คำกล่าวสดุดีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ของนางซาแมนธา พาเวอร์
เฟซบุ๊คเพจ "บีบีซีไทย - BBC Thai" ได้เปิดเผยคำกล่าวสดุดีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ของนางซาแมนธา พาเวอร์ ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ฉบับเต็ม เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่าน
โดยข้อความทั้งหมดของนางซาแมนธา พาเวอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ สร้างความประทับใจให้กับประชาชนคนไทยอย่างมาก
เพราะทุกสิ่งที่ นางซาแมนธา พาเวอร์ ได้กล่าวนั้น พสกนิกรไทยได้เห็นพระองค์ท่านทรงงานหนักมาตลอด 70 ปีของการครองราชย์
คำกล่าวสดุดีที่ถูกแชร์ต่อและพูดถึงไปทั่วโลกมีข้อความดังต่อไปนี้...
วันนี้นับเป็นหนึ่งในหลายๆ วันที่เธอรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นตัวแทนประเทศอันเป็นที่ตั้งขององค์การสหประชาชาติขึ้นกล่าวในวาระสำคัญเช่นนี้
ในนามของสหรัฐฯ ดิฉันขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งและอย่างจริงใจที่สุดต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรส พระราชธิดา ตลอดจนพระราชนัดดา และประชาชนชาวไทยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งนอกจากจะทรงเป็นมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐฯ ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์แล้ว ยังทรงมีความผูกพันส่วนพระองค์กับชาติของเราด้วย
พระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงรู้จักกันที่เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ที่ซึ่งทั้งสองพระองค์เคยศึกษาวิชาการแพทย์ พระราชบิดาทรงเคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด และพระราชชนนีเคยทรงศึกษาที่วิทยาลัยซิมมอนส์ แม้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะทรงพำนักอยู่ที่นั่นเฉพาะในช่วงที่ยังทรงพระเยาว์ แต่ยังรู้สึกได้เป็นอย่างมากว่าพระองค์ยังทรงสถิตอยู่ที่นั่น
ดิฉันสามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้พอสมควร เพราะก่อนที่จะได้รับเกียรติให้เข้าร่วมงานกับคณะรัฐบาลของนายโอบามา ดิฉันเคยสอนอยู่ที่สถาบัน Kennedy School of Government ที่มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด และเส้นทางที่ดิฉันต้องเดินไปทำงานบ่อยครั้งจะต้องเดินผ่านจัตุรัสกษัตริย์ภูมิพล (King Bhumibol Square) ซึ่งตั้งอยู่ติดกับ Kennedy School ซึ่งจัตุรัสแห่งนี้ได้รับการขนานนามเพื่อเป็นเกียรติต่อการพระราชสมภพของพระองค์
ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดเลยที่การเดินผ่านจัตุรัสกษัตริย์ภูมิพล ดิฉันจะได้เห็นคนไทยเดินทางไปที่นั่นเพื่อถวายความเคารพแด่พระองค์ บ้างก็ถ่ายภาพใกล้ ๆ แผ่นจารึกพระนามของพระองค์ ในเมืองเคมบริดจ์มีสถานที่อีกหลายแห่งที่เป็นเช่นนั้น อย่างในเมืองบริงแฮม ที่โรงพยาบาลหญิง สถานที่ซึ่งพระราชชนนีเคยทรงงานอยู่ แทบจะไม่มีวันไหนเลยที่จะไม่ได้เห็นคนไทยนำของขวัญ ดอกไม้ หรือข้อความบนแผ่นกระดาษเล็ก ๆ ไปถวาย การอุทิศเสียสละของพระองค์เป็นแรงบันดาลใจให้พสกนิกรชาวไทยได้ทำเช่นนั้น
เกือบยี่สิบปีที่แล้ว มีนักข่าวคนหนึ่งเคยทูลถามพระองค์ว่าทรงต้องการให้ผู้คนระลึกถึงพระองค์ว่าอย่างไร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตรัสว่า "หากพวกเขาต้องการเขียนสิ่งที่ดีเกี่ยวกับข้าพเจ้า พวกเขาควรเขียนว่าข้าพเจ้าทำในสิ่งที่เกิดประโยชน์ได้อย่างไร"
ในสายพระเนตรของพระองค์ การได้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์หมายถึงการหาหนทางแก้ปัญหาซึ่งประชาชนทั่วไปเผชิญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนผู้ด้อยโอกาสและบรรดาคนชายขอบ และจากสายพระเนตรของพระองค์ หนทางเดียวที่จะทำให้รู้ได้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ และเข้าใจถึงปัญหาที่ประชาชนเผชิญอยู่ ก็คือการเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ยากจนในชนบท ซึ่งตลอดรัชสมัยของพระองค์ ได้ทรงดำเนินโครงการพัฒนาหลายพันโครงการ
ทว่ามิใช่เพียงการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่เหล่านี้เท่านั้น แต่การปฏิบัติของพระองค์ ที่ทรงพบปะกับพสกนิกรในท้องถิ่น ทั้งชาวประมง ชาวสวนยาง หรือชาวนา หรือนักเรียนชั้นประถม เมื่อพระองค์ทรงพบปะกับข้าราชการ ก็ทรงเลือกที่จะพบกับผู้ที่ทำงานในระดับรากหญ้า นักพัฒนาการเกษตร ครู และตำรวจ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นมากกว่าผู้ที่คอยสังเกตการณ์ เพราะการทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์หมายถึงการช่วยแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ และทรงส่งเสริมให้คนไทยทำเช่นเดียวกับพระองค์ ทรงสนพระทัยในทางจลนศาสตร์ ทรงมุ่งมั่น สร้างสรรค์ และอย่างที่เราทราบกันคือความสนพระทัยในทางวิทยาศาสตร์ ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ได้ทรงจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าเกือบสี่สิบรายการ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ของพระองค์ ทรงทดลองและพัฒนาด้วยพระองค์เอง และส่วนใหญ่ก็เพื่อใช้แก้ปัญหาที่พสกนิกรผู้ยากจนเผชิญอยู่ทุกวัน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีความพิเศษเป็นอย่างยิ่ง
แนวพระราชดำริในเรื่องโครงการ "แก้มลิง" ซึ่งทรงคิดเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยที่ไทยเผชิญอยู่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงจำได้ว่าเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเคยเห็นลิงเคี้ยวกล้วยแล้วเก็บไว้ที่สองกระพุ้งแก้มเพื่อเอาไว้กินในภายหลัง การก่อสร้างอ่างกักเก็บน้ำขนาดเล็กซึ่งใช้หลักการเดียวกัน เพื่อเก็บกักน้ำส่วนเกินในช่วงที่ฝนตกหนักเอาไว้ใช้ทำการเกษตรในภายหลัง ระบบกักเก็บน้ำตามโครงการ "แก้มลิง" ยังคงใช้กันอยู่ทั่วประเทศไทย การคิดค้นหลายสิ่งหลายอย่างของพระองค์ก็เป็นไปในทำนองนี้ คือการผสานการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการพัฒนามนุษย์ พระองค์ทรงก้าวไกลไปหลายทศวรรษในเรื่องความตระหนักเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพในระยะยาวของชุมชน
ดิฉันขอสรุปสักนิดว่า เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1960 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปยังสหรัฐฯ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานาธิบดีดไวท์ ไอเซนฮาว และทรงถูกขอให้มีพระราชดำรัสต่อสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ขณะนั้นทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 32 พรรษา
ในการมีพระราชดำรัสต่อสภาคองเกรส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตรัสว่าที่ทรงรับคำกราบบังคมทูลเชิญนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสิ่งที่พระองค์ตรัสว่าเป็น "ความปรารถนาโดยธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการได้เห็นสถานที่เกิดของข้าพเจ้า" เมืองเคมบริดจ์ ซึ่งพระองค์ได้เสด็จเยือนในครั้งนั้นด้วย
อย่างไรก็ดี ทรงตรัสด้วยว่าเป็นการเสด็จเยือนเพื่อตอกย้ำมิตรภาพอันพิเศษและค่านิยมที่ไทยและสหรัฐฯมีร่วมกัน ทรงตรัสว่า "มิตรภาพที่รัฐบาลหนึ่งมีต่ออีกรัฐบาลนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่มิตรภาพที่คน ๆ หนึ่งมีต่ออีกคนนั้นเป็นเครื่องรับประกันถึงสันติสุขและความเจริญก้าวหน้า"
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตรัสกับสมาชิกสภาคองเกรสว่าสิ่งหนึ่งที่มีคุณค่าทางประเพณีอันสำคัญของชาวไทยคือคำมั่นสัญญาที่มีต่อครอบครัว ทรงตรัสว่า "สมาชิกครอบครัวมักได้รับการคาดหวังว่าจะให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามจำเป็น การให้ความช่วยเหลือนั้นเป็นคุณความดีในตัวของมันเองอยู่แล้ว ผู้ให้ไม่ได้หวังว่าจะได้ยินคำกล่าวสรรเสริญอยู่ทุกวัน และไม่ได้หวังว่าจะได้รับสิ่งตอบแทนใด ๆ แต่ถึงกระนั้นผู้รับก็ยังรู้สึกปิติยินดี พระองค์ก็เช่นกัน เมื่อถึงคราวของพระองค์ ก็จะทรงทำตามพันธะนี้"
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตรัสเกี่ยวกับความผูกพันและความมีน้ำใจในหมู่ครอบครัวไทย แต่เมื่อย้อนรำลึกกลับไปจะเห็นว่า พระราชดำรัสของพระองค์นั้นสามารถนำไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตของพระองค์เอง
ชีวิตที่ทรงแสวงหาหนทางช่วยเหลือผู้ที่ขัดสน ชีวิตแห่งการให้ และรับใช้ ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ใช่เพราะต้องการคำสรรเสริญเยินยอ ไม่ใช่เพราะต้องการสิ่งตอบแทน แต่เป็นสิ่งที่คน ๆ หนึ่งจะทำเพื่อครอบครัว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงถือว่าพสกนิกรชาวไทยทุกคนคือครอบครัวของพระองค์ ชาวไทยช่างโชคดีที่มีพระองค์อยู่ในครอบครัว และช่างเป็นความโชคดีของพวกเราที่ได้มีโอกาสเรียนรู้และดำเนินตามแนวทางที่พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ทรงเลือกที่จะดำเนินชีวิตของพระองค์
เครดิตจาก เฟซบุ๊คเพจ "บีบีซีไทย - BBC Thai"