8 พระราชกรณียกิจสำคัญของรัชกาลที่ 5 พาสยามประเทศเจริญ

8 พระราชกรณียกิจสำคัญของรัชกาลที่ 5 พาสยามประเทศเจริญ

8 พระราชกรณียกิจสำคัญของรัชกาลที่ 5 พาสยามประเทศเจริญ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันปิยมหาราชตรงกับวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี ปวงชนชาวไทยล้วนรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระปรีชาสามารถยิ่งในการวางรากฐานปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศ

ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงริเริ่มพระราชกรณียกิจที่สำคัญ 8 อย่าง กลายเป็นรากฐานสำคัญให้กับประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้

พระราชกรณียกิจด้านการไปรษณีย์โทรเลข

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างมากต่อไปในอนาคต พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการก่อสร้างวางสายโทรเลขสำหรับสายโทรเลขสายแรกของประเทศเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.๒๔๑๘ จากกรุงเทพฯ - สมุทรปราการ ระยะทาง ๔๕ กิโลเมตร และได้วางสายใต้น้ำต่อยาวออกไปจนถึงประภาคารที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาสำหรับบอกข่าวเรือเข้า - ออก ต่อมาได้วางสายโทรเลขขึ้นอีกสายหนึ่งจากกรุงเทพฯ - บางปะอิน และขยายไปทั่วถึงในเวลาต่อมา

สำหรับกิจการไปรษณีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๒๔ มีที่ทำการเรียกว่าไปรษณียาคาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๒๖ หลังจากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมโทรเลขรวมเข้ากับกรมไปรษณีย์ชื่อว่า กรมไปรษณีย์โทรเลข

พระราชกรณียกิจด้านการโทรศัพท์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล และพระปรีชาสามารถอย่างมากในการพัฒนาประเทศ โดยกระทรวงกลาโหมได้นำโทรศัพท์อันเป็นวิทยาการในการสื่อสารที่ทันสมัยเข้ามาทดลองใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๒๔ จากกรุงเทพฯ - สมุทรปราการ เพื่อแจ้งข่าวเรือเข้า - ออกที่ปากน้ำ์

ต่อมากรมโทรเลขได้มารับช่วงต่อในการวางสายโทรศัพท์ภายในกรุงเทพฯ ซึ่งใช้เวลา ๓ ปีจึงแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการกับประชาชน และพัฒนามาจนกระทั่งทุกวันนี้

พระราชกรณียกิจด้านการพยาบาลและสาธารณสุข

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะสร้างโรงพยาบาลเพื่อรักษาประชาชนด้วยวิธีการแพทย์แผนใหม่ เนื่องจากการรักษาแบบเดิมนั้นล้าสมัย ไม่สามารถช่วยคนได้อย่างทันท่วงทีทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมายเมื่อเกิดโรคระบาด พระองค์จึงทรงจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นบริเวณริมคลองบางกอกน้อย อันเป็นที่ตั้งของพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือวังหลัง

โดยได้พระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์จำนวน ๑๖,๐๐๐ บาท เป็นทุนเริ่มแรกในการสร้างโรงพยาบาล ให้ใช้ชื่อว่า โรงพยาบาลวังหลัง เปิดทำการรักษาแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๑

ต่อมาพระองค์ได้พระราชทานนามโรงพยาบาลแห่งนี้ใหม่ว่าโรงพยาบาลศิริราช เพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรสที่ประสูติในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ที่สิ้นพระชนมายุเพียง ๑ ปี ๗ เดือน

ทั้งยังได้พระราชทานพระเมรุ พร้อมกับเครื่องใช้ เช่น เตียง เก้าอี้ ตู้โต๊ะ ฯลฯ ในงานพระศพให้กับโรงพยาบาลเพื่อใช้ประโยชน์ รวมทั้งพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ จำนวน ๕๖,๐๐๐ บาท ให้กับโรงพยาบาลเป็นทุนในการใช้จ่าย

 

