GT200 เครื่องจับวัตถุระเบิดหรือแค่เสาลวงโลก ค่าโง่เฉียดพันล้านของไทย

GT200 เครื่องจับวัตถุระเบิดหรือแค่เสาลวงโลก ค่าโง่เฉียดพันล้านของไทย

GT200 เครื่องจับวัตถุระเบิดหรือแค่เสาลวงโลก ค่าโง่เฉียดพันล้านของไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงหนึ่งสังคมเคยสงสัยและถกเถียงกันถึงเรื่องอุปกรณ์ตรวจสอบวัตถุระเบิดและยาเสพติดที่เรียกว่า GT200 ซึ่งถูกผลิตและจัดจำหน่ายโดยบริษัท โกลบอลเทคนิค จำกัด ผู้ผลิตในสหราชอาณาจักร โดยได้อวดอ้างสรรพคุณครอบจักรวาลว่าสามารถตรวจสอบสารแปลกปลอมได้ทุกชนิดทั้งบนบกและในน้ำ ที่สำคัญสามารถสร้างยอดขายได้หลายร้อยล้านดอลลาร์ทั่วโลก

ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้นนักวิชาการอิสระได้ออกมาคัดค้านและขอให้ตรวจสอบเรื่องประสิทธิภาพของ GT200 เนื่องจากเห็นว่าไม่สามารถใช้งานได้จริง เช่น ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และท้ายที่สุดจึงมีการทดสอบโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในช่วงกลางเดือน ก.พ. 2553

พบว่า เครื่อง GT200 ตรวจพบวัตถุระเบิดเพียง 4 ครั้ง จากการทดสอบ 20 ครั้ง ซึ่งไม่มากไปกว่าการตรวจหาโดยการสุ่ม ผลการทดสอบนี้ทำให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นสั่งยกเลิกการจัดซื้อเครื่อง GT200 เพิ่มเติม และให้หน่วยงานที่ใช้อยู่ทบทวนเรื่องการใช้งาน

และเพื่อเป็นการตอกย้ำความไร้ประสิทธิภาพของเครื่อง GT200 เจ้าของบริษัทผู้ผลิตคือ นายเจมส์ แมคคอร์มิค อดีตนักธุรกิจชาวอังกฤษกลายเป็นผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอมถูกพิพากษาให้จำคุก 10 ปี เมื่อปี 2556 และล่าสุด เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 นายเจมส์ แมคคอร์มิค ยังถูกพิพากษาให้ยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 7.9 ล้านปอนด์ (ราว 395 ล้านบาท)

เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของ นายแมคคอร์มิค และพรรคพวก ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าว โดยที่ผ่านมา นายแมคคอร์มิค มีรายได้มากกว่า 50 ล้านปอนด์ (ราว 2,500 ล้านบาท) จากการจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม ซึ่งดัดแปลงจากอุปกรณ์ค้นหาลูกกอล์ฟ ต้นทุนประมาณ 14 ปอนด์ต่อเครื่อง (ราว 700 บาท)

แต่ นายแมคคอร์มิค จำหน่ายเครื่องดังกล่าวให้แก่ทหาร ตำรวจ หน่วยตระเวนชายแดน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในประเทศต่างๆ ทั่วโลกในราคาเครื่องละประมาณ 3,500 ปอนด์ (ราว 1.75 แสนบาท) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย

คราวนี้เรามาดูกันว่าประเทศไทยเสียเงินไปเท่าไหร่ในการซื้อเครื่องมือลวงโลกนี้

จากการรายงานของสำนักข่าวอิศราได้เผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ พบว่า นับตั้งแต่ปี 2550 -2553 มีหน่วยงานรัฐ 7 หน่วยงาน ที่จัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด หรือ GT200 มาใช้งาน รวมจำนวน 19 สัญญา คิดเป็นวงเงินทั้งสิ้น 688,287,264.49 บาท (เท่าที่ตรวจสอบพบ)

โดยพบว่ากรมสรรพาวุธทหารบกจัดซื้อมากสุด 11 สัญญา 659 ล้าน ซึ่งหากค้นหาข้อมูลที่ครบถ้วนตัวเลขอาจพุ่งสูงไปเตะเหยียดพันล้านก็เป็นไปได้

ณ ตอนนี้คำถามคือประเทศไทยจะได้รับเงินชดเชยจากบริษัทผู้ผลิตหรือไม่ ซึ่งความหวังยังคลุมเครือเนื่องจากประเทศไทยไม่อยู่ในรายชื่อที่ได้รับการชดเชยทั้งที่เป็นลูกค้าชั้นดี และที่มากไปกว่านั้นเงินที่สูญเสียไปจากการจัดซื้อจัดจ้าง GT200 เกิดจากการทุจริตหรือไม่ เพราะถ้าหากโปร่งใสจริงทำไมไม่มีการตรวจสอบอุปกรณ์อย่างจริงจังก่อนซื้อ แต่กลับมาตรวจในภายหลังเมื่อตอนที่สังคมสงสัยและสุดท้ายอุปกรณ์ก็ใช้ไม่ได้จริง

แบบนี้ภาษาชาวบ้านเค้าเรียกว่า "เสียค่าโง่" ประชาชนตาดำๆ ได้แต่หวังว่าค่าโง่ราคาแพงระดับพันล้านคงเป็นบทเรียนให้กับประเทศไทย ได้ตระหนักถึงการใช้ภาษีของประชาชนอย่างรู้คุณค่าคุ้มราคาจริงๆ เสียที ไม่เช่นนั้นเราอาจจะต้องเห็นเรื่องลวงโลกเช่นนี้อีกต่อไป และถ้าหากเอาค่าโง่ซ้ำซากที่ต้องจ่ายไปมารวมกัน ป่านนี้ประชาชนคงรวยกันเป็นล้านแล้วกระมัง

ล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่ศาลอังกฤษตัดสินยึดทรัพย์ผู้ผลิตเครื่องตรวจวัตถุระเบิดปลอม GT200 ว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนเองดูแลเรื่องดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องใช้เวลาศึกษารวบรวมข้อมูล

เบื้องต้นคาดว่าจะให้สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้ดำเนินการฟ้องบริษัทที่ทำให้รัฐเสียหาย ส่วนรัฐบาลจะมีความผิดในการจัดซื้อหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับกระบวนการที่ผ่านมาว่ามีการทุจริตหรือไม่  

สำหรับความเสียหายของหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยที่ซื้อเครื่องดังกล่าวทั้งหมด รวมกันมีมูลค่าประมาณ 600-800 ล้านบาท "วอนสื่ออย่าเรียกค่าโง่ ให้เรียกเป็นค่าซื้อความรู้ แต่แพงไปหน่อย"

ขอบคุณข้อมูลจาก isranews.org  wikipedia.org BBCThai

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook