ซูเปอร์โพลคนตั้งใจลงประชามติรับรธน.-ดุสิตหนุนจัดดีเบต
ซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 60.5 ตั้งใจจะไปลงประชามติ ขณะที่ เห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ ดุสิตโพล หนุนจัดเวทีดีเบตให้ความรู้ร่างรัฐธรรมนูญ ขอสร้างสรรค์ พร้อมต้องการให้ภาคประชาชนเข้าร่วม
สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ความสุขประชาชนกับการไปลงประชามติ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,452 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10 – 23 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยมีค่าความคลาดเคลื่อน +/- ร้อยละ 5 พบว่า ความสุขของประชาชนที่เห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันแสดงความจงรักภักดี อยู่ที่ 9.29/10 คะแนน รองลงมาคือ สุขต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง 8.05/10 คะแนน และสุขต่อความอุดมสมบูรณ์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7.63/10 คะแนน
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงความตั้งใจจะไปลงประชามติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.5 ตั้งใจจะไป และคนที่ไม่ไป ร้อยละ 39.5
นอกจากนี้ เมื่อถามถึง จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า ร้อยละ 61.5 จะรับ และร้อยละ 30.0 ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น เรื่อง "การจัดเวทีดีเบตร่างรัฐธรรมนูญ" จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,251 คน ระหว่างวันที่ 19 - 23 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยกรณีที่ กกต. จะจัดเวทีดีเบตร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่า เห็นด้วย เป็นเรื่องที่ดี ช่วยให้ประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมากขึ้น ร้อยละ 75.30 รองลงมา อยากเห็นการดีเบตที่สร้างสรรค์ ตรงประเด็น มีสาระและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ร้อยละ 74.10, ร้อยละ 70.50 ช่วยลดกระแสความขัดแย้ง การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ ได้, ร้อยละ 65.95 ขอให้ผู้เข้าร่วมดีเบตทุกคนเคารพกฏกติกา รักษาเวลา
เพื่อเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และร้อยละ 55.40 แสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการดำเนินการและเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย
ทั้งนี้ 5 อันดับ เรื่องที่ประชาชนอยากให้ดีเบตมากที่สุด คือ สิทธิเสรีภาพและสวัสดิการของประชาชน ร้อยละ 80.58 รองลงมา ข้อดี ข้อเสียของรัฐธรรมนูญ ข้อเปรียบเทียบระหว่างฉบับเก่าและใหม่ ร้อยละ 77.70, ร้อยละ 71.94 เรื่องกระบวนการยุติธรรม กฎหมาย บทลงโทษต่างๆ, ร้อยละ 69.30 เรื่องอำนาจ หน้าที่ และที่มาของ นายกรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. และร้อยละ 63.07 เรื่องผลของการรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ บุคคลที่ประชาชนอยากให้เข้าร่วมดีเบตมากที่สุด คือ ตัวแทนภาคประชาชน ร้อยละ 73.38 รองลงมา หัวหน้าพรรคการเมือง / ตัวแทนพรรคการเมือง ร้อยละ 71.22, ร้อยละ 68.82 แกนนำกลุ่ม องค์กรต่าง ๆ /นักวิชาการ, ร้อยละ 60.19 ผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 53.48 คือนายกรัฐมนตรี