พระราชกรณียกิจ : ด้านวิทยศาสตร์และเทคโนโลยี

พระราชกรณียกิจ : ด้านวิทยศาสตร์และเทคโนโลยี

พระราชกรณียกิจ : ด้านวิทยศาสตร์และเทคโนโลยี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภูมิภาคต่างๆ เป็นประจำเสมอมาโดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดาร จึงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเหล่านี้เสมือนเป็นความทุกข์ส่วนพระองค์และที่สำคัญพระองค์มิได้ทรงนึกแต่เพียงว่าทรงเป็นพระประมุขของประเทศ โดยทางนิตินัยหรือตามรัฐธรรมนูญ อย่างประมุขประเทศอื่นๆ เท่านั้น แต่พระองค์ทรงระลึกอยู่เสมอว่าพระองค์เป็นคนไทยที่ต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนไทยทุกคนทั่วประเทศ ไม่ว่าเพศ วัย ศาสนา หรืออาชีพใด จึงทรงมีพระราชดำริที่จะพัฒนากลุ่มผู้ยากไร้เหล่านี้อยู่ตลอดเวลา โดยทรงเน้นการพัฒนาให้เกิดความพออยู่พอกิน พระราชดำริแรกเดิมที่มีลักษณะเป็นกิจกรรม หรือโครงการช่วยเหลือประชาชนให้เกิดขึ้นตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2494 จากนั้นก็ทรงมีพระราชกรณียกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนและพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา

ทรงใช้บริเวณพระตำหนักเป็นที่ค้นคว้าทดลองงานทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา และจากนั้นก็เริ่มมีโครงการพระราชดำริมากมายหลายโครงการเกิดขึ้น ทั้งทางด้านการเกษตร ชลประทาน การศึกษา การแพทย์ การสาธารณสุข ตลอดจนถึงทางด้านการสังคมสงเคราะห์แต่พระราชกรณียกิจอีกด้านหนึ่งที่ทรงปฏิบัติควบคู่ไปกับโครงการในพระราชดำริอื่นๆ ก็คือพระราชกรณียกิจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระราชหฤทัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะทรงเล็งเห็นว่าการพัฒนาประเทศและการช่วยเหลือราษฎรของพระองค์ให้พอมีพอกินนั้นจะต้องอาศัยความรู้และวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาช่วยด้วย แนวทางพระราชดำริในโครงการพระราชดำริต่างๆ นั้นพระองค์ท่านได้นำเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มาประกอบพระราชวินิจฉัยควบคู่ไปด้วย ดังที่จะขออัญเชิญความบางตอนจากบทความพระราชทานพระราชกรณียกิจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของสมเด็จพระเจ้าลูกนาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์วลัยลักษณ์มาอ่านดังต่อไปนี้

“น้อยคนนักที่จะทราบว่า ภายในห้องทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามพระราชฐานที่ประทับทุกแห่ง มีเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีติดตั้งเต็มไปหมด เช่น เครื่องรับ-ส่งวิทยุแรงสูงทุกข่าย เครื่องโทรพิมพ์ เครื่องโทรสาร เครื่องโทรศัพท์ เครื่องสมองกล ตลอดจนแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งใคร่ขอย้ำว่าเครื่องมือและอุปกรณ์ทั้งหมดดังกล่าว ทรงมีไว้เพื่อบำรุง ทุกข์ สุขของราษฎรอย่างทั่วถึง กล่าวคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นฝ่ายรับข้อมูลเข้ามาได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำได้ตลอดเวลา โดยจะทรงรับจากวิทยุรับ-ส่งบ้าง จากเครื่องโทรพิมพ์บ้าง จากเครื่องโทรสารบ้าง โดยไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลถวายพระกรุณา ถวายรายละเอียดด้วยตนเองเพราะบางโอกาส อาจจะไม่ทันการ เช่น ในยากวิกาลซึ่งไม่สามารถจะกระทำได้ แต่เมื่อทรงใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้วทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจก็ไม่ขาดตอนแม้แต่ในยามวิกาล เพราะเมื่อทรงได้รับข้อมูลแล้วสามารถมีพระราชดำรัสโต้ตอบหรือมีพระราชกระแสแนะนำไปได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากทรงชำนาญการใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกชนิดที่ติดตั้งไว้ภายในห้องทรงงานพระราชกรณียกิจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้นับว่าก่อให้เกิดประโยชน์ในการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านอื่นๆ อีกนานัปการ

