ซึ่งใจกับผู้อยู่เบื้องหลัง กาพย์เห่กระบวนพยุหยาตราฯ ทั้ง 6 ครั้ง

ซึ่งใจกับผู้อยู่เบื้องหลัง กาพย์เห่กระบวนพยุหยาตราฯ ทั้ง 6 ครั้ง

ซึ่งใจกับผู้อยู่เบื้องหลัง กาพย์เห่กระบวนพยุหยาตราฯ ทั้ง 6 ครั้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นาวาเอกทองย้อย ผู้ประพันธ์กาพย์เห่เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สุดปลื้มได้ถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทจนเกษียณอายุราชการ แต่งกาพย์เห่ทั้ง 6 ครั้ง

(19 ต.ค.) จากบทประพันธ์กาพย์เห่เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค คราวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จพระราชดำเนินในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539

โดยใช้บทประพันธ์กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติปีกาญจนาภิเษก ในมหามงคลวโรกาสทรงครองราชย์สมบัติครบ 50 ปี ที่ประพันธ์โดย นาวาเอก(พิเศษ) ทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ทหารเรือ โดยมี นาวาโท ณัฐวัฏ อร่ามเกลื้อหัวหน้าแผนกเรือพระราชพิธีเป็นผู้ขับลำนำ

นาวาเอก(พิเศษ) ทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ทหารเรือ อายุ 72 ปี เป็นบ้านชุมชนวัดเขาเหลือ เขตเทศบาลเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันออกมาใช้ชีวิตที่เรียบง่ายหลังเกษียณอายุราชการด้วยการยึดหลักตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โดยเป็นจิตรอาสาช่วยงานทางสังคม เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในโครงการเรียนรู้ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทให้กับเยาวชน นักเรียนนักศึกษา และเป็นมรรคนายก ณ วัดมหาธาตุวรวิหารพระอารามหลวง สมรสกับนางสุดใจ แสงสินชัยอดีตข้าราชการครูวิชาภาษาไทยวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี มีบุตรธิดา 3 คน ทำงานบริษัทเอกชนและรับราชการทหารเรือ

นาวาเอก(พิเศษ) ทองย้อย เผยถึงความปลื้มปิติ ที่ได้มีโอกาสสนองงานใต้เบื้องพระยุคลบาทเป็นผู้ประพันธ์บทกาพย์เห่เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค อีกทั้งยังเคยได้มีโอกาสเข้ารับประกาศนียบัตร พระราชทานพัดยศเปรียญธรรม ทรงตั้งเป็น "เปรียญ 9 ประโยค" เมื่อปี พ.ศ. 2511 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งนับได้ว่าเป็นบุญญาธิการของตนเองและวงตระกูล

ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ จึงลาสิกขา เมื่อปี พ.ศ. 2517 และเข้าทำงานเป็นนักวิชาการมูลนิธิภูมิพโลภิกขุ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร จากนั้น ปี พ.ศ. 2521 ได้เข้ารับราชการเป็นนักภาษาโบราณกองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร จนตัดสินใจเข้าถวายงานใต้เบื้องพระยุคลบาทเข้ารับราชการเป็นอนุศาสนาจารย์กองทัพเรือ เมื่อปี พ.ศ. 2524 จนเกษียณอายุราชการ

ในระหว่างรับราชการทหารเรือนั้นตนได้มีผลงานทางหนังสือได้เขียนกาพย์กลอน รวมทั้งบทความวิชาการต่างๆ ซึ่งรวมเรียกว่า "ผลงานหนังสือ" ไว้หลายเรื่อง บางเรื่องพิมพ์เผยแพร่แล้ว บางเรื่องยังไม่ได้พิมพ์ อาทิ กลอนนิราศเรื่อง ลำนำลำน้ำแควน้อย บรรพชาปวัตน์คำกลอน บทกลอนชนะเลิศรางวัลเคนเนดีทางวรรณคดี และเพลงฉ่อยนำชมเมืองราชบุรี

นาวาเอก(พิเศษ) ทองย้อย ยังกล่าวอีกว่า กาพย์เห่เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตนเองได้เป็นผู้ประพันธ์ทั้ง 6 คราว อาทิ ปี 2539 เป็นครั้งแรก ในบทเฉลิมพระเกียรติปีกาญจนาภิเษก ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2542 บทกาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ครั้งที่ 3 ปี พ.ศ. 2546 บทกาพย์เห่เรือเอเปค ในโอกาสประชุมเอเปคในประเทศไทย เมื่อ 20 ตุลาคม 2546

ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ. 2549 บทกาพย์เห่เรือฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ครั้งที่ 5 ปี พ.ศ. 2550 บทกาพย์เห่เรือ 80 พรรษา และปีสุดท้าย ครั้งที่ 6 ปี พ.ศ. 2555 บทกาพย์เห่เรือ ครบ 7 รอบ ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้กองทัพเรือเป็นผู้ดำเนินการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค นับว่าตนเองได้รับเกียรติอย่างสูงสุดที่ได้เป็นผู้ประพันธ์ โดยที่ตนเองได้นำความรู้ความสามารถประกอบกับความจงรักภักดีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงได้ตั้งใจและประพันธ์บทกาพย์เห่เรือถวายงานใต้เบื้องพระยุคลบาทในครั้งนี้

นาวาเอก(พิเศษ) ทองย้อย เผยความประทับใจด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า ในการประพันธ์บทกาพย์เห่เรือที่ประทับใจมากที่สุดคือ "แผ่นดินที่ทรงครอง แผ่นดินทองแผ่นดินธรรม คราวเข็ญเข้าครอบงำ ทรงดับเข็ญทุกคราวครัน เหน็ดเหนื่อยนั้นหนักนัก ทรงงานหนักอเนกอนันต์ วันพักเพียงสักวัน ก็แสนน้อยดูนานเกิน วังทิพย์คือท้องทุ่ง ม่านงามรุ้งคือเขาเขิน ร้อนหนาวในราวเนิน มาโลมไล้ต่างรสสุคนธ์ ย่างพระบาทที่ยาตรา ยาวรอบหล้าฟ้าสากล พระเสโทที่ถั่งทน ถ้าไหลรวมคงท่วมไทย"

นอกจากนี้ยังมีบทที่ภาคภูมิใจอีกบทคือแต่งกาพย์เห่เรือเอเปค ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำเอเปค (กาพย์เห่เรือที่แต่งในงานนี้มี 2 บท คือ ชมเรือกระบวน และ ชมเมือง) ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้นำของชาติต่างๆที่เข้าชมในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นอย่างมาก

หลังจากที่ทราบว่าพระองค์ทรงเสด็จสวรรคต ตนและครอบครัวต่างมีความรู้สึกโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากตนเองและครอบครัวได้รับใช้งานใต้เบื้องพระยุคลบาทมาโดยตลอด เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแม้จะเกษียณอายุราชการมาแล้วก็ยังคงทำหน้าที่เพื่อสังคมและถ่ายทอดพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ ให้กับเยาวชนและนักเรียนนักศึกษาได้เรียนรู้สืบไป

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ ซึ่งใจกับผู้อยู่เบื้องหลัง กาพย์เห่กระบวนพยุหยาตราฯ ทั้ง 6 ครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook