พระราชกรณียกิจ : ด้านการพัฒนา
จากพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า 70 ปีที่ทรงครองสิริราชสมบัตินั้น ทำให้ประชาชนชาวไทยได้มีความเป็นอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารอย่างเป็นสุข เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมิได้ทรงงานเฉพาะในฐานะพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่ทรงห่วงใยทุกข์สุขของประชาชน ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ในชนบทตั้งแต่นั้นมา ทำให้ทรงทราบถึงสภาพภูมิศาสตร์ สังคม ความเป็นอยู่และปัญหาของประชาชน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังเช่นเมื่อเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมที่วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2495 และเสด็จฯ ไปเยี่ยมประชาชนบริเวณใกล้เคียง เมื่อทรงทราบถึงปัญหาการขนส่งผลผลิตออกสู่ตลาด จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้สร้างถนนเข้าบ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ (ปัจจุบันตำบลทับใต้) อำเภอหัวหิน ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาชนบทโครงการแรก ในปีต่อมาก็ได้พระราชทานพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อำเภอหัวหิน เพื่อบรรเทาความแห้งแล้งให้กับราษฎร ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำโครงการแรกเช่นกัน กล่าวได้ว่าโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในระยะแรกส่วนใหญ่จะดำเนินการในพื้นที่ปริมณฑลของกรุงเทพฯ และวังไกลกังวล
ด้วยพระราชประสงค์ที่จะให้ปวงชนชาวไทยทุกภูมิภาคได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถอยู่ได้ด้วยการพึ่งตนเอง ในเบื้องต้นให้มีความพอมีพอกินและพัฒนาให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นเป็นลำดับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนประชาชนในภูมิภาคที่ห่างไกลออกไปเมื่อปี 2498 ได้เสด็จฯ ไปบริเวณพื้นที่ภาคอีสานเป็นครั้งแรกภาคเหนือและภาคใต้ เป็นลำดับต่อจากนั้นก็ได้แปรพระราชฐาน ไปประทับแรมที่พระตำหนักในภูมิภาคต่างๆ เป็นประจำทุกปีทำให้ทรงทราบถึงความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างดีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจึงได้เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ อย่างต่อเนื่องตลอดมา จนปัจจุบันมีมากกว่า 3,000 โครงการ กระจายอยู่เกือบทุกจังหวัด ซึ่งมีอยู่หลายประเภทสอดคล้องกับภูมิศาสตร์และภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่
โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เป็นโครงการระยะแรกที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำเนินการศึกษาทดลองบางครั้งทรงปฏิบัติด้วยพระองค์เองเพื่อจะได้นำผลสำเร็จไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรดังนั้นในบริเวณโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดามีแปลงนาข้าวและปลูกพืชหมุนเวียน โรงสีข้าวโรงโคนมศูนย์รวมนมโรงผลิตผลไม้กระป๋องตลอดจนป่าสาธิต ฯลฯปัจจุบันสถานที่แห่งนี้จึงเป็นสถานที่เกษตรกรผู้สนใจทั่วไปตลอดจนนักเรียนนักศึกษา สามารถเข้ามาศึกษาดูงานเพื่อนำไปเป็นแนวทางการประกอบอาชีพได้เป็นอย่างดี
โครงการหลวง เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริที่จะแก้ปัญหาการทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่นของชาวเขาในภาคเหนือ ตั้งแต่ปี 2513ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการแก้ปัญหาให้ชาวเขาเหลานี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งตนเองได้ ไม่สูญเสียวัฒนธรรมประเพณี และทรัพยากรทั้งหลายไม่ถูกทำลายไปผลการดำเนินงานของโครงการได้ปรากฏผลออกมาอย่างชัดเจนแล้วในปัจจุบันเพราะชาวเขาเหล่านั้นได้มีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องของการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นได้ทำการปลูกพืชผักและไม้ผลเมืองหนาวเป็นอาชีพทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดและส่งเข้าโรงงานแปรรูปส่งผลให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน
จากการที่พระองค์ได้เสด็จฯไปทรงเยี่ยมเยียนประชาชนอย่างทั่วถึงอย่างต่อเนื่องตลอดมาโดยเฉพาะในชนบทและประชาชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จึงเป็นโครงการที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือ ส่งเสริมให้ทำการเกษตรได้ผลผลิตที่ดีขึ้น ทรงให้ความสำคัญกับน้ำว่า “น้ำคือชีวิต” พบว่าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำมีมากกว่าโครงการใดๆนอกจากการจัดหาน้ำให้เพิ่มขึ้นด้วยการพระราชทานพระราชดำริให้สร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ ประตูระบายน้ำ ตั้งแต่ระยะแรกๆ จนกระทั่งปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ได้ทรงศึกษาค้นคว้าและเมื่อปี 2498 พระราชทานพระราชดำริให้ มรว. เทพฤทธิ์ เทวกุล หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดฝนหลวง ซึ่งในปี 2512 ได้มีการปฏิบัติการฝนหลวงจริงๆ และได้มีการศึกษาพัฒนาเรื่อยมา จนปัจจุบันฝนหลวงสามารถทำให้เกิดฝนตกสม่ำเสมอในพื้นที่เป้าหมายได้ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งได้ส่วนหนึ่ง การแก้ปัญหา น้ำท่วม น้ำเสีย ก็มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกมากมายที่จะช่วยแก้ปัญหาด้วยวิธีง่าย ปฏิบัติได้ไม่ยากนัก และประหยัด
การพัฒนาด้านเกษตร เป็นเรื่องที่ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเสมอมาเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการที่พระราชทานพระราชดำริให้ทำการศึกษา ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชต่างๆ การกำจัดศัตรูพืช พัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ ทั้งนี้เพื่อเกษตรกรได้นำไปปฏิบัติได้ด้วยเทคโนโลยีง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อนราคาถูก ตลอดจนวิธีการเพาะปลูกพืชให้มีทรัพยากรธรรมชาติได้ใช้อย่างยั่งยืน ดังนั้นการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้มีใช้อย่างยั่งยืน จึงเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องของการปรับปรุงบำรุงดินปรับปรุงและพัฒนาป่าไม้ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิมโดยเฉพาะป่าต้นน้ำลำธารเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ วิธีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความยั่งยืน
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นไว้ 6 แห่ง กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือให้เป็นสถานที่ศึกษาทดลอง วิจัย ให้ได้แนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์สังคมแต่ละภูมิภาค เมื่อได้ผลการศึกษาแล้วให้จัดสาธิตไว้ในลักษณะของ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” ทุกศูนย์ศึกษาฯ ซึ่งได้มีแปลงสาธิตไว้ทุกด้าน ทั้งการปลูกพืช ผัก ผลไม้ การเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา ป่าไม้ ฯลฯ รวมทั้งการทำงานหัตถกรรมที่สอดคล้องกับภูมิสังคม เกษตรกรและผู้สนใจทั้งหลาย สามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้ได้ตลอดเวลา ผู้ใดสนใจที่จะเข้ารับการอบรมหลักสูตรใดที่สาธิตไว้ ทางศูนย์ศึกษาฯ ก็พร้อมที่จะให้บริการ
ด้วยพระปรีชาสามารถและพระประสบการณ์ทางด้านการพัฒนาชนบท จึงได้พระราชทานทฤษฎีใหม่ ให้เป็นทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรในการประกอบอาชีพ เพราะทฤษฎีใหม่ คือ การบริหารและจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด คือ ที่ดินขนาดเล็กและน้ำ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระยะแรกได้มีอาหารพอเพียงเลี้ยงตัวเองได้ตลอดปีเหลือแล้วจึงขาย และจะสามารถเพิ่มรายได้ให้สูงขึ้นในปีต่อๆ ไปงานด้านการพัฒนาตามแนวพระราชดำรินั้น ยังมีอีกหลายประเภททั้งด้านสาธารณสุข การคมนาคม สื่อสาร สวัสดิการสังคม ตลอดจนการส่งเสริมอาชีพ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ดำเนินการ และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ในการปฏิบัติงานตามระบบราชการในบางครั้งก็จะติดขัดด้วยเงื่อนไขบางประการ หรือไม่ทันกับสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องกระทำโดยรวดเร็ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิชัยพัฒนา” สำหรับสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่และรวดเร็วทันเหตุการณ์
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหลาย เกิดขึ้นได้ด้วยการทรงศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดจากหลายๆ แหล่ง แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาทรงศึกษาวิเคราะห์ด้วยเหตุ ด้วยผลมีหลักวิชาการ ด้วยความละเอียดรอบคอบ พร้อมด้วยการเตรียมการสำหรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น แล้วจึงพระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ถูกต้อง ประหยัด ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายโดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมายของโครงการจะต้องเข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แล้วจึงดำเนินการ ซึ่งวิธีการทรงงานตลอดมาล้วนแต่เป็นไป ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ที่ว่าการดำเนินการใดๆ ก็ตาม จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวัง ความมีเหตุมีผล มีคุณธรรม ความซื่อสัตย์ ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน และพระราชดำรัสตอนหนึ่ง “...เศรษฐกิจพอเพียง คือการใช้ของที่มีอยู่ในทางที่ถูกต้องและเหมาะสม...” ดังนั้นผลที่เกิดจากโครงการทำให้ประชาชนเหล่านั้นได้มีความรู้ความเข้าใจในการประกอบอาชีพ ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม สามารถอยู่ได้ด้วยการพึ่งตนเอง มีอาหารบริโภคอย่างพอเพียง มีทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนให้ลูกหลานได้ใช้ตลอดไป มีความขยันอดทนในการดำรงชีวิต มีความเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันในสังคม ดังนั้น หากบุคคล องค์กรทุกระดับได้ดำรงชีวิตด้วยการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติแล้ว ความเจริญย่อมเกิดขึ้นกับบุคคลและองค์กรเหล่านั้น แล้วจะส่งผลถึงความเจริญของประเทศต่อไป
ข้อมูลจาก : สำนักงานส่งเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ
เครดิตภาพ สำนักพระราชวัง และ เพจเฟสบุ๊ค Information Division of OHM