วัตถุต้องสงสัย ดูไม่ยาก หากมีทริค! เผยคำแนะนำจากหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด
หากพบวัตถุบางอย่างที่ดูผิดหูผิดตา แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นวัตถุต้องสงสัยหรือไม่ หน่วยเก็บกู้ระเบิด (อีโอดี) แนะนำหลักการ 4 ข้อ เป็นสังเกตสำหรับวัตถุต้องสงสัย ดังนี้
- ไม่เคยเห็น: ตัวอย่างเช่น ที่ตู้เอทีเอ็ม พบถังดับเพลิง วางอยู่ข้างตู้ ซึ่งปกติแล้ว บริเวณดังกล่าวจะไม่เคยมีถังดับเพลิงลักษณะดังกล่าววางอยู่
- ไม่เป็นของใคร: เมื่อสอบถามประชาชนหรือคนในละแวกนั้นแล้ว ไม่พบว่าวัตถุดังกล่าวเป็นของผู้ใด ไม่มีผู้ใดแสดงตัวเป็นเจ้าของ
- ไม่ใช่ที่อยู่: วัตถุนั้น ไม่ควรที่จะอยู่ ณ สถานที่ตรงนั้น
- ดูไม่เรียบร้อย: วัตถุสิ่งนั้นมีสภาพที่ไม่เรียบร้อย ผิดปกติ เช่น มีสายไฟโผล่ มีน้ำมันเยิ้ม มีกลิ่นน้ำมันเครื่อง น้ำมันเบนซิน เป็นต้น
การเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับป้องกันวัตถุระเบิด ที่ควรจัดหาไว้ คือ
- ยางนอกรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว ประมาณ 5-6 เส้น เลือกเอาขนาดที่มีน้ำหนักพอสมควร
- กระสอบทราย ตั้งแต่ 10-20 ลูก ยิ่งมากยิ่งดี
- กรวยยาง,เชือกสำหรับกั้นป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปรบกวนในกรณีพบวัตถุระเบิด
- ป้ายเตือนอันตรายที่ขนาดเห็นได้ชัดเจน
- น้ำยาดับเพลิง และอุปกรณ์สำหรับดับเพลิง
- เตรียมการประสานราชการกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- หน่วยพยาบาล
- หน่วยไฟฟ้า
- หน่วยกู้วัตถุระเบิดของ ตร. และตำรวจท้องที่
- เส้นทางและวิธีการรายงานผู้บังคับบัญชาตามสายงาน
การปฏิบัติเมื่อพบวัตถุต้องสงสัยซึ่งเชื่อว่าเป็นวัตถุระเบิด
- ปิดกั้นบริเวณที่พบวัตถุต้องสงสัย โดยนำกรวยยาง หรือเชือกกั้นล้อมรอบบริเวณที่พบวัตถุ ต้องสงสัย (เชือกกั้นรัศมีประมาณ ๕-๑๐ เมตร) กำหนดทางเข้าออกเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบให้ชัดเจน
- เจ้าหน้าที่ตำรวจนำยางรถยนต์ประมาณ ๕ เส้น ครอบวัตถุต้องสงสัยไว้ หรือนำกระสอบทรายล้อมรอบวัตถุต้องสงสัยไว้ แล้วแต่ความเหมาะสม โดยให้วัตถุต้องสงสัยอยู่ตรงกลาง โดยห้ามจับต้อง หยิบยก เคลื่อนย้าย ทำให้สั่นสะเทือน เคลื่อนไหว หรือสัมผัสกับวัตถุต้องสงสัยโดยเด็ดขาด
- กันคน ให้กันคนให้ห่างจากจุดที่พบวัตถุต้องสงสัย ระยะห่างประมาณจากขนาดของวัตถุต้องสงสัย ซึ่งปกติทั่วไป ถ้าเป็นขนาดเล็ก ให้กันคนให้ห่างประมาณ ๑๐๐ เมตร ถ้าขนาดใหญ่ ให้ห่างประมาณ ๔๐๐ เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่จะอำนวย
- รีบโทรศัพท์แจ้ง กลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด โทร. 02-2761946 โดยให้ร้อยเวร อยู่บริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อแจ้งรายละเอียดให้กับเจ้าหน้าที่ EOD ทราบ โดยให้เตรียมข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานที่พบวัตถุระเบิดหรือวัตถุต้องสงสัย เลขที่ ตำบล ถนน อำเภอ จังหวัด ขนาด รูปร่าง สี น้ำหนักโดยประมาณ มูลเหตุที่เชื่อว่าเป็นวัตถุระเบิด ใครเป็นผู้พบ พบเมื่อใด ใครเห็นบ้าง ที่ตัววัตถุระเบิด มีอุปกรณ์อะไรประกอบที่เห็นได้ เช่น สายไฟ นาฬิกา หรืออื่น ๆ
อานุภาพของระเบิดแสวงเครื่อง (ระเบิดขนาด 1 ปอนด์)
ระยะ 1 เมตร เสียชีวิต
ระยะ 5 เมตร สาหัส
ระยะ 8 เมตร ทำลายประสาทหู
ระยะ 16 เมตร อาคารเสียหาย
ระยะ 40 เมตร กระจกแตก
ถ้าระเบิดมีขนาดใหญ่กี่เท่าของข้างต้น อานุภาพ รัศมีการทำลายล้างก็จะเพิ่มขึ้นอีกเท่านั้น เช่น ระเบิด 3 ปอนด์ ระยะ 3 เมตร ทำให้เสียชีวิต 15 เมตร สาหัส 24 เมตร ทำลายประสาทหู เป็นต้น
ข้อสังเกตเกี่ยวกับระเบิดทางพัสดุไปรษณีย์ (หีบ, ห่อ)
- มีน้ำหนักมากเกินขนาด
- ซองมีลักษณะแข็ง พับงอไม่ได้
- ห่อพัสดุ หรือซองจดหมายมีลักษณะโป่งบวม หรือพอง ผิดปกติ
- ลักษณะการห่อแน่นหนาเกินควร มีเทปพันมากเกินควร
- อาจมีสายไฟยื่นออกมา
- ไม่มีชื่อ ที่อยู่ ของผู้ส่ง หรือมีแต่ไม่เคยรู้จัก
- มีคราบน้ำมัน หรือสีซีดจางที่ห่อกระดาษ
- อาจมีการเขียนข้อความ หรือติดภาพที่เรียกร้องความสนใจ
- เป็นจดหมายที่ไม่ได้คาดว่าจะได้รับ
- มีการติดแสตมป์มากเกินขนาด (โดยเฉพาะส่งภายในประเทศ)
- มีการทำเครื่องหมายพิเศษต่างๆ เช่น ส่วนตัว, เฉพาะบุคคล
- ลายมือเขียน หรือพิมพ์ที่ไม่เป็นระเบียบ
- ไม่มีชื่อผู้รับ
- มีชื่อ แต่ระบุตำแหน่ง หรือยศ ไม่ถูกต้อง
- สะกดคำผิดในคำง่าย ๆ
หากมีข้อสงสัยในการปฏิบัติ สามารถติดต่อสอบถาม กลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (เจ้าหน้าที่ EOD) ที่หมายเลขโทรศัพท์ 080-6552525