สร้างสังคมอุดมคติ ยุติความนิยม "ชุบมือเปิบ"

สร้างสังคมอุดมคติ ยุติความนิยม "ชุบมือเปิบ"

สร้างสังคมอุดมคติ ยุติความนิยม "ชุบมือเปิบ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สังคมไทยในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน..หลังการรัฐประหาร..เริ่มงวด เริ่มข้นเข้าไปเรื่อยๆ การเดินทางไปสู่การเลือกตั้ง หลังจากมีการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 กระบวนการเริ่มกระชับมากขึ้น ตามกรอบเวลาที่กำหนด

ระยะเวลายิ่งหดตัวลงเพื่อที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ความเข้มขลังของอำนาจรัฐของ คสช. ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ ก็ยิ่งอ่อนกำลังลง ในช่วงเวลานี้ เราจึงเห็นบรรดากลุ่มการเมือง คนการเมืองที่เสียประโยชน์เริ่มมีปากมีเสียงมากขึ้น ต่างกันโดยสิ้นเชิงในช่วงแรกของการรัฐประหาร ที่อำนาจความเข้มขลังในการใช้อำนาจของ คสช. สยบปิดปากนักการเมืองสนิทไม่กล้าต่อแย้งใดๆ มากนัก

ในช่วงเวลานี้เราจึงเห็นบรรดานักการเมืองเริ่มปากกล้า แม้ขาจะสั่น แต่ด้วยความเจนจัดในสนามของอำนาจทำให้ รู้ว่าช่วงเวลาใด สามารถออกมาใช้โวหารตามถนัดได้ ไหนเลยจะพลาดโอกาส

ประกอบกับ บรรดาคนรอบข้างของ คสช. ต่างก็เผยจุดอ่อน แสดงธาตุแท้ ของความเป็นมนุษย์ที่เห็นแก่ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวมออกมา สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นศรที่ย้อนกลับมาทิ่มตำ รัฐบาล คสช. โดยเฉพาะผู้นำ ให้ช้ำใจ ชนิดกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่หลายเรื่อง

ระยะเวลา 2 ปีเศษที่ผ่านไปของการเข้ามากุมอำนาจ บริหารรัฐของกลุ่ม คสช. มีเรื่องที่ทำแล้วได้รับความนิยมก็เยอะ ทำแล้วคนกังขาก็ไม่น้อย แต่โดยรวมภาพออกมาก็มีคนนิยมอยู่มาก เพราะสามารถบรรเทาปัญหาหลักของประเทศลงไปได้มาก กระแสหนุนกระแสโหน หวังพึ่งบารมีของผู้นำเพื่อไปสู่อำนาจหลังการเลือกตั้ง จึงเกิดขึ้นและเข้มข้นมากขึ้นเช่นกัน

ประเด็นการหนุนส่ง หวังให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง มีการแสดงออกอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะพยายามโยนหิน ในประเด็นการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมารองรับเพื่อเข้าสู่สนามการเลือกตั้งตามกรอบของรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยเห็นว่าเป็นวิธีที่สง่างาม อีกทั้งยังจะอาศัยกระแสความนิยมของตัวนายกรัฐมนตรีดึงกระแสความนิยมมายังพรรคใหม่ ซึ่งบรรดาสมาชิกจะได้รับอานิสงค์ไปพร้อมกันด้วย

หรือแม้กระแสดึงนายกฯคนนอก ตามที่รัฐธรรมนูญใหม่เปิดช่องไว้ ก็เป็นทางเลือก ทางออก พร้อมกับการปลุกกระแส นายกฯคนต่อไปอย่างไรเสียก็ควรจะเป็นนายกฯคนปัจจุบัน เพื่อจะได้สานต่อเดินหน้าประเทศไทยตามกรอบที่ได้วางไว้ภายใต้ยุทธศาสตร์พัฒนาชาติ 20 ปี และกรอบอื่นๆ อีกมากมาย

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องติดตามดูกันต่อไปว่า ทิศทางการเมืองไทยจะเดินหน้าไปในทิศทางใด แต่หากเรามองปรากฏการณ์ที่ผ่านมา ก็พอจะมองเห็นว่า อนาคตข้างหน้าก็ยังมีความน่าเป็นห่วง ...เราเห็นกระแสความคิดของสังคม ของกลุ่มการเมือง ที่สะท้อนถึงปัญหาหลักก็คือ เราไม่สามารถสร้างระบบที่เป็นพื้นฐานสำหรับอนาคต โดยไม่หวังพึ่งอำนาจพิเศษ คนพิเศษ วิธีการพิเศษขึ้นมาได้เลย

สังคมไทยยังนิยม และหวังอย่างยิ่งกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งว่า จะเป็นผู้ที่สามารถสร้างสังคมไทยที่ดี ที่หวัง และเป็นที่พอใจ แต่ในเชิงระบบเราแทบมองไม่เห็นว่า การพัฒนาต่อไปภายหน้า การตรวจสอบการใช้อำนาจ การคานอำนาจ การถ่วงดุลอำนาจ การกระจายอำนาจไม่ให้ใครใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

สังคมไทยยังนิยม หวังชุบมือเปิบจากความสำเร็จ จากความนิยมของคนอื่น เหมือนที่ผ่านๆ มา ก่อนหน้าที่จเกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยอย่างรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่

สังคมไทยก็คาดหวังกับ "เศรษฐี" คิดว่าเขาประสบความสำเร็จในทางธุรกิจแล้ว เขาน่าจะทำให้สังคมไทยประสบความสำเร็จไปด้วย...แต่เวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า ...ความเชื่อแบบ ชุบมือเปิบนี้ไม่จริง...เขากลับทำให้สังคมไทยแตกแยกอย่างไม่เคยเกิดมาก่อนด้วยซ้ำไป....

อนาคตสังคมไทยจะเดินหน้าอย่างไร.....ติดตามกันต่อไป...แต่โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่า สังคมไทยไม่อาจสำเร็จได้หากยังหวังชุบมือเปิบจากความสำเร็จของคนอื่น....อยากได้สังคมแบบไหน...ต้องเข้าไปมีส่วนในการกำหนด ในทุกขั้นตอน...เพื่อสร้างสังคมที่เป็นอุดมคติ เป็นสังคมที่เราต้องการ เป็นสังคมเพื่อเราคนไทยทั้งประเทศครับ......

โดย ....เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook