ล้มโมเดล“เห็บสยาม” ไม่พอต้องกำจัด และจำกัดด้วย..!

ล้มโมเดล“เห็บสยาม” ไม่พอต้องกำจัด และจำกัดด้วย..!

ล้มโมเดล“เห็บสยาม” ไม่พอต้องกำจัด และจำกัดด้วย..!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถูกถล่มยับพังพาบ ไม่เป็นท่า กับแนวคิด โมเดลเศรษฐกิจ "เห็บสยาม" นับตั้งแต่วันแรกที่ท่านปลัดคลัง สมชัย สัจจพงษ์ ได้เผยแนวคิด ดังกล่าวออกมา จนถึงวันนี้ วาทกรรม "เห็บสยาม" ถูกถล่มอย่างถ้วนทั่ว ทั้งนักวิชาการ สื่อ ประชาชน โดยล่าสุด นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บิ๊กตู่ ประกาศล้มโมเดลห้ามใช้แนวคิดดังกล่าวในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

ถึงตรงนี้คงไม่ต้องย้อนข้อมูลแนวคิด โมเดล "เห็บสยาม" กันแล้ว เชื่อว่าคนที่ติดตามข่าวสารน่าจะมีข้อมูลแนวคิดอยู่แล้ว แต่ที่จริง แนวทางของเศรษฐกิจแบบนี้เป็นแนวทางเศรษฐกิจหลักของ เศรษฐกิจโลก มานมนาน และ นักธุรกิจทั่วโลก และ นักธุรกิจไทยก็ใช่มาโดยตลอด .....ใช่หรือไม่...?

หากคนบางคนหรือคนส่วนใหญ่ไม่ดัดจริตติดคำ แต่รังเกียจ พฤติกรรมแบบ เห็บ จริงๆ ป่านนี้เราคงเห็นคนออกมาต่อต้านพฤติกรรมเศรษฐกิจ และธุรกิจแบบ เห็บ นี้กันมากมาย เหมือนกับการต่อต้านโมเดลที่ปลัดกระทรวงการคลังเสนอมาในครั้งนี้

วิธีการสร้างความเจริญเติบโตแบบสูบเลือดคนอื่นเพื่อมาสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเอง เป็นพฤติกรรมพื้นฐานของระบบทุนนิยมกระแสหลัก ที่ท่านปลัดคลัง และนักเศรษฐศาสตร์ไทยเกือบทั้งประเทศ ร่ำเรียนและเคยชินกันมา วิธีการสร้างความเจริญเติบโตแบบทุนนิยมคือ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากปัจจัยการผลิต ในทุกขั้นตอน

ที่ผ่านมา เราจึงเห็น ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ผลาญทรัพยากรธรรมชาติขนานใหญ่ เริ่มจากในประเทศตัวเองในท้องถิ่นตัวเอง ผลาญป่า ผลาญดิน ผลาญน้ำ จนหมดสิ้น จากนั้นก็ย้ายฐานย้ายถิ่นไป ผลาญที่อื่น ขยายไปประเทศข้างเคียง ย้ายไปทั่วโลก ที่สามารถย้ายไปได้ นี้คือ พฤติกรรมสูบทรัพยากรแบบทุนนิยม หรือ แบบเห็บ ใช่หรือไม่...?

ที่ผ่านมาเราเห็นธุรกิจ อุตสาหกรรมของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม กดขี่แรงงาน กดค่าแรงให้ต่ำเท่าที่จะทำได้ เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มของผลผลิตตัวเองเพื่อจะได้มีกำไรมากๆ ในการผลิตใช่หรือไม่ .. การกดค่าแรงไว้มีมายาวนาน สร้างผลกำไรให้ตัวเองจนอ้วนพี จนกระทั้งไม่สามารถกดค่าแรงไว้ได้ ก็กระโดดไปประเทศข้างเคียงที่ค่าแรงต่ำๆ เพื่อจะได้สูบค่าแรงสร้างกำรี่กำไร ต่อไป..ใช่หรือไม่..?

ทุกวันนี้ ถามว่าพฤติกรรม หรือ รูปแบบของการทำธุรกิจ ของอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ ต่างไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด..? ตอบ...

ทุกวันนี้ เราเห็นภูเขาหัวโล้นที่ภาคเหนือ และกำลังเป็นประเด็นใหญ่โตอยู่ที่จังหวัดน่าน เราเห็นป่าดงพญาไฟผืนป่าสำคัญของไทยหดหายกลายเป็นเพียงตำนานให้เล่าขานเท่านั้น ผืนป่าตะวันตกทั้งผืนหดหายจนเหลือที่มั่นสุดท้ายที่ป่าทุ่งใหญ่ นเรศวร ห้วยขาแข้ง ใช่หรือไม่ ...? สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากแนวคิดกระแสหลัก ของเศรษฐกิจทุนนิยม แบบ เห็บทั้งสิ้น ใช่หรือไม่

วันนี้ถามว่า เห็บที่สูบเลือดเนื้อ ประเทศไทย มีจำนวนมากน้อยเท่าไร..? แล้วจะทำอย่างไร..? น่าสนใจครับที่นายกรัฐมนตรีประกาศล้มโมเดล เห็บสยาม โดยจะหันมาใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง และ ใช้แนวคิดการช่วยเหลือพึ่งพากันไม่ทอดทิ้งกันของประชาคมอาเซียนในการก้าวเดิน... แต่คำถามก็คือ แนวคิดนี้ ใช้กับคนระดับล่าง ที่มีเรี่ยวแรงน้อย หรือ ใช้กับทุกคนครับ...

มีแนวทางอะไรที่บ่งชัดว่า "เห็บตัวใหญ่" ของสยาม ที่สูบเลือดมานาน จะเลิกพฤติกรรม งดสูบเลือดสูบเนื้อ หันมามองคนอื่นๆ ทำอย่างไร กับเครือข่ายของ เห็บใหญ่ที่ สยายสาขาแผ่อาณาจักรไปครอบคลุมทั่วทั้งแผ่นดิน แทบทุกหมู่บ้าน จนบรรดาเห็บเล็กเห็บน้อยไม่รู้จะค้าขายแข่งอย่างไรแล้ว...?

และที่สำคัญจะทำอย่างไร กับ บรรดาเห็บที่เปลี่ยนบทบาทจาก พ่อค้าวาณิชย์ หันไปเป็นตัวแทนคนใช้อำนาจการบริหารบ้านบริหารเมือง ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นเป็นตัวอย่าง ว่า บรรดาเห็บเหล่านี้จากเดิมที่อาศัยพึ่งพิงเห็บตัวใหญ่มีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง ทำมาหากิน แต่ปัจจุบันผันตัวเองเขามาสู่การมีอำนาจบริหารเสียเอง และ เมื่อเข้ามาก็ใช้อำนาจออกแนวทางการบริหาร เอื้อต่อการสูบ การกินของตัวเองและพวกพ้องอย่างมโหฬาร อย่างไม่เคยเห็นกันมาก่อน จนบ้านเมืองวิกฤตอยู่ในปัจจุบัน...?

การล้มโมเดล "เห็บสยาม" เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนอย่างยิ่ง แต่การจะทำอย่างไรกับ เห็บที่มีอยู่และเติบโตแข็งแรงแข็งแกร่งนี้ซิเป็นเรื่องใหญ่.. เพราะถึงแม้จะล้มแนวคิด แต่ไม่กำจัด และ จำกัด บรรดาเห็บที่มีอยู่ อย่างไรเสีย เราก็ยังคงถูกสูบเลือดต่อไปอยู่ดี......

โดย เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook