"๙ รอยเท้าพ่อ" ที่อยากให้ลูกก้าวเดิน ได้ด้วยตัวเอง

"๙ รอยเท้าพ่อ" ที่อยากให้ลูกก้าวเดิน ได้ด้วยตัวเอง

"๙ รอยเท้าพ่อ" ที่อยากให้ลูกก้าวเดิน ได้ด้วยตัวเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ทุกย่างก้าวของพ่อ...ไม่เคยมีก้าวใดที่สูญเปล่า" ตามรอย ๙ รอยเท้าพ่อ กับ ๙ โครงการตามพระราชดำริ ที่มีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือประชาชนให้สามารถทำกินและยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเอง จนสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาศึกษาและเยี่ยมชม

๑. สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงตระหนักถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ การทำไร่เลื่อนลอย การปลูกฝิ่นและการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาไม่เฉพาะในท้องถิ่นแห่งนั้น จึงทรงมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือชาวเขาให้มีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนฝิ่น พร้อมทั้งถ่ายทอดวิชาความรู้การเกษตรแผนใหม่ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ของชาวเขาให้ดีขึ้น ตลอดจนป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ต้นน้ำลำธาร

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๒ มูลนิธิโครงการหลวงได้จัดตั้ง "สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์" บนพื้นที่ ๑๕๐ ไร่ ซึ่งเป็นสถานีวิจัยอีกแห่งหนึ่งของมูลนิธิโครงการหลวง ที่ดำเนินงานด้านวิจัยค้นคว้าข้อมูล เป็นแนวทางที่จะนำเอาผลจากการวิจัยมาส่งเสริมอาชีพเป็นรายได้ของครอบครัวเกษตรกร

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสถานีฯ ให้มีความสวยงามเพิ่มขึ้น และเพื่อให้ผู้มาเยี่ยมชมได้ศึกษาเรียนรู้พรรณไม้ต่างถิ่นหลากหลายชนิด ที่ทางสถานีได้ศึกษาวิจัยและทดลองปลูกขึ้นมา โดยได้จัดแบ่งเป็นโซนต่าง ๆ ได้แก่

กิจกรรมการท่องเที่ยว

จุดท่องเที่ยวในสถานี

- สวน ๘๐ พรรษา ซึ่งจัดในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระชนมพรรษา ครบ ๘๐ พรรษา และเป็นสถานที่จัดแสดงขึ้นเพื่อรองรับการศึกษาดูงานของผู้มีความสนใจศึกษาเกี่ยวกับพรรณไม้ดอกเมืองหนาว โดยพรรณไม้ที่อยู่ในสวนเป็นการนำพรรณไม้ดอก ไม้ยืนต้น ที่ได้จากงานวิจัยของนักวิชาการ ที่นำออกมาสาธิต ในรูปแบบของการจัดภูมิทัศน์ให้สวยงาม ภายในสวนตกแต่งด้วยไม้ดอกเมืองหนาวนานาชนิด

- สวนหลวงสิริภูมิ เป็นสวนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์เฟิน ภายในมีน้ำตกขนาดเล็กซึ่งเป็นน้ำตกชั้นล่างของน้ำตกสิริภูมิ มีลำธารไหลไปตามบริเวณสวนตลอดปี เป็นแหล่งเก็บรวมรวมเฟินทั้งของไทยและต่างประเทศ ประมาณ ๓๐ สกุล ๕๐ ชนิด จุดเด่นภายในสวน คือ กูดต้น หรือ ทรีเฟิน (Tree Fern) เป็นเฟินขนาดใหญ่และมีลำต้นสูงร่วม ๑๐ เมตร ซึ่งมีประมาณกว่า ๑๐ ชนิด

- โรงเรือนจัดแสดงพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ จัดแสดงดอกไม้ ไม้ประดับชนิดต่างๆ ที่หมุนเวียนไปตามฤดูกาล อาทิเช่น กุหลาบหิน รองเท้านารี ซิมบิเดี้ยม

- สวนกุหลาบพันปี เป็นสวนที่เกิดจากการศึกษาและขยายพันธุ์กุหลาบพันปีพืชในสกุล Rhododendron จากแหล่งต่างๆ ที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ตามพื้นที่สูง ทั้งในและต่างประเทศ เช่น พม่า มาเลเซีย ทิเบต ภายในสวนประกอบไปด้วย กุหลาบพันปีจำนวน ๓ สายพันธุ์ คือ

กลุ่มที่ ๑ Rhododendron

- Rhododendron สีแดง ได้แก่ คำแดง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในดอยอินทนนท์และชื่อเสียง, กุหลาบแดงอีสาน ซึ่งมีการกระจายพันธุ์อยู่ทางภาคอีสานของไทย

- Rhododendron สีขาว ได้แก่ สีขาวอินทนนท์, สีขาวเชียงดาว, กุหลาบขาว

กลุ่มที่ ๒ Azalea - เป็นพืชกลุ่มหนึ่งในตระกูล Rhododendron เป็นลูกผสมจากงานศึกษาและค้นคว้า และทดสอบพันธ์ ซึ่งมีจัดแสดงอยู่ในสวนกุหลาบพันปี

กลุ่มที่ ๓ Vireyas เป็นพันธุ์ลูกผสม ซึ่งเป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย

- โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงเฟิน ซึ่งรวบรวมเฟินที่หายากชนิดต่าง ๆ ไว้มากมายหลายชนิด ทั้งของไทย และต่างประเทศ ซึ่งบางชนิดใกล้สูญพันธุ์แล้วเป็นโรงจัดแสดงเฟินที่มีความสำคัญทางด้านพืชสวนและเศรษฐกิจ ซึ่งมีประมาณ ๕๐ สกุล ๒๐๐ กว่าชนิด และยังมีเฟินรัศมีโชติ ซึ่งเป็นเฟินประจำถิ่นของพื้นที่ ที่ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร

- โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงพืชกินสัตว์ รวบรวมพืชกินสัตว์หรือพืชกินแมลง เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง, พิงกุย ชนิดต่าง ๆ ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศบนพื้นที่สูง

- โรงเรือนผักไฮโดรโพนิกส์ (Hydroponics) รวบรวมผักเมืองหนาวประเภทสลัด ปลูกโดยวิธีไร้ดิน เน้นผักสลัด ๕ ชนิด ของโครงการหลวง อาทิ ผักกาดหวาน กรีนโอ๊ค เรโอ๊ค บัตเตอร์เฮด ฟิลเล่ย์ไอส์เบริ์ก

หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง เป็นหน่วยย่อยของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ได้ดำเนินงานวิจัยพัฒนาและพัฒนาพันธุ์พืชเมืองหนาว ทำให้มีคณะเข้ามาศึกษาดูงานวิจัย ซึ่งได้มีการวิจัยและพัฒนาขึ้น ได้แก่

- งานวิจัยและสาธิตการผลิตไม้ดอก ได้แก่ กุหลาบ เดเลีย หน้าวัว เจอบีร่า

- งานวิจัยและสาธิตการผลิตไม้ผลขนาดเล็ก ได้แก่ สตอเบอรี่ ราสพ์เบอรี่ มัลเบอรี่ องุ่น

- งานวิจัยและสาธิตการผลิตไม้ผลเขตหนาว ได้แก่ พี้ช พลับ อาโวคาโด กีวี่ฟรุ๊ต

จุดท่องเที่ยวชุมชน

- บ้านแม่กลางหลวง ชุมชนปกาเกอญอที่มีวิถีชีวิต สมถะเรียบง่าย ท่ามกลางธรรมชาติ มีกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติเรียนรู้ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการ ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นศึกษาดูนก ประจำถิ่นในเส้นทางเดินป่าดอยหัวเสือ เส้นทางดูนกห้วยน้ำขุ่น และเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผาดอก นักท่องเที่ยวนิยมมาชมความสวยงามของนาข้าวขั้นบันได การทำนาข้าวจะแบ่งเป็น ๒ ช่วงคือ

- ก.ย. - กลาง ต.ค . ช่วงหน้าฝนต้นข้าวจะเริ่มเขียว เคล้าสายหมอกบางๆในฤดูฝน

- ปลายต.ค.-ต้นพ.ย. เป็นช่วงที่ต้นข้าวออกรวงเป็นสีทองเต็มท้องทุ่งเหลืองอร่าม

- บ้านหนองหล่ม ชุมชนชาวปกาเกอญอที่นี่มีต้นกาแฟประวัติศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระดำเนินด้วยพระบาทเป็นชั่วโมง เพื่อทอดพระเนตรต้นกาแฟเพียง ๒-๓ ต้น ทรงมีรับสั่งเองว่าการที่เสด็จไปทำให้ชาวเขานั้นเห็นว่ากาแฟนั้นสำคัญ จึงสนใจปลูก ปัจจุบันบนดอยมีกาแฟมากมายก็เริ่มจากกาแฟ ๒-๓ ต้นนั่นเอง

กิจกรรมท่องเที่ยว

เส้นทางเดินชมธรรมชาติสวนบริเวณในสถานีฯ และนักท่องเที่ยวสามารถนำจักรยานมาปั่นชมรอบ ๆ สถานีและในหมู่บ้านได้

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง

- อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ยอดดอยที่สูงที่สุดในไทย ๒,๕๖๕ จากระดับน้ำทะเลเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยมีสภาพป่าที่หลากหลายมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ น้ำตกแม่ยะ น้ำตกวชิรธาร น้ำตกแม่กลาง ถ้ำบริจินดา เส้นทางชมธรรมชาติกิ่วแม่ปาน เส้นทางชมธรรมชาติอ่างกา

- อำเภอแม่แจ่ม จากตัวสถานีไปยังอำเภอแม่แจ่ม ระยะทาง ๒๕ กิโลเมตร แต่เส้นทางค่อนข้างแคบ ลาดชัน ไปจนถึงอำเภอแม่แจ่ม มีจุดชมวิวธรรมชาติ น้ำตก วัดต่างๆ และวิถีชีวิตชาวบ้านที่ยังเงียบสงบ และที่นี่ยังเป็นแหล่งทอผ้าซิ่นตีนจกที่มีชื่อเสียงมานาน http://www.paiduaykan.com/76_province/north/chiangmai/maechaem.html

- วัดพระธาตุศรีจอมทอง ตั้งอยู่ถนนเชียงใหม่-ฮอด หมู่ ๒ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ ๕๘ กิโลเมตร วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๖

การเดินทาง

จากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๘ เชียงใหม่-ฮอด  ผ่าน อำเภอหางดง สันป่าตอง จอมทอง ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๕๗ ซึ่งอยู่ก่อนถึงตัวอำเภอจอมทองประมาณ ๑ กิโลเมตร จะมีทางแยกขวามือเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๐๐๙ สายจอมทอง-อินทนนท์ ไปตามเส้นทางสายนี้จนถึงหลักกิโลเมตรที่ ๓๑ มีทางแยกขวามือเข้าบ้านขุนกลางไปอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ๒๐๒ หมู่ ๗ บ้านขุนกลาง อำเภอจอมทอง  จังหวัดเชียงใหม่  ๕๐๑๖๐

๒. สถานีเกษตรหลวงปางดะ

ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ มูลนิธิโครงการหลวงได้เลือกพื้นที่ในสถานีทดลองข้าวไร่ และธัญพืชเมืองหนาวสะเมิง ของกรมวิชาการเกษตรหมู่บ้านปางดะ เป็นแหล่งทำการขยายพันธุ์พืช เมื่อปริมาณความต้องการด้านพันธุ์พืชเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผลิตต้นพันธุ์ได้ไม่เพียงพอ มูลนิธิโครงการหลวงจึงเปิดสถานที่แห่งใหม่ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ บนพื้นที่ประมาณ ๒๕ ไร่ ติดอ่างเก็บน้ำโครงการพระราชดำริห้วยปลาก้าง ซึ่งไม่ไกลจากบริเวณเดิมมากนัก

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ - ๒๕๒๙ จึงซื้อที่ดินเพิ่มอีกประมาณ ๖๕ ไร่ ขยายพื้นที่สำหรับการขยายพันธุ์พืชอย่างถาวร โดยดำเนินงานภายใต้ชื่อ “ศูนย์ขยายพันธุ์พืชปางดะโครงการหลวง” จนเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเยี่ยมศูนย์ขยายพันธุ์พืชปางดะโครงการหลวงเป็นครั้งแรก โดยทอดพระเนตรกิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ และในโอกาสนี้หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวงได้ทูลขอพระราชทานชื่อใหม่ว่า “สถานีเกษตรหลวงปางดะ” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานให้ใช้ชื่อนี้ พร้อมกับได้ขยายพื้นที่เพิ่มเติมรวม ๑๕๐ ไร่ ในปีเดียวกัน

ปัจจุบันสถานีเกษตรหลวงปางดะได้ขยายขอบเขตการปฏิบัติงาน เป็นสถานีวิจัยขยายพันธุ์พืชหลายชนิด นอกจากไม้ผลเมืองหนาว ไม้ดอกเมืองหนาว ไม้ผลเมืองร้อนและกึ่งร้อน ถั่วแขกและไม้ป่าไม้โตเร็ว

กิจกรรมการท่องเที่ยว

จุดท่องเที่ยวในสถานี

- แปลงวิจัยทดสอบสาธิตไม้ผล เช่น กีวี่ฟรุ๊ต โลควัท ไม้ผลขนาดเล็ก เช่น มะเดื่อฝรั่ง องุ่นไร้เมล็ด เสาวรส ราสพ์เบอรี่ มัลเบอรี่ และไม้ผลเขตร้อน เช่น อาโวคาโด้ มะม่วง ลิ้นจี่ มะเฟือง

- แปลงวิจัยทดสอบสาธิตผัก เช่น มะระหัวใจ มันเทศญี่ปุ่น สลัดรวม ถั่วแขก

- แปลงทดสอบพืชสมุนไพร เช่น จิงจูฉ่าย เลมอนทาร์ม เสจ หญ้าหวาน ชาหอม มิ้นต์

- แปลงวิจัยทดสอบสาธิตไม้ดอก เช่น ยูโคมิส กอลิโอซ่า เฮลิโคเนีย ดอกกุหลาบสายพันธุ์ต่าง ๆ

- นอกจากนี้ยังมีแปลงทอดสอบไผ่หวาน ไผ่หยก และพืชนำเข้า เช่น ทับทิมเมล็ดนิ่ม เชอรี่สเปน

จุดท่องเที่ยวชุมชน

น้ำพุร้อนโป่งกว๋าว ที่บ้านโป่งกว๋าว มีน้ำพุร้อนธรรมชาติ ท่ามกลางหุบเขา มีบ่อแช่น้ำแร่ บ้านพัก และลานกางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยว

กิจกรรมท่องเที่ยว

เส้นทางเดินชมสวน แปลงผัก นักท่องเที่ยวสามารถนำจักรยานมาปั่นชมรอบ ๆ บริเวณในสถานีฯ ได้

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง

- ไร่สตรอเบอรี่บ้านบ่อแก้ว ที่บ้านบ่อแก้วเป็นแหล่งปลูกสตรอเบอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีหลากหลายสายพันธุ์ นักท่องเที่ยวสามารถชิมและเลือกเก็บเองจากแปลง (ช่วงเดือน ธันวาคม-กุมภาพันธ์) และทาง

- อำเภอสะเมิงยังจัดงานสตรอเบอรี่ของดีอำเภอสะเมิง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสบสะเมิง (น้ำแม่ขาน) ในพื้นที่บ้านทรายมูล ตำบลสะเมิงใต้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติสะเมิง เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลสู่แม่น้ำปิง มีโขดหิน หาดทราย สำหรับพักผ่อนเล่นน้ำ

- จุดชมวิวอำเภอสะเมิง ตั้งอยู่ สาย แม่ริม-สะเมิง กิโลเมตรที่ ๒๕ เป็นจุดผ่านสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ภูเขา ป่าไม้

- โครงการฟาร์มตัวอย่างบ้านแม่ตุงติงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตัวอย่างการทำเกษตรแบบผสมผสานทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์

- ม่อนแจ่ม โครงการหลวงหนองหอย ห่างจากสถานีฯปางดะ ๑๕ กิโลเมตร จุดชมวิวิบนสันเขาที่มองวิวได้สวยงามและมีที่พักแบบเต็นท์

- ม่อนกุหลาบห้วยผักไผ่ โครงการหลวงทุ่งเริง ห่างจากสถานีฯ ปางดะ ๑๕ กิโลเมตร เป็นที่รวบรวมกุหลาบกว่า ๑๘๐ สายพันธุ์ ให้ได้ชมและมีกุหลาบกระถางเลือกซื้อกลับ

การเดินทาง

จากตัวเมืองเชียงใหม่ ระยะทางรวม ๕๐ กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๗ ผ่าน อำเภอแม่ริม เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๖ แม่ริม-สะเมิง  ถึงสามแยกสะเมิง  แล้วเลี้ยวขวา ไปอีก ๑ กิโลเมตร สถานีปางดะจะตั้งอยู่ด้านขวาสังเกตป้ายด้านหน้าสถานี

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

สถานีเกษตรหลวงปางดะ ๑๙๒ หมู่ ๑๐ ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๒๕๐

๓. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เพื่อช่วยเหลือชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและม้ง ให้ได้รับการดูแลในด้านสาธารณูปโภคที่เพียงพอ ลดปัญหาการบุกรุกป่าทำไร่เลื่อนลอย และขจัดปัญหาการปลูกฝิ่น โดยสร้างอาชีพหลักทดแทน พระองค์ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้มูลนิธิโครงการหลวงโดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง เสด็จสำรวจพื้นที่และสภาพความเป็นอยู่เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวบ้านจำนวน ๑๔ หมู่บ้าน ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชัน อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๓๕ เมตร ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการปลูกพืชผัก และพืชไร่ รวมทั้งผลไม้อื่นๆ

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

- ชมแปลงส่งเสริมผลผลิต เช่น พลับ อะโวกาโด ดอกไฮเดรนเยีย สมุนไพร และพืชไร่

- ชมนาขั้นบันไดของชาวกะเหรี่ยง เป็นที่กว้างลดหลั่นตามความสูง

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

- ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้งและกะเหรี่ยง การละเล่นช่วงเทศกาล

- ปีใหม่ม้ง

- การทอผ้าของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวเขา การปักลวดลายและเครื่องประดับ

- การนวดสมุนไพรของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง

การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

- น้ำตกขุนแปะ เป็นที่พักผ่อนเล่นน้ำ มีธรรมชาติที่สวยงาม ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้า และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร จึงได้รับฉายาว่า น้ำตกแห่งแสงสว่าง

- น้ำตกห้วยขี้เหล็ก อยู่ในป่าลึก เป็นแหล่งอาศัยของตัวซาลามานเดอร์ และเขียดแลวที่หายาก

- ถ้ำป่ากล้วย ตั้งอยู่เหนือน้ำตกขุนแปะ บริเวณรอบๆ เป็นป่าโปร่ง มีทิวทัศน์สวยงาม

- เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ เส้นทางโครงการหลวงขุนแปะ – ผาขาว และเส้นทางโครงการหลวงขุนแปะ – ดอยอมติง นำเที่ยวชมโดยไกด์ท้องถิ่นเป็นชาวบ้านที่มีความชำนาญเส้นทาง

- ผาขาว ผาแตก เป็นผาจุดชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม

การเดินทาง

จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๘ (สายเชียงใหม่ – ฮอด) ถึง กม.๘๒-๘๓ บริเวณสามแยกไปบ้านแปะและวัดตอง ให้เลี้ยวขวา ตรงไปผ่านบ้านแปะ บ้านทุ่งพัฒนา บ้านบนนา บ้านขุนแปะ ประมาณ ๒๒ กิโลเมตร เส้นทางนี้ไม่ควรเดินทางด้วยรถเก๋ง เป็นถนนลาดยางสลับกับลูกรัง ยกเว้นช่วงฤดูฝนควรใช้โฟร์วีลไดรฟ์ หรือใช้บริการรถยนต์รับจ้าง จุดจอดหน้าวัดบ้านแปะ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ บ้านขุนแปะ หมู่ ๒  ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๑๖๐

๔. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ด้วยแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาอันเกิดจากการขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีพ และขาดการสนับสนุนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในด้านอาชีพที่ยังไม่มีหน่วยงานเข้ามาดูแลให้ความรู้ทางด้านเกษตรกรรมศูนย์ฯ มุ่งเน้นพัฒนาอาชีพทางด้านการเกษตรที่เหมาะสม นำรายได้ที่มั่นคงมาสู่ชุมชน ยับยั้งการบุกรุกป่าจากการทำไร่เลื่อนลอย และสกัดกั้นการปลูกฝิ่น

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง ตั้งอยู่ในหุบเขา ทัศนียภาพจึงมีความงดงามเป็นพิเศษ พื้นที่เหมาะแก่การทำนาและปลูกพืช ส่วนพื้นที่ลาดเชิงเขาเหมาะแก่การปลูกผลไม้และพืชไร่ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ๙๘๐ เมตร อุณหภูมิต่ำสุด ๗ องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด ๓๗ องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ย ๒๒ องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย ๑,๓๓๐ มิลลิเมตร / ปี มีพื้นที่รับผิดชอบ ๑๐๒.๐๘ ตารางกิโลเมตร หรือ ๖๓,๘๒๐ ไร่ ครอบคลุม ๑๑ หมู่บ้าน ๖๐๙ ครัวเรือน ประชากรในพื้นที่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและม้ง นับถือศาสนาพุทธและคริสต์

กิจกรรมการท่องเที่ยว

จุดท่องเที่ยวในศูนย์

- แปลงสาธิตการผลิตพืชผักเมืองหนาว ได้แก่ ผักกาดหอมห่อ ผักกาดหวานโอ๊คลีฟเขียว โอ๊คลีฟแดง ตลอดจนการ เพาะกล้าผักชนิดต่างๆ

- แปลงสาธิตการผลิตไม้ผล ได้แก่ พลับ องุ่น กีวี่

- แปลงสาธิตการผลิตไม้ดอก ได้แก่ จิ๊ปโซฟิลล่า ปักษาสวรรค์ สนช่อดาว สร้อยไก่ และบอลลูนฟราวเวอร์

- คอกสาธิตการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นกกระจอกเทศ กวาง ไก่ฟ้า ไก่เบรส

- การสาธิตการผลิตปุ๋ยหมัก การเลี้ยงไส้เดือนดิน

จุดท่องเที่ยวในชุมชน

- แปลงผลิตพืชผัก ไม้ดอก ไม้ผลตามฤดูกาล พืชผัก ได้แก่ ผักกาดหอมห่อ ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี แครอท และเบบี้แครอท ไม้ผล พลับ องุ่น กีวี่ พลัม ไม้ดอก ได้แก่ จิ๊ปโซฟิลล่า ปักษาสวรรค์ สนช่อดาว สร้อยไก่ และบอลลูน

- น้ำตกห้วยกระแส เดินทางจากศูนย์ฯทุ่งหลวงประมาณ ๕ กิโลเมตรและเดินเท้าอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร จะได้สัมผัสกับป่าสนเขาน้ำตกหลายชั้น ซึ่งแม้จะมีปริมาณน้ำไม่มากนักแต่ก็มีน้ำไหลรินชุ่มชื่นอยู่ตลอดทั้งปี

- น้ำตกบ้านโป่งสมิต เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีอย่างน้อย ๓ จุดที่ต้องเดินเท้าผ่านทุ่งนาเพื่อชมวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง การทำนาละปลูกพืชแบบนาขั้นบันได

- วัดพระธาตุศรีพุทธชินวงศ์นักท่องเที่ยวสามารถไปนมัสการพระธาตุได้ตลอดทั้งปีและชมทิวทัศน์ที่สวยงามโดยรอบ ทั้งสภาพบ้านเรือนที่กลมกลืนกับธรรมชาติและแปลงผัก

- ชมวิถีชีวิตชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) ภูมิปัญญาในการรักษาป่า ข้อมูลที่น่าสนในและเกี่ยวกับการเดินป่า คือ ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านที่ได้ตกลงร่วมกันแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็น ๓ ส่วน คือป่าอนุรักษ์ เป็นส่วนที่ห้ามตัดทำลาย ป่าใช้สอยเป็นป่าสำหรับการปลูกพืชทำกินและหาของป่าและอีกส่วนหนึ่งคือป่าชุมชนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย งานปีใหม่กะเหรี่ยง จัดพร้อมช่วงปีใหม่สากล ช่วงวันที่ ๓๑ ธันวาคม และ ๑ มกราคม มีการเฉลิมฉลองและจัดพิธีกรรมต่างๆ งานหัตถกรรม เป็นสินค้าผ้าทอมือของกลุ่มคนในชุมชน โดยมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ ถุงย่าม กระเป๋า เสื้อผู้ชายหญิง ผ้าพันคอ พวงกุญแจ เป็นต้น เครื่องดนตรีกะเหรี่ยง

- อ่างเก็บน้ำห้วยตอง เป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้ในการทำการเกษตรของหมู่บ้านบ้านห้วยตองและหมู่บ้านใกล้เคียง มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง

- ปางช้างแม่วิน ห่างจากศูนย์ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมการล่องแพ ขี่ช้าง ตามลำน้ำแม่วาง

- ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ห่างจากศูนย์ประมาณ ๑๗ กิโลเมตร เป็นแหล่งที่มีการปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งมีความสวยงามซึ่งจะออกดอกช่วงเดือน ธันวาคม-มกราคม ของทุกปี

- หน่วยจัดการต้นน้ำแม่สะงะ อยู่ห่างจากศูนย์ประมาณ ๑๗ กิโลเมตร เหมาะแก่การท่องเที่ยวแบบเดินป่า บริเวณพื้นที่มีลานกางเต้นค้างแรมเพื่อซึมซับกับธรรมชาติจากผืนป่าและต้นไม้นักท่องเที่ยวส่วนมากเป็นชาวต่างชาติ

การเดินทาง

ระยะทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ถึงศูนย์ประมาณ ๖๕ กม.ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้เส้นทางหมายเลข ๑๐๘ สายเชียงใหม่-ฮอด ผ่านอำเภอสันป่าตองประมาณ ๗๐๐ เมตร ให้เลี้ยวขวาไปตำบลบ้านกาด ผ่านอำเภอแม่วางและปางช้างแม่วิน กระทั่งถึงวัดพระธาตุศรีพุทธิวงศ์ ศูนย์ฯ อยู่ห่างไปประมาณ ๕๐๐ เมตร ระยะทางแยกอำเภอสันป่าตองถึงศูนย์ฯ ๔๘ กิโลเมตร

หมายเหตุ.- ใช้รถยนต์ได้ทุกประเภท ถนนลาดยางเดินทางได้ตลอดทั้งปี แต่ไม่ควรบรรทุกสัมภาระจนหนักเกิน เพราะเป็นเส้นทางขึ้นเขาและคดเคี้ยว (ไม่มีบริการรถยนต์รับจ้าง)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง บ้านห้วยตองเลขที่ ๗๙ หมู่ที่ ๑๐ ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

๕. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย 

ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ รัชกาลที่ ๙ เยี่ยมราษฎรหมู่บ้านหนองหอย ทรงมีพระราชดำริว่าควรจะมีการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร จากนั้นกรมป่าไม้ได้จัดส่งหน่วยงานร่วมกับหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๒๗ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงเห็นว่าบ้านหนองหอยมีประชากรเพิ่มมากขึ้น และมีการขยายหมู่บ้านออกเป็น ๒ หมู่บ้าน คือ บ้านหนองหอยใหม่และหนองหอยเก่า อีกทั้งยังมีการปลูกฝิ่นเป็นจำนวนมาก จึงได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยขึ้น เพื่อให้มีบทบาทในการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะพืชเสพติด

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย ตั้งอยู่บริเวณต้นน้ำแม่แรมและแม่สา มีพื้นที่ ๒๑.๑๗ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๓,๒๓๑ ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเล ๗๘๐ -๑,๔๓๐ เมตร ครอบคลุมพื้นที่จำนวน ๖ หมู่บ้าน ๓๗๑ ครัวเรือน ประกอบด้วยชาวเขาเผ่าม้ง เผ่าลีซอ คนพื้นเมืองและจีนยูนนาน นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธลัทธิผี และศาสนาคริสต์ลัทธิผี ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑

กิจกรรมการท่องเที่ยว

จุดท่องเที่ยวในศูนย์

- ม่อนแจ่ม เป็นจุดชมวิวบนสันเขาสามารถมองวิวภูเขาได้ ๓๖๐ องศา สามารถชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและตก ทะเลหมอกช่วงฤดูหนาว มีบริการร้านอาหาร มุมนั่งจิบกาแฟ และชาสมุนไพรสด ๗ ชนิด ด้านหน้าทางเข้าม่อนแจ่มมีร้านค้าของที่ระลึกชุมชนจำหน่ายสินค้าผลผลิตตามฤดูกาล งานหัตถกรรมชาวเขา และรถล้อเลื่อนไม้ (ฟอมูล่าม้ง)ให้นักท่องเที่ยวได้ลองขับ

- สถานีวิจัยพัฒนาพืชผักโครงการหลวง มีผักหลากหลายชนิดหมุนเวียนปลูกตามฤดูกาลเพื่อทำงานวิจัยเก็บข้อมูล เช่น อาติโช๊ค เรดโอ๊ค มะเขือเทศโครงการหลวง พืชสุมนไพร และผักไฮโดรโพนิคส์ปลูกโดยไม่ใช้ดิน

- แปลงผักแบบขั้นบันได เนื่องจากพื้นที่เป็นภูเขาลาดชัน ชาวบ้านก็เลยทำแปลงผักแบบขั้นบันไดเพื่อให้ง่ายกับการปลูกผัก ช่วงที่สวยที่สุดจะเป็นกลางฤดูฝนจนถึงกลางฤดูหนาว (สิงหาคม-ธันวาคม) มีผักหลากชนิด เช่น ผักกาดหอมห่อ ผักกาดขาว กะหล่ำปลี

- แปลงสาธิตไม้ผล

จุดท่องเที่ยวชุมชน

- ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้ง ที่ยังมีการปักผ้าลวดลายต่างๆ มีการละเล่นต่างๆ เช่น การเป่าแคน โยนลูกช่วง ยิงหน้าไม้ ลูกข่างม้ง แข่งล้อเลื่อนไม้ ช่วงเทศกาลงานปีใหม่ม้งจัดช่วงเดือน ธันวาคม-มกราคม ชาวบ้านจะแต่งกายชุดประจำเผ่าสวยงามมาร่วมกิจกรรม บริเวณลานหมู่บ้าน

- จุดชมวิวดอยม่อนล่อง มีลักษณะเป็นหน้าผามองไปไกลๆจะเห็นถึงเมืองลำพูนเป็นที่ตั้งของศาลขุนหลวงวิลังคะตามตำนาน

- แปลงสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน (ออกผลผลิตช่วง ธันวาคม-มีนาคม ) มีหลากหลายแปลงให้นักท่องเที่ยวได้สนุกเพลิดเพลินกับการเก็บ-ชิม สตรอเบอรี่สดๆ ตลอดจนมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสตรอเบอรี่จำหน่าย เช่น น้ำสตรอเบอรี่ สตรอเบอรี่อบแห้ง

- สวนอีเดน ตั้งอยู่ซ้ายมือก่อนถึงม่อนแจ่ม ๑.๕ กิโลเมตร เป็นสวนองุ่นไร้เมล็ดของเกษตรกรที่ปลูกในโรงเรือนมีกิจกรรมให้เก็บองุ่นเอง และจำหน่ายองุ่นสดและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากองุ่น เช่น น้ำองุ่นสด องุ่นอบแห้ง

กิจกรรมท่องเที่ยว

- เส้นทางเดินชมสวนบริเวณในสถานีฯ

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง

- สถานีเกษตรหลวงปางดะ เป็นสถานีทดลอง วิจัยการปลูกผักไม้ผลต่าง ๆ ของโครงการหลวง

- สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เป็นแหล่งรวบรวมพืชพรรณไม้ สมุนไพร เขตร้อน ตกแต่งไว้เป็นหมวดหมู่ให้ได้ศึกษาประโยชน์คุณค่าของต้นไม้ชนิดนั้น

- ปางช้างแม่สา ปางช้างแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐาน ISO 9001 version 2008 เนื่องจากมีความมุ่งมั่นที่จะนำเสนอปางช้างยุคใหม่ที่นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสได้ถึงการดูแลเอาใจใส่ที่ดีต่อช้างทุกเชือก มีหอศิลปะภาพวาดของช้าง การแสดงช้าง ให้ชม

- น้ำตกแม่สา เขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ชั้นน้ำตก ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ทั่วบริเวณ ทำให้สภาพอากาศร่มรื่นเย็นสบายตลอดปี เป็นสถานที่พักผ่อนเล่นน้ำ

การเดินทาง

จากตัวเมืองเชียงใหม่ ๓๙ กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ ๔๕ นาที  เส้นทางหลวงหมายเลข ๑๐๗  เชียงใหม่-แม่ริม แล้วเลี้ยวซ้าย กม.ที่ ๑๗ ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๖ แม่ริม-สะเมิง ระหว่างกิโลเมตรที่  ๑๓-๑๔  จะเจอป้ายศูนย์ทางด้านขวา  ขึ้นไปอีก ๖ กิโลเมตร

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๑๘

๖. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว

ปี พ.ศ. ๒๕๒๓  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรชาวเขาในพื้นที่ด้วยชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นและยากจนของชาวเขา พระองค์ทรงช่วยเหลือและรับหมู่บ้านแห่งนี้ไว้ในโครงการหลวง ต่อมามูลนิธิโครงการหลวงจึงได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียวขึ้น ทั้งนี้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียวมีหมู่บ้านในความรับผิดชอบคือ หมู่บ้านหนองเขียว หมู่บ้านหนองวัวแดง และหมู่บ้านใหม่สามัคคี ในท้องที่ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

- ชมแปลงสาธิตภายในศูนย์ฯ   เช่น อะโวกาโดพันธุ์ต่างๆ มะม่วง น้อยหน่า ฯลฯ แปลงผัก และงานส่งเสริมพืชไร่ เช่น งาดำ ข้าวไร่ ข้าวฟ่างกระเจี๊ยบ ฟักทองญี่ปุ่น ฯลฯ

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

- ชมวิถีชีวิตของชาวเขา ๖ เผ่า คือ ลั๊วะ มูเซอ คะฉิ่น (บ้านหนองเขียว) ลีซอ (บ้านรินหลวง) อาข่า (บ้านใหม่สามัคคี) จีนยูนนาน (บ้านอรุโณทัย)

- ศูนย์วัฒนธรรมบ้านตัวอย่างของชาวคะฉิ่น เป็นแหล่งรวมกิจกรรม ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้าประจำเผ่า โดยชนเผ่าคะฉิ่นนิยมการเต้นรำ จะมีการแสดงตามวาระสำคัญต่างๆ เช่น งานมะหน่าว จะจัดช่วงเดือนธันวาคม ในทุกๆ ๒ ปี สำหรับชนเผ่าคะฉิ่นนั้นได้ทำการอพยพมาจากประเทศพม่า ซึ่งในประเทศไทยจะมีอยู่ที่บ้านหนองเขียวแห่งเดียวเท่านั้น

การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

- น้ำตกศรีสังวาลย์ ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแดง เป็นน้ำตกหินปูน อยู่ระหว่างถนนสายเชียงใหม่-ฝาง ประมาณ กม.๒๔

- โป่งน้ำร้อน โป่งอ่าง เป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติอยู่ระหว่างถนนสายเชียงใหม่-ฝาง ประมาณหลัก กม.๒๒

การเดินทาง

ระยะทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ ๑๒๒ กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๗ (สายเชียงใหม่-ฝาง) ถึงอำเภอเชียงดาว กม.ที่ ๗๙ แยกเมืองงาย ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๑๗๘ สายเมืองงาย-อรุโณทัย ถึง กม.ที่ ๓๒ จะพบด่านตรวจบ้านรินหลวง เลี้ยวขวาไปอีก ๕ กิโลเมตร จะพบปากทางเข้าศูนย์ฯ เข้าไป ๑ กิโลเมตร สามารถใช้รถยนต์เดินทางได้ทุกประเภท และเส้นทางนี้ยังสามารถเดินทางต่อไปยังดอยอ่างขาง ระยะทางอีก ๔๕ กิโลเมตร

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว บ้านใหม่สามัคคี หมู่ ๑๐ ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๑๗๐ 

๗. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง 

ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง ก่อตั้งขึ้นบนพื้นที่ ๑๐ ไร่ โดยมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบและประสานงาน ส่งเสริมการปลูกพืชให้เพียงพอแก่ความต้องการของคนในท้องถิ่น หาพันธุ์พืชชนิดใหม่ทดแทนฝิ่น ส่งเสริมการทำการเกษตรถาวร เน้นการปลูกไม้ผลเมืองหนาว ปลูกพืชระยะยาว และพัฒนาปัจจัยพื้นฐานให้มีมาตรฐานทางสังคมที่ดีขึ้น

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐-๑,๕๐๐ เมตร  มีพื้นที่รับผิดชอบ ๗๖.๙๑ ตารางกิโลเมตร หรือ ๔๕,๙๓๐.๘๘ ไร่ ครอบคลุม ๑๗ หมู่บ้าน ๑,๐๖๑ ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าม้งและกะเหรี่ยงซึ่งอยู่อาศัยก่อตั้งหมู่บ้านมานานกว่า ๕๐ ปี ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน พื้นที่ราบอยู่ตามหุบเขา ต้นน้ำสายสำคัญไหลผ่าน คือลำน้ำแม่หยอดและลำน้ำปางเกี๊ยะ อุณหภูมิเฉลี่ย ๒๐ องศาเซลเซียส

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook