พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับกิจการการรถไฟแห่งประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับกิจการการรถไฟแห่งประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับกิจการการรถไฟแห่งประเทศไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณผู้อ่านรู้หรือไม่ว่า กิจการการรถไฟแห่งประเทศไทย มีจุดเริ่มต้นย้อนไปตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีแล้ว ซึ่งผู้ที่คิดค้นริเริ่มนำรถไฟเข้ามาให้คนไทยได้รู้จักกัน ก็คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 5 นั่นเอง


จุดเริ่มต้นการรถไฟแห่งประเทศไทย

     ในสมัยนั้น ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศทั้งหลายที่เจริญ ซึ่งก่อนที่จะมีถนนหนทางมากมายและรถราวิ่งกันขวักไขว่เหมือนในสมัยนี้นั้น ผู้คนยังคงใช้พาหนะจากสัตว์ เช่น โค, กระบือ หรือม้า ในการขนส่งสินค้าและการเดินทางส่วนตัว ดังนั้นรถไฟจึงเปรียบดั่งใบไม้ที่แผ่กิ่งก้านสาขาแตกขยายออกไปตามหัวเมืองที่สำคัญต่างๆในสมัยนั้น เพื่อให้สามารถเดินทางและลำเลียงสินค้าจากถิ่นหนึ่งไปยังอีกถิ่นแดนได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การติดต่อค้าขายทำได้ง่าย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันเป็นจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจของชาติให้ดียิ่งขึ้นไปด้วย

     จุดเริ่มต้นที่แท้จริงในสมัยนั้น เกิดขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2398 เมื่อรัฐบาลสหราชอาณาจักรอังกฤษ ให้ ท่านเซอร์ จอห์น เบาริง (Sir John Bowring) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม พร้อมด้วย มิสเตอร์ แฮรี่ สมิท ปาร์ค (Mr. Harry Smith Parkes) เดินทางเพื่อเข้ามาเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญาทางราชไมตรีฉบับที่รัฐบาลอังกฤษทำไว้กับรัฐบาลไทยเมื่อปีพุทธศักราช 2369

     ซึ่งได้นำเอาเครื่องราชบรรณาการของสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ เข้ามาเพื่อทูลฯ เกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 นั่นก็คือ 'รถไฟจำลอง' ซึ่งย่อส่วนมาจากรถจักรไอน้ำและรถพ่วงแบบเดียวกับที่ใช้อยู่ในอังกฤษนั่นเอง (ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้)

     รถไฟจำลองดังกล่าวกลายเป็นเครื่องดลพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้ริเริ่มสถาปนากิจการรถไฟในราชอาณาจักรไทย แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มั่นคงในสมัยนั้น ประกอบกับพลเมืองยังคงมีจำนวนน้อย ทำให้การรถไฟยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย

     ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพุทธศักราช 2413 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ได้เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์ และเมืองเบตาเวีย ประกอบกับได้ทอดพระเนตรการสร้างรถไฟที่เมืองเบตาเวีย และได้ประทับรถไฟที่ประเทศอินเดีย จนเป็นที่ประทับพระราชหฤทัยของพระองค์ ดังนั้นพระองค์จึงตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของกิจการรถไฟประเทศไทยนับแต่นั้นมา

 

เริ่มต้นสร้างทางรถไฟ

     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ เซอร์แอนดรู คลาก และบริษัทปันชาร์ด แมกทักการ์ด โลเธอร์ ดำเนินการสำรวจเพื่อสร้างทางรถไฟจาก กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ เมื่อปีพุทธศักราช 2430 และให้มีทางแยกตั้งแต่เมืองสระบุรี - นครราชสีมาสายหนึ่ง จากเมืองอุตรดิตถ์ - ตำบลท่าเดื่อริมฝั่งแม่น้ำโขงสายหนึ่ง และจากเมืองเชียงใหม่ไปยังเชียงราย เชียงแสนหลวงอีกสายหนึ่ง ซึ่งราคาค่าจ้างเฉลี่ยสมัยนั้นไม่เกินไมล์ละ 100 ปอนด์ โดยมีการตกลงทำสัญญาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2430

     หลังจากสำรวจเส้นทางต่างๆแล้ว รัฐบาลในสมัยนั้นเล็งเห็นว่าจุดแรกที่สมควรสร้างทางรถไฟขึ้นก่อนที่อื่น คือ นครราชสีมา ดังนั้น 'กรมรถไฟ' จึงถูกก่อกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2433 สังกัดอยู่ในกระทรวงโยธาธิการ มีพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ ทรงเป็นเสนาบดี และนาย เค. เบ็ทเก ( K. Bethge ) ชาวเยอรมัน เป็นเจ้ากรมรถไฟ รวมทั้งเปิดให้มีการประมูลสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ - นครราชสีมาเป็นสายแรก โดยชาวอังกฤษสามารถประมูลได้ไปในราคาต่ำสุดอยู่ที่ 9,956,164 บาท

     ทางรถไฟหลวงจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา นับเป็นทางรถไฟสายแรก เป็นทางขนาดกว้าง 1.435 เมตร โดยรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีกระทำพระฤกษ์ เริ่มการสร้างทางรถไฟ ณ บริเวณย่านสถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 09 มีนาคม พ.ศ.2434 ซึ่งปัจจุบัน การรถไฟฯได้สร้างอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวงเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกเหตุการณ์สำคัญครั้งนั้น

 

คนไทยเดินทางด้วยรถไฟเป็นครั้งแรก

     ในปี พ.ศ.2439 การก่อสร้างทางรถไฟสาย กรุงเทพฯ - นครราชสีมา เสร็จเป็นบางส่วนพอให้เปิดใช้งานได้แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟระหว่าง สถานีกรุงเทพ - อยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร และเปิดให้ประชาชนเดินทางไปมาระหว่าง กรุงเทพ - อยุธยา ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2439 เป็นต้นไป

     โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ยึดเอาวันที่ 26 มีนาคม เป็นวันสถาปนากิจการรถไฟ เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟระหว่าง กรุงเทพฯ - อยุธยา นั่นเอง

     ในระยะแรกมีการเดินขบวนขึ้นล่องวันละ 4 ขบวน เดินทางไปยัง 9 สถานี ได้แก่ สถานีกรุงเทพ บางซื่อ หลักสี่ หลักหก คลองรังสิต เชียงราก เชียงรากน้อย บางปะอิน และกรุงเก่า ต่อมาก็ได้มีการเปิดการเดินรถต่อไปอีกเป็นระยะ จากอยุธยา ถึง แก่งคอย, มวกเหล็ก และปากช่อง

     เมื่อการก่อสร้างทางรถไฟสายแรกสำเร็จตามพระราชประสงค์แล้ว ก็ทรงพิจารณาสร้างสายอื่นๆ ต่อไป จนกระทั่งสิ้นสมัยรัชกาลของพระองค์ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2443

 

เริ่มนำเข้ารถจักรกลดีเซล

     ในสมัยที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงอยู่นั้น ทรงตระหนักดีว่าการใช้รถจักรไอน้ำลากจูงขบวนรถ จะทำให้เกิดลูกไฟที่กระจัดกระจายออกมาเป็นอันตรายต่อประชาชนทั่วไปได้ รวมถึงยังไม่สะดวกและประหยัด พระองค์จึงทรงสั่งรถจักรดีเซล จำนวน 2 คันมาจากสวิสเซอร์แลนด์ เข้ามาใช้เป็นครั้งแรก

     รถจักรดีเซลการกลครั้งแรก เลขที่ 21-22 ได้ออกวิ่งรับใช้ประชาชนเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2471 โดยปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่ตึกบัญชาการรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย

 

ทางรถไฟในปัจจุบัน

ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย มีระยะทางที่เปิดการเดินรถ รวมความยาวทั้งสิ้น 4,507.844 กิโลเมตร โดยแบ่งออกเป็น

ทางสายเหนือ ถึง สถานีเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ความยาว 752.077 กิโลเมตร และมีทางแยกที่สถานีชุมทางบ้านดาราจังหวัดพิษณุโลก ถึง สถานีสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ความยาว 29.007 กิโลเมตร

ทางสายใต้ จากสถานีธนบุรี - สถานีสุไหลโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ความยาว 1,144.140 กิโลเมตร , ทางแยกสถานีปาดังเบซาร์ ความยาว 43.502 กิโลเมตร , ทางแยกสถานีสุพรรณบุรี ความยาว 78.090 กิโลเมตร ,  ทางแยกคีรีรัฐนิคม ความยาว 31.250 กม. ทางแยกกันตัง ความยาว 92.802 กิโลเมตร และทางแยกนครศรีธรรมราช ความยาว 35.081 กิโลเมตร

ทางสายตะวันตก ถึง สถานีชุมทางหนองปลาดุก - สถานีน้ำตก จังหวัดกาญจนบุรี ความยาว 130.989 กิโลเมตร

ทางสายตะวันออก ถึง สถานีอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ความยาว 260.449 กิโลเมตร , คลองสิบเก้า-ชุมทางแก่งคอย ความยาว 81.358 กิโลเมตร , ชุมทางเขาชีจรรย์ - มาบตะพุต ความยาว 24.070 กิโลเมตร

ทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถึง สถานีอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ความยาว  575.600  กิโลเมตร  และสถานีชุมทางถนนจิระถึงสถานีหนองคาย จังหวัดหนองคาย ความยาว 359.974 กิโลเมตร (เพิ่มสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2.657 กม.) และชุมทางแก่งคอย-ชุมทางบัวใหญ่ ความยาว 252.412 กิโลเมตร

ทางสายแม่กลอง ช่วงวงเวียนใหญ่ - มหาชัย ความยาว 31.242 กิโลเมตร และช่วงบ้านแหลม - แม่กลอง ความยาว 34.041 กิโลเมตร

และนั่นถือเป็นพระคุณอันหาที่สุดไม่ได้ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทำให้ประชาชนชาวไทยสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันด้วยเส้นทางรถไฟจวบจนถึงทุกวันนี้

 

ที่มา/ภาพ การรถไฟแห่งประเทศไทย


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook