ผบช.น.ยันไม่ขัดDSIขอโอนคดี ซานติก้าผับ ไปทำเอง
นครบาลไม่ขัดหาก ดีเอสไอ เสนอนายกฯขอคลี่คลายคดี ซานติก้าผับ ผบช.น.โบ้ย แจงข้อเท็จจริงพยานหลักฐานในสำนวนคดีขัดแย้ง กระทรวงยุติธรรม โยนลูก จงรัก มีอำนาจชี้แจงฐานะ หัวหน้าคณะทำงาน ตร. เผยสถิติ 3 คดีดัง 10 ปีย้อนหลังนครบาล ขัดแย้ง คุณหญิงหมอ
(3ก.พ.) เวลา 12.30 น. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น. กล่าวถึงความขัดแย้งในส่วนพยานหลักานข้อเท็จจริงคดีเพลิงไหม้ซานติก้าผับระหว่างคณะทำงานสอบสวนกระทรวงยุติธรรมและคณะทำงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ระบุว่า นักร้องวงเบิร์นเป็นแพะรับบาปว่า คดีที่เกิดขึ้นเป็นคดีใหญ่ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ลงมาคุมเองและตั้งเป็นคณะทำงานดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง มี พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผบ.ตร. เป็นประธานคณะทำงาน ตำรวจนครบาลเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการรวบรวมหลักฐานการสอบสวนเท่านั้น ส่วนการชี้แจงข้อเท็จจริงนั้นคงต้องเป็นหน้าที่ของ พล.ต.อ.จงรัก และมีการสรุปสำนวนการสอบสวนปิดคดีไปแล้ว แต่หากผลการสอบสวนยังเชื่อมโยงไปถึงใครตำรวจก็พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย
" สำหรับเทปหลักฐานที่กระทรวงยุติธรรมเก็บรวบรวมไว้เองและนำมาฉายให้ดูสามารถทำได้หรือไม่นั้น อยู่ที่กระบวนการสอบสวนหรือสืบสวนอย่างไร ในการสืบสวน หากสมมุติว่ามีคดีเกิดในนครบาล ทางกองปราบปรามก็มีอำนาจสืบสวน ซึ่งขณะเดียวกันกระทรวงยุติธรรมหรือดีเอสไอก็มีอำนาจสืบสวนได้ แต่ถ้าการสอบสวนต้องเป็นไปตาม ป.วิอาญา มีอำนาจและเขตอำนาจ ถ้าดีเอสไอจะเอาไปทำอะไรต้องมีการประชุมของคณะกรรมการคดีพิเศษว่า คดีนี้เป็นคดีพิเศษดีเอสไอจะรับไปดำเนินการ จากนั้นเขาก็ถือว่ามีอำนาจหน้าที่ เช่น ถ้าเกิดในนครบาล ตำรวจนครบาลก็ทำเพราะเป็นอำนาจตาม ป.วิอาญา อยู่แล้ว แต่ถ้ากองปราบปรามจะรับไปทำ ก็ต้องอยู่ที่ว่าจะขอทำฝ่ายเดียวหรือขอร่วมทำ ซึ่งกระบวนการนั้นก็ต้องแสวงหาอำนาจ คือขออนุมัติจาก ตร. ว่า จะเข้ามาสอบสวนแต่ฝ่ายเดียวหรือร่วมกันสอบสวน ซึ่งเขตอำนาจกองปราบทั่วราชอาณาจักรเขามี แต่เขาก็ยังไม่มีหน้าที่ยกเว้นได้รับอนุมัติเสียก่อน แต่ถ้าเป็นการสืบสวนไม่มีปัญหา สามารถดำเนินการได้เลย " ผบช.น. กล่าวและว่า
ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวก็ถูกต้อง รวมทั้งกรณีที่แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ตรวจพบอะไรทางตำรวจก็รับทราบ และดำเนินการอยู่ ส่วนทางคดีนั้น หาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะเสนอ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นคดีพิเศษและโอนงานให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ทำ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของเขา ซึ่งเราก็คงไม่ขัดข้อง เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว นครบาลไม่ขัดข้อง
ต่อข้อถามว่า ตำรวจรู้มาก่อนหรือไม่ว่ามีเทปดังกล่าวมีอยู่ พล.ต.ท.สุชาติ กล่าวว่า ต้องถามพนักงานสอบสวน เพราะว่าส่วนหนึ่ง ตร.เข้ามาดำเนินการ เพราะเป็นรูปการตั้งคณะทำงาน หากพูดไปเดี๋ยวจะไม่ตรง รายละเอียดในการสอบ สำนวนการสอบสวนเป็นอย่างไร และอาจจะดูเหมือนขัดแย้งกันอยู่ คงต้องให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนที่ควบคุมเป็นคนชี้แจงจะเหมาะสมกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ พล.ต.ท.สุชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวนั้นไม่มีท่าทีเคร่งเครียดแต่อย่างใด จากนั้นได้รีบเดินกลับ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ออกมาชี้แจงถึงความขัดแย้งข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วผ่านทางสื่อมวลชนทุกแขนง อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า หากย้อนกลับไปตรวจสอบคดีอาชญากรรมใหญ่ๆที่เกิดขึ้นพื้นที่นครบาลสมัยที่ พล.ต.อ.จงรัก รับผิดชอบด้านการสอบสวนในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคลี่คลาย เมื่อครั้นอยู่ในตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คุมงานสอบสวนจนได้รับ " ฉายาว่ามือสอบสวนนครบาล " นั้นพบว่า การสรุปสำนวนคดีแต่คดีโดยเฉพาะคดีสำคัญเมื่อหลาย 10 ปีก่อน
อาทิ คดีการเสียชีวิตของนายห้างทอง ธรรมะวัฒนะ ในห้องพักของนายนพดล ธรรมะวัฒนะ น้องชายเมื่อ 10 กว่าปีก่อน คดียิงนายบุญเลี้ยง อดุลยฤทธิกุล ( เสี่ยเลี้ยง ) ผู้กว้างขวางวงการธุรกิจคาเฟ่เมืองไทย เสียชีวิตในลิฟท์เมื่อปี 2540 และคดียิงนายปรีณะ ลีพัฒนะพันธุ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ในห้องพักโรงแรมแห่งหนึ่งย่านรามคำแหง เมื่อปี 2544 ซึ่ง พล.ต.ต.จงรัก (สมัยนั้น ) กำกับดูแลการสอบสวนอย่างใกล้ชิด ต่างก็มีความขัดแย้งกันขึ้นในส่วนของพยานหลักฐานทางคดีที่สองฝ่ายคือ พนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาลกับคณะทำงานกระทรวงยุติธรรมมาโดยตลอด โดยเฉพาะคณะทำงานของ พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ กระทั่งมีการทดสอบและสาธิตวิธีการยิงปืนด้วยกระสุนลูกปลายจำลองเหตุการณ์นายห้างทองยิงตัวตาย ซึ่งขัดแย้งกับคณะทำงานกระทรวงยุติธรรมที่ ระบุว่า สาเหตุการตายของนายห้างทองนั้นเป็นการฆาตกรรม ส่งผลให้ประชาชนเกิดความฉงนสงสัยขึ้นในขณะนั้นจนกลายเป็นที่กล่าวขานในวงการสีกากีของนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่านนี้