จะกล่าวเน้นเรื่องประโยชน์ของวิทยุรับส่ง ที่มีพระราชดำริว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในการติดต่อประสานงาน ทั้งในด้านการรักษาความปลอดภัย ด้านการพัฒนา ด้านการแพทย์ระหว่างพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างไกลหรือการติดต่อระหว่างพื้นที่ที่เจริญแล้ว กับพื้นที่ที่เป็นถิ่นทุรกันดารห่างไกล ในการนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้เชี่ยวชาญคิดประดิษฐ์เสาอากาศชนิดต่างๆ เพื่อติดตั้ง ณ ที่ประทับทุกแห่งตลอดจนพระราชพาหนะที่ทรงใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ จนกระทั่งขณะนี้ ทรงสามารถที่จะติดต่อกับทุกจุดได้ทั่วประเทศด้วยวิทยุรับส่ง บ่อยครั้งที่ทรงรับสั่งเรื่องราวเกี่ยวกับวิชาการของวิทยุรับส่งเกี่ยวกับข้าราชบริพารออกอากาศทางวิทยุรับส่งอันเป็นการพระราชทานความรู้ด้านนี้เป็นวิทยาทานกับผู้เกี่ยวข้องโดยทางอ้อม ทั้งนี้เพราะมีผู้สนใจทางด้านคลื่นรับทางวิทยุรับส่ง ได้มีโอกาสรับฟังพระสุระเสียงทำให้มีความรู้เพิ่มเติม และยังถือเป็นสิริมงคลอีกทางหนึ่งด้วย ปัจจุบันทรงส่งเสริมและสอนให้ข้าราชบริพารหรือผู้ปฏิบัติงานสนองพระมหากรุณาธิคุณ รู้จักการใช้วิทยุรับส่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนร่วม ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการและมีพระราชดำริให้มีการใช้อย่างประหยัดที่สุดเช่นกัน อันเป็นผลทำให้การติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานภายในพระราชสำนักด้วยกัน และการติดต่อประสานกับหน่วยราชการและเอกชนภายนอกเป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ สามารถจำกัดข้อผิดพลาดอันอาจเกิดจากความล่าช้าหรือการส่งข่าวสารผ่านหลายต่อได้โดยสิ้นเชิง”

นี่เป็นข้อความบางตอน จากบทความพระราชทานเรื่อง “พระราชกรณียกิจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์วลัยลักษณ์

พระราชกรณียกิจและพระราชดำริทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นั้นยังมีอีกนานัปการดังที่จะเห็นได้จากบทความพระราชทานบางตอนของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์วลัยลักษณ์ ที่ขออัญเชิญมาดังนี้

“การใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยในกิจการต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้านั้น ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพราะมีเครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายชนิดที่คนไทยประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ได้ ซึ่งเรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีอยู่แล้วว่าเครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชนิดใดบ้างก่อน โดยเราควรประดิษฐ์ขึ้นมาใช้เอง เช่น มีพระราชดำริให้มีการประดิษฐ์เครื่องสูบน้ำที่ใช้พลังน้ำมาใช้สูบน้ำ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สำนักงานชลประทานที่ 2 ดำเนินการออกแบบและจัดสร้างเพื่อให้สามารถนำไปใช้สูบน้ำแก่พื้นที่ที่เกษตรกรได้อาศัยได้ทำกิน ในบริเวณทีเป็นพื้นที่สูงๆ เครื่องมือดังกล่าวประกอบด้วยเครื่องตะบันน้ำ กังหันสูบน้ำ ทุ่นลอย เครื่องสูบน้ำกังหันน้ำ เครื่องตะบันน้ำ เป็นเครื่องสูบน้ำที่ทำงานในตัวเองได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งใช้พลังน้ำผลักดันอุปกรณ์ให้ทำงาน สามารถสูบน้ำจากที่ต่ำไปสู่ที่สูงได้ 10-15 เท่า ของระดับความสูงของน้ำป้อนเข้าเครื่อง ปริมาณน้ำที่สูบขึ้นไปได้จะน้อยกว่าน้ำที่สูญเสียไปจากการใช้ผลักดันอุปกรณ์ให้ทำงาน แต่ก็สามารถทำงานได้ตลอดเวลาแม้จะเกิดเสียงดังขณะใช้งาน การสูญเสียดังกล่าวก็หมายความว่าน้ำจะถูกปล่อยลงไปท้ายน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป เครื่องตะบันน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประดิษฐ์และจัดสร้างขึ้นมาใช้งานนี้ เป็นอุปกรณ์ที่เสียวค่าบำรุงต่ำไม่ต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง หรือแม้กระทั่งน้ำมันหล่อลื่น ทำให้เหมาะสมสำหรับติดตั้งในชนบทห่างไกล

เครื่องมือที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่งคือ กังหันสูบน้ำ ทุ่นลอย ที่ออกแบบสร้างขึ้นเพื่อติดตั้งในแม่น้ำลำธารหรือคลองส่งน้ำชลประทานก็เป็นกังหันสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย กล่าวคือเมื่อติดตั้งในแม่น้ำลำธารจะสามารถลอยตัวอยู่บนผิวน้ำและสามารถปรับตัวตามระดับขึ้นลงของน้ำได้โดยทุ่นลอย กระแสน้ำจะผลักดันวงล้อใบพัดให้หมุนและขับส่งกำลังไปยังเครื่องสูบน้ำชนิดลูกสูบชักด้วยเฟืองจานโซ่และก็สายพาน ทำการสูบน้ำขึ้นสู่ตลิ่งที่มีระดับสูงกว่าระดับผิวน้ำได้ตลอดเวลา เครื่องดังกล่าวนี้สามารถสูบน้ำได้เป็นปริมาณถึง 160 ลิตร/นาที และยกน้ำได้ถึง 45 เมตร ทั้งนี้คลองหรือลำธารที่จะวางกังหันสูบน้ำ ทุ่นลอย จะต้องมีความเร็วของกระแสน้ำ ความลึกและความกว้างที่พอดีกับมิติของเครื่องสูบน้ำ

จะเห็นได้ว่าเครื่องสูบน้ำที่ยกตัวอย่างสามารถแก้ไขปัญหาที่ยากที่สุดของปัญหาเกษตรกรกล่าวคือ การสูบน้ำที่มีระดับต่ำกว่าขึ้นไปยังแปลงเพาะปลูกที่มีระดับสูงกว่า โดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำที่ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นแรงผลักดันในการทำงานของเครื่องกล นอกจากนั้นเครื่องมือกลที่ยกตัวอย่างมาพอเป็นสังเขป รวมทั้งเครื่องมืออื่นๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้ประดิษฐ์ขึ้นใช้นั้นจะไม่มีการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ แต่ประการใดทั้งสิ้น ทำให้เกษตรกรทุกคนนำไปเป็นแบบแผนสำหรับจัดสร้างขึ้นสำหรับใช้ประโยชน์ในกิจการของตนเองได้ทุกเวลา

สำหรับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะก่อให้เกิดพลังงานความร้อนและสามารถนำความร้อนที่ได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงส่งเสริมให้มีการแปรสภาพวัสดุเหลือใช้มาเป็นแหล่งพลังงานความร้อน เช่นการอัดแกลบกับผักตบชวาตากแห้งและก็นำไปเป็นพืชที่ให้ความร้อนสูง การหมักมูลสัตว์กับเศษวัชพืชทำให้เกิดก๊าซชีวภาพสำหรับใช้หุงต้ม อันเป็นการช่วยประหยัดเชื้อเพลิงที่เดิมต้องใช้ฟืนหรือถ่านก็เท่ากับเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ทางอ้อม กับทั้งยังเป็นการกำจัดสิ่งปฏิกูลกับเศษขยะหรือวัสดุไร้ประโยชน์ โดยแปลงเป็นพลังงานที่เป็นประโยชน์นอกจากนั้นยังเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้พลังงานไฟฟ้าหรือน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งนอกจากจะมีราคาแพงแล้วในกรณีฉุกเฉินก็ยังจะไม่สามารถหามาอุปโภคได้อีกด้วย จากพระวิริยะอุสาหะที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ตลอดจนทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อพสกนิกรและประเทศชาตินั้น ก็ได้มีผู้มีจิตศรัทธากับผลงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ที่มุ่งช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถพึ่งตนเองได้ตลอดจนมุ่งอนุรักษ์สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ได้พากันขอพระราชทานน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเครื่องมือเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับพระราชทานไปให้ใช้เกิดประโยชน์ตามโครงการในภูมิภาคต่างๆ อาทิ มีผู้น้อยเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ที่บริเวณคลองส่งน้ำฝั่งขวาของอ่างเก็บน้ำห้วยตับแปด เป็นต้น และจากที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดโดยสังเขปตั้งแต่ต้นเป็นการแสดงให้ประจักษ์ชัดว่าพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่พสกนิกรชาวไทยและประเทศไทยอย่างมหาศาล”

จากบทความพระราชทาน เรื่อง พระราชกรณียกิจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์วลัยลักษณ์ที่ได้อัญเชิญมาอ่านให้ฟังนั้น ย่อมประจักษ์แจ้งแก่ใจของประชาชนชาวไทยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ของเรานั้น ท่านได้ทรงนำเอาวิทยาการสมัยใหม่ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาปรับปรุงประยุกต์ใช้ให้เหมาะแก่ประเทศของเรา เพื่อพัฒนาประเทศเพื่อช่วยเหลือราษฎรของพระองค์ตามท้องถิ่นต่างๆ ในโครงการพระราชดำริซึ่งเป็นมหากรุณาธิคุณที่มีต่อปวงชนชาวไทยอย่างอเนกประการ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงคิดค้นหาทางช่วยเหลือและบำบัด โดยเฉพาะเรื่องของน้ำเสีย พระองค์ได้ทรงคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ สามารถแก้ปัญหาและรักษาสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดีที่เราทุกคนรู้จักในชื่อว่า “กังหันน้ำชัยพัฒนา” หรือ เครื่องกลเดิมอากาศที่ผิวน้ำ นั่นเอง

เครื่องกังหันน้ำนั้นก่อให้เกิดประวัติศาสตร์อันหนึ่งขึ้นมาคือเป็นครั้งแรกของโลกอยากจะกล่าวเช่นนั้นว่า มีพระราชวงศ์โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์นั้น ได้ติดค้นเครื่องจักรอะไรขึ้นมาแล้วได้สิทธิบัตรขึ้นมาเป็นครั้งแรกของโลกก็ว่าได้ ซึ่งในเรื่องนี้ทำให้เกิดความปลื้มปิติเป็นล้นพ้นแก่พสกนิกรชาวไทยทั้งมวล ความจริงไม่ได้ทรงคิดเป็นทางด้านเหล่านี้ก็ได้กราบบังคมทูลบอกว่าขอพระบรมราชานุญาตนำไปจดสิทธิบัตรเพื่อเป็นเกียรติยศ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2535 ก็ทรงพระราชทาน ได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ทางมูลนิธิชัยพัฒนานำเครื่องจักรกลนี้ไปจดสิทธิบัตร ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยเราจะต้องจัดส่งคำขอรับสิทธิบัตรนี้ไปตรวจค้นที่สำนักงานสิทธิบัตรที่ออสเตรเลียซึ่งเป็นสำนักงานสากล ทีนี้ก็ปรากฏว่าผลการตรวจสอบมีงานปรากฏอยู่แล้ว ที่เป็นเอกสิทธิ สิทธิบัตรที่ได้รับการจดทะเบียนอยู่แล้วจำนวน 8 ฉบับ ด้วยกัน มีของสหรัฐอเมริกา 5 เครื่อง ฝรั่งเศสเครื่องหนึ่ง ของออสเตรเลีย 2 เครื่อง ด้วยกัน ในจำนวนทั้งหมดปรากฏว่ามีรูปแบบหนึ่งค่อนข้างจะใกล้เคียง คือสิทธิบัตรของออสเตรเลีย เครื่องของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นแปลกประหลาดมาก และเป็นเครื่องที่ 9 ซึ่งถือว่าเป็นเลขประจำพระองค์ก็ว่าได้ และผลทางด้านเทคนิคนั้นเครื่องของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้มีขีดความสามารถในการตักน้ำแต่ละครั้งได้มากกว่า มีพื้นที่รับน้ำได้มากกว่าในขณะที่ซองพ้นผิวน้ำจะได้ปริมาณน้ำที่โรยโปรยออกมาที่กระทบกับอากาศนั้นได้ปริมาณที่มากกว่าเพราะฉะนั้นถือว่าเป็นลักษณะเทคนิคหรือขั้นการประดิษฐ์ที่สูงกว่า ทีนี่หลังจากการตรวจสอบที่ออสเตรเลียเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว มาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 ที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ก็ดำเนินการจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรหมายเลข 3127 ถวายแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็ได้ถวายเมื่อวันที่ 2กรกฎาคม 2536 ซึ่งผมขอเรียนย้ำอีกหนึ่งว่า เป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่พระราชวงศ์

นอกจากพระราชดำริต่างๆ ที่ทรงให้ไว้ในการช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์แล้ว ยังทรงประดิษฐ์คิดค้นออกแบบและพระราชทานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น “กังหันน้ำชัยพัฒนา เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำ” เป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งพระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทยและนับเป็นประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่กษัตริย์พระองค์แรกของโลก

ข้อมูลจาก: สำนักงานส่งเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ

เครดิตภาพ : สำนักพระราชวัง, เพจเฟสบุ๊ค Information Division of OHM,

สำนักราชเลขาธิการ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ พระราชกรณียกิจ : ด้านวิทยศาสตร์และเทคโนโลยี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook