5 สิ่งที่รัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิก เพื่อความก้าวหน้าของสยาม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงวางรากฐานต่างๆ ให้กับประเทศไทยในหลายๆ ด้านด้วยกัน ซึ่งวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปีคือวันปิยมหาราช ที่ประชาชนชาวไทยทุกคนล้วนรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ท่านที่มีต่อประเทศไทย
ด้วยพระปรีชาสามารถและสายพระเนตรที่ยาวไกล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกขนบธรรมเนียมและข้อปฏิบัติต่างๆ 5 อย่าง ที่ทำให้ประเทศสยามเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงทุกวันนี้
เลิกทาส
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศ "พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย" เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 แก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ โดยให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ มีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีเป็นทาสอีก
ใน พ.ศ. 2448 ก็ทรงออก "พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124" ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2448 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก และเมื่อทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัว
เลิกไพร่
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่า การยกเลิกขนบไพร่เป็นการปลดทุกข์ของราษฎรทุกตำบลทั่วราชอาณาจักร จึงมีความเห็นว่าการยกเลิกขนบไพร่สำคัญยิ่งกว่าการยกเลิกขนบทาสเสียอีก เพราะราษฎรได้รับการส่งเสริมฐานะทางเศรษฐกิจ มีเวลาทำมาหากินได้เต็มที่ และไม่มีใครรังเกียจเหมือนแต่ก่อน
ทั้งนี้ ขนบไพร่บังคับให้ราษฎรอายุตั้งแต่ 15-16 ปี จนถึง 70 ปี ต้องทำงานรับใช้หรือส่งส่วยให้แก่ชนชั้นปกครอง แบ่งออกเป็นไพร่หลวง ไพร่สมและไพร่ส่วย ไพร่มีกำหนดรับราชการเดือนเว้นเดือน ในสมัยอยุธยา ปีละ 6 เดือน ลดลงมาเหลือปีละ 4 เดือนในสมัยรัชกาลที่ 1 และเหลือ 3 เดือนในรัชกาลที่ 2 หากไม่อยากรับราชการก็ต้องจ่าย "ค่าราชการ" เดือนละ 6 บาท
จากขนบไพร่ทำให้ประชาชนที่เป็นไพร่ไม่สามารถทำงานของตัวเองอย่างเต็มที่ จึงไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้
เลิกประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้า
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลิกประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้ามาเป็น ยืนเฝ้า หรือ นั่งเก้าอี้แทน และถวายความเคารพด้วยการคำนับแทนการหมอบกราบ แต่พวกข้าราชการฝ่ายในยังใช้การเข้าเฝ้าแบบประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าอยู่
เลิกการโกนผมไว้ทุกข์
การโกนผม เป็นการไว้ทุกข์ตามโบราณราชประเพณีเพื่อแสดงความเคารพอาลัย ในอดีตผู้ที่จะโกนผมจะต้องอยู่ในสังกัดมูลนายที่เสียชีวิต ยกเว้นแต่เพียงการสวรรคตของพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ทุกคนต้องโกนผม
การโกนผมไว้ทุกข์ได้ถูกยกเลิกในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระราชดำริของพระชนกนาถ(พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ไม่ทรงมีพระราชประสงค์สร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎรจากธรรมเนียมนี้ในเวลาที่ราษฎรต้องโศกเศร้าเมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคต
"ตามโบราณราชประเพณีในเวลาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการราษฎรทั้งหลายต้องโกนผมแทนการไว้ทุกข์ทั่วทั้งพระราชอาณาจักร แต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถได้ทรงมีพระราชดำรัสสั่งไว้ว่า การไว้ทุกข์เช่นที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมเป็นเครื่องเดือดร้อนอยู่เป็นอันมาก ให้ยกเลิกเสียทีเดียว"
เลิกการปกครองแบบจตุสดมภ์
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสประเทศต่างๆในทวีปเอเชียและยุโรป ทรงได้เห็นความเจริญของประเทศต่างๆ จึงได้นำมาปฏิรูปการปกครองเสียใหม่ ทรงประกาศเลิกการปกครองแบบจตุสดมภ์ เปลี่ยนการบริหารมาเป็นกระทรวงต่างๆเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 โดยจัดแบ่งอำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวงอย่างชัดเจนไม่ซ้ำซ้อนกัน
ทรงประกาศตั้งกระทรวงขึ้นอย่างเป็นทางการจำนวน 12 กระทรวง อันประกอบด้วย
1. กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบงานที่เดิมเป็นของสมุหนายก ดูแลกิจการพลเรือนทั้งหมดและบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและชายทะเลตะวันออก
2. กระทรวงนครบาล รับผิดชอบกิจการในพระนคร
3. กระทรวงโยธาธิการ รับผิดชอบการก่อสร้าง
4. กระทรวงธรรมการ ดูแลการศาสนาและการศึกษา
5. กระทรวงเกษตรพานิชการ รับผิดชอบงานที่ในปัจจุบันเป็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์
6. กระทรวงยุติธรรม ดูแลเรื่องตุลาการ
7. กระทรวงมรุธาธร ดูแลเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์
8. กระทรวงยุทธนาธิการ รับผิดชอบปฏิบัติการการทหารสมัยใหม่ตามแบบยุโรป
9. กระทรวงพระคลังสมบัติ รับผิดชอบงานที่ในปัจจุบันเป็นของกระทรวงการคลัง
10. กระทรวงการต่างประเทศ (กรมท่า) รับผิดชอบการต่างประเทศ
11. กระทรวงกลาโหม รับผิดชอบกิจการทหาร และบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้
12. กระทรวงวัง รับผิดชอบกิจการพระมหากษัตริย์
หลังจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบกิจการพลเรือนเพียงอย่างเดียว และให้กระทรวงกลาโหมรับผิดชอบกิจการทหารเพียงอย่างเดียว ยุบกรม 2 กรม ได้แก่ กรมยุทธนาธิการ โดยรวมเข้ากับกระทรวงกลาโหม และกรมมรุธาธร โดยรวมเข้ากับกระทรวงวัง และเปลี่ยนชื่อกระทรวงเกษตรพานิชการ เป็น กระทรวงเกษตราธิการ