พระราชกรณียกิจด้านการขนส่งและสื่อสาร

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้คณะเสนาบดีและกรมโยธาธิการสำรวจเส้นทาง เพื่อวางรากฐานการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ มีการวางแผนให้ทางรถไฟสายนี้ตัดเข้าเมืองใหญ่ๆ ในบริเวณภาคกลางของประเทศแล้วแยกเป็นชุมสายตัดเข้าสู่จังหวัดใหญ่ทางแถบภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นหัวลำโพงเมืองที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้า

การสำรวจเส้นทางในการวางเส้นทางรถไฟนี้เสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ และในวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินขุดดินก่อพระฤกษ์ เพื่อสร้างทางรถไฟครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยโปรดเกล้า ฯ ให้ทางรถไฟสายนี้เป็นรถไฟหลวงแห่งแรกของไทย

พระราชกรณียกิจด้านการไฟฟ้า

ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่าไฟฟ้าเป็นพลังงานที่สำคัญและมีประโยชน์อย่างมาก เมื่อมีโอกาสประพาสต่างประเทศ ได้ทอดพระเนตรกิจการไฟฟ้า และทรงเห็นถึงประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดจากการมีไฟฟ้า พระองค์จึงทรงมอบหมายให้กรมหมื่นไวยวรนารถเป็นผู้ริเริ่มในการจ่ายกระแสไฟฟ้าขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ซึ่งเป็นการเปิดใช้ไฟฟ้าครั้งแรกของไทย

และปีเดียวกัน (พ.ศ. ๒๔๓๓) มีการก่อตั้งโรงไฟฟ้าที่วัดเลียบ หรือวัดราชบูรณะ จนกระทั่งถึงพ.ศ. ๒๔๓๖ ต่อมาเพื่อให้กิจการไฟฟ้าก้าวหน้ายิ่งขึ้น รัฐบาลได้โอนกิจการให้ผู้ชำนาญด้านนี้ ได้แก่ บริษัทอเมริกัน ชื่อ แบงค็อค อิเลคตริกซิตี้ ซิดิแคท เข้ามาดำเนินงานต่อ และในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ บริษัทเดนมาร์กได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในการเดินรถรางที่บริษัทได้รับสัมปทานการเดินรถในเขตพระนคร ต่อมาบริษัทต่างชาติทั้ง ๒ บริษัทได้ร่วมกันรับช่วงงานจากกรมหมื่นไวยวรนาถ และก่อตั้งเป็นบริษัทไฟฟ้าสยาม ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ นับเป็นการบุกเบิกไฟฟ้าครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย ในการเริ่มมีไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรก

พระราชกรณียกิจด้านการกฎหมาย

กฎหมายในขณะนั้นมีความล้าสมัยอย่างมาก เนื่องจากใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ และยังไม่เคยมีการชำระขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับยุคสมัย ทำให้ต่างชาติใช้เป็นข้ออ้างในการเอาเปรียบไทยเรื่องการทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับการขึ้นศาลตัดสินคดีที่ไม่ให้ชาวต่างชาติขึ้นศาลไทย โดยตั้งศาลกงสุลพิจารณาคดีคนในบังคับต่างชาติเอง แม้ว่าจะมีคดีความกับชาวไทยก็ตาม

ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ สร้างประมวลกฎหมายอาญาขึ้นใหม่เพื่อให้ทันสมัยทัดเทียมกับอารยประเทศ ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนกฎหมายแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นสถานที่สำคัญที่ผลิตนักกฎหมายที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาประเทศ

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ตรากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ อันเป็นลักษณะกฎหมายอาญาฉบับแรกที่นำขึ้นมาใช้ อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง พิจารณาทำกฎหมายประมวลอาญาแผ่นดินและการพาณิชย์ ประมวลกฎหมายว่าด้วยพิจารณาความแพ่ง และพระธรรมนูญแห่งศาลยุติธรรม

แต่ยังไม่ทันสำเร็จดีก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน เมื่อสร้างประมวลกฎหมายขึ้นมาใช้แล้ว บทลงโทษแบบจารีตดั้งเดิมจึงถูกยกเลิกไปโดยสิ้นเชิงในรัชกาลของพระองค์เอง เพราะมีกฎหมายใหม่เป็นบทลงโทษ ที่เป็นหลักการพิจารณาที่ดีและทันสมัยกว่าเดิมด้วย

 

พระราชกรณียกิจด้านการเปลี่ยนแปลงระบบเงินตรา

ในปี พ.ศ. ๒๔๑๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำธนบัตรขึ้นเรียกว่า อัฐ เป็นกระดาษมีมูลค่าเท่ากับเหรียญทองแดง ๑ อัฐ แต่ใช้ได้เพียง ๑ ปีก็เลิกไป เพราะประชาชนไม่นิยมใช้ ต่อมาทรงตั้งกรมธนบัตรขึ้นมา เพื่อจัดทำเป็นตั๋วสัญญาขึ้นใช้แทนเงินกรมธนบัตรได้เริ่มใช้ตั๋วสัญญาเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๔๕ เป็นครั้งแรก เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ได้มีการผลิตธนบัตรรุ่นแรกออกมา ๕ ชนิด คือ ๑,๐๐๐ บาท ๑๐๐ บาท ๒๐ บาท ๑๐ บาท ๕ บาท ภายหลังมีธนบัตรใบละ ๑ บาทออกมาด้วย รวมถึงพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดหน่วยเงินตรา โดยให้หน่วยทศนิยมเรียกว่า สตางค์ กำหนดให้ ๑๐๐ สตางค์ เท่ากับ ๑ บาท พร้อมกับผลิตเหรียญสตางค์ขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรกเรียกว่าเบี้ยสตางค์ มีอยู่ด้วยกัน ๔ ชนิด คือ ราคา ๒๐ สตางค์ ๑๐ สตางค์ ๔ สตางค์ ๒ สตางค์ครึ่ง ใช้ปนกับเหรียญเสี้ยว และอัฐ

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกประกาศยกเลิกใช้เงินพดด้วงและทรงออกพระราชบัญญัติมาตราทองคำ ร.ศ.๑๒๗ ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๑ ว่าด้วยเรื่องให้ใช้แร่ทองคำเป็นมาตรฐานเงินตราแทนแร่เงิน เพื่อให้เสถียรภาพเงินตราของไทยสอดคล้องกับหลักสากล และในปีต่อมาทรงออกประกาศเลิกใช้เหรียญเฟื้อง และเบี้ยทองแดง


พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในการศึกษารูปแบบใหม่โดยโปรดเกล้าฯ ให้มีการตั้งโรงเรียนขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาทั่วกัน เพราะการศึกษาสมัยนั้นส่วนใหญ่ยังศึกษาอยู่ในวัด เมื่อมีการสร้างโรงเรียนและการศึกษาเจริญก้าวหน้าขึ้นเท่ากับเป็นการบ่งบอกถึงความเจริญทางด้านวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนหลวงแห่งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔

และ โปรดเกล้าฯ ให้มีการสอบไล่สามัญศึกษาขึ้นอีกด้วย เพื่อเป็นการทดสอบความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา นอกจากนี้พระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างโรงเรียนหลวงขึ้นอีกหลายแห่ง กระจัดกระจายไปตามวัดต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โรงเรียนหลวงแห่งแรกที่สร้างขึ้นในวัด คือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม โรงเรียนหลวงที่ตั้งขึ้นมานี้เพื่อให้บุตรหลานของประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้กัน

การศึกษาขยายตัวเจริญขึ้นตามลำดับด้วยความสนใจของประชาชนที่ต้องการมีความรู้มากขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนเหล่านี้อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ มีการพิมพ์ตำราพระราชทาน เพื่อเป็นตำราในการเรียนการสอนด้วย

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ 8 พระราชกรณียกิจสำคัญของรัชกาลที่ 5 พาสยามประเทศเจริญ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook