พระบรมราโชวาทและพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษา ของพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช

พระบรมราโชวาทและพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษา ของพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช

พระบรมราโชวาทและพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษา ของพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานบรมราโชวาทและพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษาไว้เป็นอเนกประการ ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและในโอกาสที่คณะบุคคลต่าง ๆ เข้าเฝ้าฯ เป็นแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษาที่มีคุณค่ายิ่ง แต่ละคนสามารถนำไปเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติและรู้จักใช้ ความรู้ ความสามารถเพื่อพัฒนาตนเอง และส่วนรวมให้เจริญก้าวหน้าได้

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษา เช่น ทรงชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาวิชาความรู้ และผลแห่งการใช้วิชาความรู้ในเชิงปฏิบัติ การศึกษามิใช่กิจกรรมที่สิ้นสุดในตัวเอง แต่เป็นเครื่องมือที่นำไปสู่จุดหมายบางประการ การศึกษาต้องให้หลักแห่งวิชาการที่จะช่วยให้แนวทางปฏิบัติบรรลุผล และให้ความรู้ทางปฏิบัติวิชาการในความเป็นจริงก่อให้เกิดความเชี่ยวชาญและชำนาญ นอกจากนี้ยังทรงเน้นการศึกษาทางธรรมเพื่อปลูกฝังคุณธรรม ศีลธรรม และคุณสมบัติต่าง ๆ เพื่อเป็นเครื่องกำกับความคิด และให้ความประพฤติ รู้จักใช้ให้ประสานสอดคล้องกันทั้งสามส่วนจึงจะถูกต้องครบถ้วนและสมบูรณ์ตัวเอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษาที่จะช่วยให้บรรลุถึงจุดหมายในอีกมิติหนึ่งว่า

"... ผู้ที่มุ่งหวังความดีและความเจริญมั่นคงในชีวิตจะต้องไม่ละเลยการศึกษา ความรู้ที่จะศึกษามี 3 ส่วน คือ ความรู้วิชาการ ความรู้ปฏิบัติการ และความรู้คิดอ่านตามเหตุผลความเป็นจริง อีกประการหนึ่งจะต้องมีความจริงใจและบริสุทธ์ใจไม่ว่าในงานในผู้ร่วมงานหรือในการรักษา ระเบียบแบบแผน ความดีงาม ความถูกต้องทุกอย่าง ประการที่สามต้องฝึกฝนให้มีความหนักแน่นทั้งภายในใจ ในคำพูด ..." (๒๔ มกราคม ๒๕๓๐)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษา วิชาความรู้ และผลแห่งการใช้วิชาความรู้ในเชิงปฏิบัติกล่าวคือ การศึกษาเป็นเครื่องมือของการพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ เจตคติ ค่านิยม และคุณธรรมของบุคคล ฉะนั้นการศึกษาจึงไม่ใช่การกระทำหรือกิจกรรมที่สิ้นสุดในตัวเอง แต่เป็นเครื่องมือที่นำไปสู่จุดหมายบางประการ การศึกษาในความหมายนี้จึงเกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิชาความรู้ทั้งในทางวิชาการ (ทฤษฎี) และในทางธรรม (ปฏิบัติ) หมายความว่าการศึกษาจะต้องใช้หลักแห่งวิชาการที่จะช่วยให้แนวทางการปฏิบัติบรรลุผล และให้ความรู้แห่งการปฏิบัติอันได้แก่ การฝึกฝนปฏิบัติวิชาการในความเป็นจริงเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญและชำนาญ

นอกจากนี้ ทรงเน้นความหมายของการศึกษาในอีกด้านหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าความรู้เชิงวิชาการและการปฏิบัติวิชาการนั่นคือการศึกษาทางธรรมเพื่อปลูกฝังคุณธรรม ศีลธรรม ตลอดจนคุณสมบัติต่าง ๆ เพื่อเป็นเครื่องกำกับความคิดและความประพฤติให้การใช้วิชาความรู้เพื่อประโยชน์ในทางที่ดีต่อทั้งตนเองและส่วนรวมคือประเทศชาติ เพราะฉะนั้นการเข้าใจแนวพระราชดำริด้านการศึกษาจึงจะต้องเข้าใจความหมายของการศึกษาควบคู่กับจุดหมายของการศึกษา ถ้าจะกล่าวให้ชัดเจน การศึกษาจะมีความหมายที่ไม่ถูกต้องตามแนวพระราชดำริ ถ้าการศึกษานั้นไม่นำไปสู่จุดหมายที่ดีงามต่อตนเองและประเทศชาติโดยส่วนรวม ซึ่งทำให้เข้าใจต่อไปได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของส่วนบุคคลและส่วนรวม จะต้องสอดคล้องและสัมพันธ์กัน จะแยกออกจากกันหรือขัดแย้งกันไม่ได้ 
เพราะฉะนั้นการศึกษาตามแนวพระราชดำริจึงถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง ครบถ้วน และสมบูรณ์ในตัวเอง

ความพยายามที่จะเข้าใจแนวพระราชริที่เกี่ยวกับการศึกษาดังที่แสดงให้ปรากฎข้างต้นนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแนวพระราชดำริด้านการศึกษา ซึ่งมีความสำคัญสมควรที่จะอัญเชิญมาแสดงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในระดับ และเรื่องต่าง ๆ ตลอดจนวาระต่างๆ เพราะแนวพระราชดำริที่นี้สะท้อนถึงปรัชญาสำคัญของการศึกษาที่จะช่วยชี้นำให้การศึกษาทั้งปวงมีความถูกต้อง ครบถ้วนและสมบูรณ์ อีกทั้งสามารถนำไปสู่ผลสำเร็จของการใช้วิชาความรู้เพื่อการปฏิบัติต่าง ๆ และนำไปสู่จุดหมายที่ดีงาม และเป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีน้ำพระราชหฤทัยเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าตามพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาเป็นอเนกประการดังกล่าว ยังผลให้คนในชาติเป็นคนที่คุณภาพที่สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม รู้จักใช้ความรู้ความคิดสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามและความเจริญก้าวหน้าให้แก่ชาติบ้านเมือง ด้วยทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา ดังพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษาเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ ความตอนหนึ่งว่า

"... การให้การศึกษาแก่เด็กต้องเริ่มตั้งแต่เกิด ขึ้นต้นก็ต้องสอนให้รู้จักใช้อวัยวะและประสาทส่วนต่าง ๆ ต้องคอยควบคุมฝึกหัด จนสามารถใช้อวัยวะและประสาทส่วนนั้น ๆ ทำกิจวัตรทั้งปวงของตนเองได้ เมื่อสามารถทำกิจวัตรของตัวได้แล้ว ถัดมาก็ต้องสอนให้รู้จักทำการต่างๆ ให้รู้จักแสวงหาสิ่งต่าง ๆ ตามที่ต้องการให้ได้มากขึ้น เพื่อทำให้ชีวิตมีความสะดวกมีความสบาย การให้การศึกษาขั้นนี้ ได้แก่การฝึกกายให้มีความคล่องแคล่วชำนิชำนาญ และสามารถในการปฏิบัติ ประกอบกับการสอนวิชาความรู้ต่าง ๆ อันเป็นพื้นฐานสำหรับการประกอบอาชีพเลี้ยงตัว การให้การศึกษาอีกขั้นหนึ่ง คือการสอนและฝึกฝนให้เรียนรู้วิทยาการที่ก้าวหน้าขึ้นไป พร้อมทั้งการฝึกฝนให้รู้จักใช้เหตุผลสติปัญญาและหาหลักการของชีวิต เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์ความเจริญงอกงามทั้งทางกายและทางความคิด ผู้ทำงานด้านการศึกษาจึงมีความสำคัญเป็นพิเศษ และได้รับความยกย่องเป็นอย่างสูงตลอดมา ในฐานะที่เป็นผู้ให้ชีวิตจิตใจตลอดจนความเจริญทุกอย่างแก่อนุชน ..."

ที่มา : https://web.ku.ac.th/
รูปจาก : http://www.palaces.thai.net/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook