เรื่องประหลาด! ไม่ว่าผู้นำสมัยไหนก็อยากสร้าง "เขื่อนแม่วงก์"
เป็นเรื่องน่าแปลกประหลาด ที่ไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาล จะรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือ รัฐบาลทหาร ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา จะต้องมีการรื้อโครงการก่อสร้าง เขื่อนแม่วงก์ ออกมาปัดฝุ่นทุกครั้ง ทั้งๆที่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความคุ้มค่าต่างๆแล้ว ไม่ผ่านทั้งสิ้น แต่การผลักดันสร้างเขื่อนแม่วงก์ ก็ถูกหยิบขึ้นมาทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาล
ประหนึ่งว่า หากภาคประชาชนหรือพลังอนุรักษ์อ่อนแอเมินเฉย ก็จะสร้างเขื่อนแห่งนี้ให้ได้ เช่นกันในรัฐบาลภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะ คสช. ที่ยึดอำนาจการบริหารการปกครอง เป็นรัฐบาลที่ประกาศจะปฏิรูปจะวางพื้นฐานของสังคมของประเทศให้มีความยั่งยืน การผลักดันการสร้างเขื่อนแม่วงก์กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง
และครั้งนี้ถึงกับมีการขว้างหินก้อนโตถามทาง ว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่ทั้งนี้ที่โยนหินก้อนใหญ่ออกมาพลังประชาชนพลังสังคมที่ไม่เห็นด้วยก็ออกมาตอบโต้ทันที ไม่หวั่นเกรงแรงขู่ที่จะนำ ม.44 มาผลักดันสร้างเขื่อนแม่วงก์ ทำให้รัฐมนตรี จำต้องถอยก้าวหนึ่ง และแก้ต่างว่าการหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาก็เพราะมีชาวบ้านที่ต้องการให้สร้างเพื่อประโยชน์ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ก็ต้องนำมาดูว่าเป็นไปได้หรือไม่ และพร้อมฟังเสียงกลุ่มพลังประชาชน กลุ่มอนุรักษ์
วันนี้มีผลการสำรวจของ PeoplePoll - พีเพิลโพล (ประเทศไทย) เป็นการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ เกี่ยวกับกรณีล่าสุดที่มีกระแสข่าวที่จะเดินหน้าสร้างเขื่อนแม่วงก์ ผ่านแอพพลิเคชั่น PeoplePoll บนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนระหว่างวันที่ 3 กันยายน เวลา 12.30 น. ถึงวันที่ 7 กันยายน เวลา 08.00 น.ซึ่งมีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 1,004 คน โดยความร่วมมือในลักษณะภาคีของ 5 หน่วยงาน คือ 1. คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ 2. วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ 3. สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล 4. วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต 5. ทีมงานพีเพิลโพล (กลุ่มอิสระ)
ผลการสำรวจออกมาชัดเจนว่า
เห็นด้วย ควรสร้าง 25.2% (253 คน)
ไม่เห็นด้วย ไม่ควรสร้าง 57.5% (577 คน)
ไม่แน่ใจ / ข้อมูลไม่เพียงพอ / อื่นๆ 15.7% (158 คน)
ไม่แสดงความคิดเห็น 1.6% (16 คน)
ความคิดเห็นเบื้องต้นนี้เพียงพอต่อการชั่งใจ และการผลักดันจะเดินหน้าต่อหรือไม่?
หากรัฐบาลยังเดินหน้าต่อ นับว่ามีความเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับประชานผู้ต่อต้านจำนวนมากค่อนข้างสูง เพราะกลุ่มที่ติดตามเรื่องการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์มีการติดตามสถานการณ์และแสดงเจตนารมณ์ค่อนข้างชัดเจนว่าจะคัดค้านอย่างถึงที่สุด
ทำไม กรมชลประทาน ถึงยังฝังใจ จ้องหาโอกาสผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนแห่งนี้ให้ได้?
หากจะมองในมุมของการบริหารจัดการน้ำ การป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้ง มีข้อมูลออกมามากมายว่า เขื่อนแม่วงก์ไม่ใช่คำตอบ ไม่คุ้มกับ การจะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ไม่น้อยกว่า 13,000 ไร่ เป็นไม้ใหญ่ประมาณ 500,000 ต้น ซึ่งในจำนวนนี้มีไม้สักประมาณ 50,000 ต้น กล้าไม้อีก 10,000 ต้น หรือเปรียบ เทียบได้ว่าพื้นที่ป่า 1 ไร่ ที่จะถูกน้ำท่วมจะมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ 80 ต้นเป็น ไม้สัก 13 ต้น ลูกไม้ 576 ต้น และกล้าไม้อีก 1,880 ต้น
จากการคำนวณพื้นที่ป่าที่จะสูญเสียไป จากการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เมื่อคำนวณเป็น ปริมาณคาร์บอนที่ต้นไม้สามารถดูดซับไว้ได้นั้น หากมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ประเทศไทยจะสูญเสียพื้นที่ที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ประมาณ 10,400 ตันคาร์บอน ป่าแม่วงก์มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างน้อย 549 ชนิด และมีปลาอาศัยอยู่ในลำน้ำ 64 ชนิด ในจำนวนนี้มีเพียง 8 ชนิด หรือ 13% ที่สามารถผสมพันธุ์ในแหล่งน้ำนิ่งในอ่างเหนือเขื่อนได้นอกนั้นต้องอาศัยพื้นที่น้ำไหลหรือน้ำหลากซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ" (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)
ทำไม กรมชลประทานไม่เคยปรับแนวคิดการบริหารจัดการน้ำ ทั้งๆที่การสร้างเขื่อนในปัจจุบันพบว่าไม่คุ้มค่ากับการสูญเสีย เหตุใดการปรับขนาดชลประทานเป็นแบบขนาดเล็กที่ชุมชนสามารถบริหารจัดการได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นการอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนถึงไม่เคยอยู่ในความสนใจของ กรมชลประทาน
ปัจจุบันมีชุมชนจำนวนมากที่แก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำโดย การทำเหมืองฝ่าย ฝายมีชีวิต เป็นระบบชลประทานขนาดเล็ก มีการทดน้ำเก็บไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง และในช่วงหน้าน้ำก็ปล่อยให้น้ำได้ไหลไปตามวิถีไปหล่อเลี้ยงพื้นที่ต่างๆตามเส้นทาง
ระบบชลประทานขนาดเล็กเหล่านี้ ใช้งบประมาณไม่มาก ชาวบ้านร่วมมือกันทำได้ หรือ กรมชลประทานจริงจังจริงใจ สามารถเข้าไปสนับสนุนได้โดยใช้งบประมาณไม่มากเหมือนกับการสร้างเขื่อน ที่ต้องใช้งบประมาณเป็นหลัก หลายหมื่นล้านบาท หรือ...เป็นเพราะวงเงินงบประมาณจำนวนมากมหาศาลนี้ต่างหาก คือเป้าหมายที่แท้จริงของการผลักดันโครงการสร้างเขื่อน?
โดย เปลวไฟน้อย