พระราชกรณียกิจ : ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
ด้านการจัดการน้ำ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ เพื่อจัดหาน้ำให้กับเกษตรกรที่ไม่มีน้ำจะทำนา จัดหาน้ำให้กับประชาชนทั่วไปในหมู่บ้านแห้งแล้งแร้นแค้นให้ได้มีน้ำอุปโภคบริโภคเป็นลำดับตลอดมา ในทั่วทุกภาคของประเทศ พระราชกรณียกิจด้านการจัดการทรัพยากรน้ำนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ เมื่อมีปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ว่าปัญหาน้ำแล้ง น้ำไม่พอใช้ น้ำขาดแคลน ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนชาวไทย พระองค์ไม่เคยเพิกเฉย ซ้ำยังหาหนทางแก้ไขให้ประชาชนคนไทยได้อยู่อย่างไร้ปัญหาและมีความสุขที่สุด โดยใช้การแก้ปัญหาน้ำ 3 อย่าง คือ น้ำน้อย น้ำมาก และน้ำเสีย เป็นแนวทางพระราชดำริหลักในการดำเนินงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก ที่เป็นพระราชดำริในการแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนให้กับชาวลุ่มน้ำป่าสัก รวมถึงชาวลุ่มน้ำอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างซึ่งขาดแคลนน้ำให้มีใช้ในการเกษตร การอุปโภคบริโภค และโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากความห่วงใยในความเดือดร้อนของราษฎรในท้องที่หลายอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งพื้นที่ในจังหวัดสตูลและจังหวัดสงขลาบางส่วนด้วย ซึ่งแต่เดิมเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของภาคใต้ ได้ประสบการขาดแคลนน้ำจืดที่จะใช้ในการอุปโภคบริโภคและยังมีปัญหาเรื่องน้ำกร่อยหรือน้ำเค็มที่เกิดขึ้นจากการที่น้ำทะเลรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำปากพนังประมาณเกือบ 100 กิโลเมตร จึงทำให้น้ำในแม่น้ำปากพนังซึ่งเป็นเหมือนสายเลือดหลักไม่สามารถที่จะเข้าไปหล่อเลี้ยงหรือนำไปใช้ในการเกษตรกรรมได้ ด้วยความเดือดร้อนดังกล่าวนี้จึงได้เกิดโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น
ด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ดินและป่าไม้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยขึ้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานทฤษฎีการปรับปรุงดินเปรี้ยว ทรงทดสอบปรับปรุงดินที่เป็นกรดที่เปรี้ยวจัดต่างๆ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเกษตรได้อย่างไร จากสาเหตุนี้เป็นต้นตอของโครงการที่ทรงพระราชทานชื่อว่า “โครงการแกล้งดิน” เป็นการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว หรือดินเป็นกรด โดยมีการขังน้ำไว้ในพื้นที่ จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัด จนถึงที่สุด แล้วจึงระบายน้ำออกและปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้ เป็นเรื่องที่ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้มีการทดลองทดสอบวิจัยจนสำเร็จออกไปสู่พี่น้องประชาชน เพื่อให้ประชาชนนำไปทำการเกษตร ปลูกข้าว ปลูกพืชล้มลุก และปลูกไม้ผล ในด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยในปัญหาป่าไม้ที่เกิดขึ้นในประเทศ เพราะการที่ป่าไม้ลดน้อยลงไป มีผลต่อเกษตรกรซึ่งทำเกษตรกรรม ได้รับความเดือดร้อนไปถึงระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติ ทรงมีพระราชดำริให้มีการปลูกต้นไม้ ไม้ผล ไม้โตเร็ว และไม้เศรษฐกิจ เพื่อสร้างสมดุลให้กับธรรมชาติ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพรเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ต มีทั้งหมดถึง 56 โครงการ และโครงการเหล่านี้ก็ทำบนภูเขาสูง พวกชาวเขา ชาวดอย โดยห้ปลูกสิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์กับสังคม และเป็นการเพิ่มปริมาณของป่าไม้ในประเทศไทยให้มากขึ้นอย่างมั่นคงและถาวร ส่งเสริมระบบวงจรป่าไม้ในลักษณะอันเป็นธรรมชาติดั้งเดิม และให้เข้ากับสภาพพื้นที่ภูมิประเทศด้วย
ข้อมูลจาก : สำนักงานส่งเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ
เครดิตภาพจาก : Information Division of OHM,สำนักพระราชวัง,สำนักราชเลขาธิการ
อัลบั้มภาพ 14 ภาพ