ดร.ธรณ์ วางแผนปิด "เกาะตาชัย" ถาวร ไม่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีก

ดร.ธรณ์ วางแผนปิด "เกาะตาชัย" ถาวร ไม่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีก

ดร.ธรณ์ วางแผนปิด "เกาะตาชัย" ถาวร ไม่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภายหลังอธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สั่งปิดการท่องเที่ยวบริเวณหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา บริเวณพื้นที่บนหาด และแนวปะการังรอบเกาะตาชัย ไม่มีกำหนด

ล่าสุด (29 พ.ค.) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการทางทะเล ได้มีการโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า สำนักงานเลขาท่านนายกรัฐมนตรีฯ ได้ติดต่อสอบถามความคืบหน้าของเกาะตาชัยหลังจากมีคำสั่งปิดการท่องเที่ยวบนเกาะ กรมอุทยานฯ ประสานผมให้ช่วยนำเสนอแผนประกอบการพิจารณา ผมดูจากแนวทางที่ท่านรัฐมนตรีสุรศักดิ์บอกไว้ “รักษาให้เป็นสมบัติของชาติ” และตามที่ท่านอธิบดีธัญญาเน้นย้ำ “เขตสงวนสภาพธรรมชาติ” เพราะฉะนั้น

1. เกาะตาชัยจะไม่หวนกลับไปเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้คนเนืองแน่น เกาะตาชัยไม่ใช่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และไม่เคยเป็นเขตท่องเที่ยวในแผนใดๆ
2. จะไม่มีการสร้างอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการนักท่องเที่ยวบนเกาะเด็ดขาด
3. ในอนาคตหากมีการไปเกาะตาชัยจะไปในรูปแบบเรียนรู้ธรรมชาติเท่านั้น เช่น ค่ายเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์ ฯลฯ ที่มีกฎกติกาเป็นพิเศษ
4. การไปดูงานหรือไปศึกษาวิจัยใด ๆ ต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมอุทยานฯ เท่านั้น
5. ควรสนับสนุนหน่วยพิทักษ์บนเกาะตาชัยเป็นพิเศษ ทั้งเรือตรวจการณ์ เจ้าหน้าที่ เครื่องปั่นไฟ และอุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร เพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย
6. หลายฝ่ายเป็นห่วงเรื่องการประมงผิดกฎหมาย แต่ท่านอธิบดีได้เน้นย้ำตรงนี้กับหัวหน้าอุทยานทุกท่านเป็นพิเศษ การตรวจการณ์รอบเกาะตาชัยอาจต้องทำอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น

เมื่อกรอบแนวคิดชัดเจน มาถึงการแบ่ง "เขตในพื้นที่" ผมยึดตามแนวทางที่ท่านรัฐมนตรีและท่านอธิบดีแถลงไว้ ได้แก่ "รักษา" และ "ฟื้นฟู" เมื่อนำทั้งสองคำ มาใช้กับพื้นที่เกาะตาชัย เราจะได้ 3 เขต ได้แก่
- เขตป่าชายหาดและชายหาด (Beach Forest & Sandy Beach)
- เขตปะการังด้านใน (Reef Flat)
- เขตแนวปะการังด้านนอก (Reef Edge & Reef Slope)

ผมลงแผนที่พอให้เห็นภาพว่า เราแบ่งเขตอย่างไร กิจกรรมในแต่ละเขตจะควบคู่กันไป ทั้งการฟื้นฟูสภาพให้กลับมาเป็นธรรมชาติ และการรักษาสภาพธรรมชาติให้ดำรงอยู่ รายละเอียดของกิจกรรมคงไม่สามารถอธิบายได้ในนี้ แต่บอกได้ว่ามีงานวิจัยหลายอย่างที่กำลังหาทางจัดการปัญหาปะการังฟอกขาว เช่น Super Coral - เพิ่มสาหร่ายให้ปะการัง ฯลฯ

นอกจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลฯ และสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเล ยังมีการศึกษาเรื่องการฟื้นฟูปะการังมายาวนาน อาจนำงานต่างๆ ทำร่วมกับกรมอุทยานฯ ในพื้นที่เกาะตาชัยที่ไม่ควรลืมคืองานฟื้นฟู/รักษาป่าชายหาดและหาดทราย เราสามารถนำเกาะตาชัยมาเป็นสถานที่ต้นแบบ โดยไม่ต้องห่วงเรื่องผลกระทบจากมนุษย์ อยากอธิบายเพิ่มว่า ป่าชายหาดเป็นระบบนิเวศป่าที่โดนคนถล่มมากที่สุด ปัจจุบันเราเหลือป่าชายหาดที่สมบูรณ์เพียงไม่กี่พันไร่ สุดท้ายคือลำดับ 3 ขั้นตอน ที่แบ่งเป็นระยะวางแผน (ช่วงมรสุม) ระยะทำงาน (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 59 เป็นต้นไป) และระยะติดตามผล (ควบคู่ไปกับระยะทำงานและมีการประเมินตามช่วงเวลา)

หากทำทุกอย่างได้ เกาะตาชัยจะกลายเป็นเขตสงวนอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาวิจัยทั้งด้านป่าไม้และทะเลที่ปราศจากผลกระทบจากมนุษย์ สำคัญสุดคือเป็นสถานที่เก็บไว้อวดลูกหลานและชาวโลกว่า ‪#‎ระบบนิเวศเกาะในอันดามันที่บริสุทธิ์สมบูรณ์ควรเป็นเช่นใด‬

แน่นอนว่ากรมอุทยานต้องพิจารณารายละเอียดของแผน สอบถามความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น และวางแผนสอดคล้องกับการจัดการอุทยานหมู่เกาะสิมิลันที่เพิ่งมีการปรับเปลี่ยนหัวหน้าอุทยานท่านใหม่ แต่นำมาให้เพื่อนธรณ์อ่าน เพื่อยืนยันว่า "ปิด" มิใช่เพียงแค่ "ปิดไว้เฉยๆ" เราเคยมีบทเรียนจากอดีตมาแล้ว

คำถามว่า "จะเปิดเมื่อไหร่" จึงไม่มีคำตอบ เพราะหนนี้ไม่ใช่การ "ปิดเพื่อรอเปิดใหม่" แต่เป็นการ "คุ้มครองตาชัย" จากการใช้ของคนรุ่นเรา เพื่อเป็นมรดกธรรมชาติแก่คนรุ่นต่อไป นั่นแหละคือความหมายของ "เขตสงวนในอุทยานแห่งชาติ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook