เศรษฐกิจไทย..ก้าวข้ามการเมืองเรื่องประชามติไปแล้ว...!!
ในระหว่างโค้งสุดท้าย ของการลงประชามติเพื่อรับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประธานมีชัย กระแสของฝ่ายการเมืองออกมาเข้มข้น ร้อนแรงขึ้นทันตาเห็น ต้องยอมรับว่ามาจากรการแถลงของ นาอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อบ่ายวันพุธที่ 27 ก.ค.59 ที่ผ่านมา
คล้อยหลังการแถลงเสร็จ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ขอสงวนสิทธิ์ไม่ตอบคำถามนักข่าวเพิ่มเติมใดๆ บรรดานักการเมือง ทุกกลุ่มไม่ว่าซีกเพื่อไทย ซีกประชาธิปัตย์สายหลวงลุงเอง สายนายหัวชวน หรือสาย นายอภิสิทธิ์เอง ความเห็นจากทางคสช.เอง นายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และบรรดานักวิชาการทั้งซีกหนุนรับ ซีกหนุนคว่ำ ต่างออกมาให้ความเห็นกันต่างๆนานา บนหน้าสื่อวันนี้จึงเต็มไปด้วยความเห็นในเรื่องการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญคึกคักยิ่ง เรียกได้ว่า กระแสการพูดถึงการลงประชามติพุ่งสูงสุดทีเดียว กระแสพุ่งมากกว่าความพยายามของบรรดาซีกนักการเมืองที่ส่งเสียงคัดค้าน มาต่อเนื่องยาวนาน เป็นเดือนๆ
การแสดงท่าทีของ นายอภิสิทธิ์ ปลุกกระแสทั้งเห็นด้วย เห็นต่าง แสดงเหตุแสดงผลกันนาสนใจก็มากมายหลายคน แต่ก็มีหลายคน ที่ออกมาแสดงความเห็นไม่สร้างสรรค์ไม่เกิดประโยชน์ให้คนที่กำลังชั่งใจนำไปไตร่ตรองก่อนตัดสินใจได้เลย เพราะมัวแต่มุ่งเสียดสีหาเนื้อหาสาระก็มี
จะว่าไปแล้วถึงวันนี้บรรดานักวิเคราะห์ทางการเมืองก็ยังประเมินเสียงการลงมติร่างรัฐธรรมนูญระหว่างรับ หรือ ไม่รับค่อนข้างจะสูสีกัน และจากการสำรวจความเห็นพบว่ายังมี คนที่ยังไม่ตัดสินใจค่อนข้างเยอะพอสมควร
แต่เชื่อว่า สิ่งที่ทุกคนตั้งคำถามก็คือ..หากร่างผ่านประชามติ กับ ไม่ผ่านประชามติ จะเกิดอะไรขึ้น..และจะส่งผลกระทบทั้งในแง่การเมือง และในแง่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศหรือไม่อย่างไร...?
ถึงตรงนี้ ความเห็นส่วนตัว ในแง่การเมือง..มองว่า ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร..ในระยะสั้นและระยะปานกลางไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงจนให้เป็นที่น่าหวั่นวิตกใดๆ
กรณีหากประชามติออกมาผ่านร่างรัฐธรรมนูญ...ทุกอย่างก็เดินหน้าไปตามกระบวนการที่กำหนดไว้ ต้องออกกฎหมายลูกเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ต่างๆนานา ซึ่งกว่าจะได้เลือกตั้งก็ ปลายปี 2560 เป็นอย่างต่ำ ซึ่งก็เป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ ระหว่างนั้น รัฐบาลคสช.ของลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ตามรัฐธรรมนูญใหม่..
กรณีผลออกมาไม่ผ่าน วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาย้ำชัดเจนว่า ก็ต้องร่างขึ้นมาใหม่...ซึ่งก็ต้องสรรหาคนร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ตามกรอบระยะเวลาที่ทาง คสช.จะกำหนด ซึ่งอาจจะเป็นไปตามโรดแมปเดิม หรือ ยาวขึ้นกว่าเดิม ก็ได้ เพราะมีเหตุผลว่าจำเป็นต้องดูให้รอบครอบมากยิ่งขึ้น หรืออาจจะเร็วขึ้น เพราะอาจจะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาเป็นพิมพ์เขียว แล้วปรับปรุงจุดอ่อนตามข้อเสนอของหลายฝ่ายก็ได้ ซึ่งระหว่างนี้ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ก็ยังทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองต่อไป
สิ่งที่บรรดาซีกฝ่ายตรงข้าม ที่หวังว่า จะใช้เงื่อนไขมติไม่ผ่านหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมากดดันรัฐบาล เพื่อสนองความต้องการตัวเองให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ก็คงไม่มีน้ำหนักอะไรมาก เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีขั้นตอนซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการอยู่ดี และ ใครที่คิดว่า กระแสความไม่พอใจจะหนักหน่วง ประชาชนจะออกมาต่อต้าน ออกมาล้มรัฐบาลปัจจุบัน ดูแล้วเป็นไปได้ยาก
สิ่งเหล่านี้ การคาดการณ์เหล่านี้ เชื่อว่าบรรดานักธุรกิจ นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ต่างก็ประเมินออก ดังนั้น กระแสเสียงเมื่อมีการสอบถามถึงผลของประชามติหากไม่ผ่านจะกระทบต่อภาพขอเศรษฐกิจหรือไม่ เท่าที่รับฟังมา ต่างพากันบอก..ว่าไม่น่าจะกระทบใดๆ สิ่งที่นักธุรกิจมองก็คือ แม้จะมีกระแสไม่พอใจใดๆก็ตามแต่หาก ไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น มีการใช้ความรุนแรงก่อการจลาจลใดๆ การบริหารนโยบายด้านเศรษฐกิจยังมีความแน่นอน มีความชัดเจน พวกเขาย่อมเห็นทิศทางและกำหนดทิศทางของตัวเองได้เช่นกัน
และเมื่อประเมินถึงการควบคุมดูแลสถานการณ์ของรัฐบาลเพื่อให้บ้านเมืองยังคงเดินหน้าไปด้วยความเรียบร้อย แล้ว พวกเขายังมั่นใจว่า รัฐบาลยังคงดูแลได้อยู่ จึงไม่มีความวิตกกังวลใดๆ ดูจากดัชนีหุ้นไทยซึ่งอาจจะไม่ใช่ตัวสะท้อนทั้งหมด แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติยังเชื่อมั่น ขนเงินเข้ามาดันจนดัชนี พุ่งไปยืนเหนือระดับ 1,500 จุดได้ในทุกวันนี้ ในทางกลับกันหากวันใดเขาไม่มั่นใจว่ารัฐบาลเอาอยู่ วันนั้นเขาจะรีบหนีอย่างรวดเร็วเช่นกัน...
วันนี้จากการประเมินจากการดูปฏิกิริยาของบรรดานักธุรกิจ นักลงทุนแล้ว คงต้องบอกว่า เขาก้าวข้าม การเมืองเรื่องประชามติไปแล้ว..
โดย เปลวไฟน้อย