ค่าชดเชยความเสียหายจำนำข้าว บทเรียนของ ข้าราชการ และมาตรฐานในอนาคต !
ความชัดเจนของการเรียกค่าชดเชยกรณี โครงการรับจำนำข้าว ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวได้สรุปเรียกค่าเสียหายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวงเงิน 3.56 หมื่นล้านบาท หรือ คิดเป็น 20% จากวงเงินเสียหายรวม 1.78 แสนล้านบาท และ อีก 80% หรือ 1.43 แสนล้านบาท
ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า จาการพิจารณาแนวทางการกำหนดสัดส่วนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ภายใต้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ที่กำหนดโดยกระทรวงการคลัง พบว่าได้มีการกำหนดสัดส่วนความรับผิดของเจ้าหน้าที่เอาไว้ชัดเจน
โดยในกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้อนุมัติขั้นสูง จะต้องรับผิดชอบในสัดส่วน 20% และที่เหลือ 80% แบ่งเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการที่พิจารณาโครงการรับจำนำข้าว 60% และอีก 20% ที่เหลือเป็นความรับผิดชอบของผู้ผ่านงานชั้นต้นและชั้นกลาง
ทั้งนี้ จากเงื่อนไขดังกล่าวหมายความว่า ผู้ที่เป็นคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะถูกเรียกค่าเสียหายในส่วน 60% หรือ 1.068 แสนล้านบาท และอีก 20% หรือ 3.56 หมื่นล้าน จะเป็นความรับผิดชอบของ รมว.พาณิชย์ รองนายกรัฐมนตรี รวมถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในส่วนของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะเป็นผู้อนุมัติในลำดับรองลงไป
อย่างไรก็ตาม ความรับผิดทางละเมิดอาจจะไม่จบแค่คณะกรรมการ กขช. รัฐมนตรี หรือ ครม. แต่จะมีการสาวไปถึงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบในโครงการจำนำข้าว ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติ โดยเฉพาะกรมการค้าภายใน องค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)
และยังรวมถึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์ในทางที่ไม่สุจริตจากโครงการรับจำนำ เช่น โรงสี บริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) โกดังกลาง และอาจจะสาวไปถึงในระดับจังหวัด กรณีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลข้าวในโครงการรับจำนำด้วย
จากหลักเกณฑ์รายละเอียดข้างต้น เรียกได้ว่า เป็นการไล่เรียงความผิด ไล่เรียกความเสียหายในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ผู้บริหาร ยัน ข้าราชการเจ้าหน้าที่ และแม้แต่เอกชนที่เกี่ยวข้อง หรือจะเรียกว่า ไล่เช็คบิลหมู่ เช็คบิลรวมกันเลยทีเดียว
ส่วนในข้อเท็จจริงหลังจากนี้ การเรียกคืนความเสียหายจะได้หรือไม่ เพราะเชื่อว่าทุกคนคงร้องค้านไปยังศาลปกครองว่าคำสั่งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่...ก็ต้องรอดูกันไป....ซึ่งถึงตอนนั้น น้ำหนักทั้งมวลจะไปจับจ้องที่ศาลปกครองว่า...จะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร....? น่าติดตามยิ่ง เพราะนั้นหมายความว่าคำวินิจฉัยจะเป็นประวิติศาสตร์ของสังคมไทย จะเป็นการวางบรรทัดฐานของการเมืองไทยต่อไปในอนาคตกันเลยทีเดียว
การออกนโยบายของพรรคการเมืองที่มุ่งแสวงหาประโยชน์ เอื้อให้เกิดการทุจริตในการดำเนินนโยบายจะถูกวางกรอบไม่ให้มีการทำออกมาเพื่อป้องกันความเสียหายต่อไปในภายภาคหน้าหรือไม่ หรือ จะยังคงสภาพเดิม การหาเสียง การหว่านนโยบายที่ผลาญเงินผลาญทรัพยากรจะสามารถทำต่อไปได้หรือไม่ น่าติดตามยิ่ง
และที่สำคัญ สิ่งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นการวางแนวทางให้ข้าราชการทั้งหลายทั้งปวงว่า ในการสนองนโยบายของนักการเมือง หากกระทำไปโดยเห็นผิดเป็นชอบ ไม่เสนอข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทาง ให้อยู่ในทิศทางที่ถูกที่ควร ต่อไปจะถูกดำเนินการเรียกค่าเสียหายจากการกระทำที่ผิดพลาดเหล่านั้นด้วย การจะอ้างว่าจำต้องทำตามนโยบายจะไม่สามารถเป็นเกราะป้องกันตัวได้อีกต่อไป
สิ่งเหล่านี้ จะเป็นการสร้างมาตรฐานในอนาคตได้หรือไม่...เป็นประเด็นที่น่าติดตามยิ่งครับ...
โดย เปลวไฟน้อย