงใหม่อย่างถาวรตั้งแต่ปี พ.ศ.2457 ก็ได้มาส่งเสริมการทอผ้ายกดอก แต่ก็นิยมในวงของคนชั้นสูง ในคุ้มเท่านั้น ชาวบ้านก็ยังใช้ผ้าฝ้ายกันตามปกติ (หากนัดเข้าใจตรงนี้คลาดเคลื่อน รบกวนพ่อครูแม่ครูด้านผ้าทอแก้ไขให้ด้วยนะคะ)

การประดิษฐ์การฟ้อนสาวไหมนี้ แม่ครูบัวเรียวได้นำท่าฟ้อนที่พ่อครูกุยสอนให้ไปฟ้อนให้พ่อครูโม ใจสม พ่อครูดนตรีไทยที่อพยพมาจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่หลังสงครามโลกและตั้งวงดนตรีที่วัดศรีทรายมูลได้ดู พ่อครูโมได้ช่วยปรับท่าและใช้ดนตรีปี่พาทย์เพลง ลาวสมเด็จ เพื่อใช้ประกอบการฟ้อน

ฟ้อนสาวไหมได้เผยแพร่ไปทั่วเชียงรายด้วยการฟ้อนของแม่ครูบัวเรียว ซึ่งครูพลอยสี สรรพศรี ได้มาต่อฟ้อนกับแม่ครูบัวเรียวและขออนุญาตปรับปรุงท่าฟ้อนบางท่าเพื่อเผยแพร่ให้แก่นักเรียนนาฏศิลป์ ซึ่งท่าฟ้อนเหล่านั้นจะใช้นาฏยลีลาของกรมศิลป์มาผสมผสาน ต่อมาการฟ้อนสาวไหมที่เผยแพร่ผ่านวิทยาลัยนาฏศิลป์จะเรียกกันว่าสาวไหมนาฏศิลป์ นิยมใช้เพลงปั่นฝ้ายเป็นดนตรีประกอบ ในขณะที่การฟ้อนสาวไหมของแม่ครูบัวเรียวมักจะเรียกกันว่าสาวไหมเชียงราย เพลงที่ใช้ประกอบการฟ้อนไม่ได้ตายตัวว่าจะต้องเป็นเพลงปั่นฝ้ายเท่านั้น แต่ที่แน่ๆ คือใช้วงสะล้อซึง หรือปี่พาทย์ แต่ไม่ใช่วงกลองตึ่งโนงเหมือนฟ้อนเล็บหรือฟ้อนเทียน

หากข้อมูลตรงไหนผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป รบกวนแม่ครูบัวเรียวและลูกศิษย์ลูกหาแม่ครูช่วยแก้ไข เพิ่มเติมด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Thitinadda Chinachan

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook