บุญของชีวิตจาก "ลูกชาวนา" สู่ผู้บรรเลงระนาดเอก ในวงปี่พาทย์นางหงส์งานพระราชพิธีพระบรมศพ ร.9
"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ดูเรียบง่าย แต่ในความเรียบง่ายนั้นเปี่ยมไปด้วยพระบารมี เหมือนกับว่ามีรัศมีเปล่งออกมาจากพระองค์ เวลาเสด็จพระราชดำเนิน พระองค์ดูสง่างาม ถึงแม้ว่าเราจะไม่เข้าไปถึงตัวพระองค์ แต่เป็นสิ่งที่สัมผัส และผมรู้สึกได้"
"นายทวีศักดิ์ อัครวงษ์ ดุริยางค์ศิลปิน สำนักการสังคีต กลุ่มดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร เล่าย้อนไปถึงภาพความทรงจำเมื่อครั้งที่ได้ถวายงานแด่ "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" ที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่ตนและวงศ์ตระกูล เมื่อถามถึงความเป็นมาของการได้เข้ามาเป็นบุคคลที่ได้ถวายงานประโคมย่ำยาม ในตำแหน่งผู้บรรเลงระนาดเอกวงปี่พาทย์นางหงส์เป็นเวลา ๑๐๐ วัน ในงานพระราชพิธีสวดพระอภิธรรมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
"ครั้งนี้เป็นครั้งที่สามสำหรับงานประโคมย่ำยามในพระราชพิธีพระบรมศพ ครั้งแรกคือ พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ส่วนครั้งที่สองคือ พระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี"
"เพราะเป็นหน้าที่ของกลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักงานสังคีต กรมศิลปากรที่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับงานพระราชพิธี แต่ก็จะต้องมีขั้นตอนตามสายงาน คือมีหมายกำหนดการพระราชพิธีมาจากสำนักพระราชวัง ส่งมาที่ กรมศิลปากร และก็ส่งมาที่สำนักการสังคีต"
"ภูมิใจ" แต่ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น
แม้การได้ถวายงานตีระนาดเอกวงปี่พาทย์นางหงส์ในพระราชพิธีพระบรมศพเป็นสิ่งที่มีเกียรติแก่ตนเองและวงศ์ตระกูล แต่ในความรู้สึกลึกๆ ข้างในใจ เขาเผยกับทีมข่าวว่า "เมื่อหัวหน้ากลุ่มฯ จัดวงดนตรีบรรเลงรับพระศพและประโคมย่ำยามแล้วแจ้งรายชื่อลงมาว่า ผมต้องเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ ตอนนั้นผม ขับรถอยู่ ผมต้องจอดรถ ทำใจไม่ได้ ร้องไห้อยู่ในรถไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องทำหน้าที่ ให้ดีที่สุด"
"ทวีศักดิ์" ผู้บรรเลงระนาดเอกวงปี่พาทย์นางหงส์ยังเล่าความในใจต่อไปอีกว่า "ผมในฐานะคนตีระนาด ในขณะที่ตีระนาดผมจะนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อพสกนิกร พระราชกรณียกิจของพระองค์ทุกอย่าง และยิ่งเห็นประชาชนจำนวนมากมาถวายความอาลัยต่อพระองค์ท่านก็ยิ่งทำให้เราตื้นตันใจว่าครั้งหนึ่งเรามีโอกาสได้ถวายงานแด่พระองค์"
เป็นบุญของชีวิต "ลูกชาวนา"
ก่อนหน้านี้ "ทวีศักดิ์" ได้เคยถวายงานแด่พระองค์ ครั้งแรกของการถวายงานด้านการแสดงในสมัยที่ตนเองยังเรียนอยู่ที่วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย ในงานการแสดงแสง สี เสียง ความเป็นมาของอาณาจักรสุโขทัย ในฐานะของผู้แสดง ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้น "พอแสดงเสร็จแล้ว พระองค์ท่านก็รับสั่งให้นักแสดงมาเข้าเฝ้า ผมก็ได้ไปนั่งเฝ้าอยู่ในแถวนักแสดง พระองค์เสด็จฯ พร้อมด้วยพระราชอาคันตุกะ ระยะที่ได้เห็นพระองค์ได้ไม่ไกล พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมา รับสั่งว่า แสดงได้ดีมากๆ สวยงามมากๆ"
ต่อมาครั้งที่สองได้รับมอบหมายให้เข้าไปบรรเลงดนตรีทำหน้าที่ตีระนาดเอกถวายพระองค์ขณะเสวยพระกระยาหาร ณ พระที่นั่งจักกรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง กับพระราชอาคันตุกะ นับเป็นสองครั้งในชีวิตที่ทีวศักดิ์ได้ถวายงานแด่พระองค์ที่ตนเองไม่เคยคาดคิดว่าจะได้มีบุญถวายงานแด่พระองค์
"ลูกชาวนา" แต่ไม่เคยคิดชีวิตจะมีวันนี้
เพราะชีวิตที่เลือกเกิดได้ได้แต่เลือกที่จะเป็นได้นั้น เขาบอกว่าชีวิตตนเองนั้นไม่ได้เกิดมาจากครอบครัวที่ร่ำรวยเป็นเพียงลูกชาวนา และมีตาเป็นนักดนตรีไทยที่คอยปลูกฝังตั้งแต่เด็กจนซึมซับเข้าสายเลือด "พ่อแม่ผมเป็นชาวนาแต่คุณตาผมเป็นนักดนตรีไทยและก็ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ เราเป็นลูกชาวนาครอบครัวเราไม่ได้ร่ำรวยอะไร"
"เรามีดนตรี เรียนดนตรีพอออกงานได้ก็จะมีค่าขนม พอเรียนจบประถม ผมก็ได้ไปเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาที่วิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัยแล้วก็มาเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแล้วก็ได้บรรจุเข้ารับราชการอยู่ที่สำนักการสังคีต ตอนแรกผมก็ไม่รู้ว่าการทำงานที่นี่จะได้ถวายงานตรงนี้ครับ"
นอกจากนั้นเขายังเล่าอีกว่า "ไม่คิดว่าตนเองจะมีวันนี้ได้ เป็นแค่ลูกชาวนาแต่ได้ถวายงานที่ไม่ใช่แค่งานพระราชพิธีพระบรมศพ หรือพิธีต่างๆ เท่านั้น การได้ทำงานสำนักการสังคีตยังทำให้มีโอกาสถวายงาน แด่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ผมก็ได้มีโอกาสถวายงานเพราะคงไม่ค่อยมีใครทราบว่าพระองค์โปรดดนตรีไทยเช่นกัน ผมและข้าราชการในกลุ่มดุริยางค์ไทยเคยได้เข้าไปบรรเลงดนตรีถวาย ถ้าเพลงไหนที่พระองค์โปรด พระองค์จะให้บรรเลงให้ฟังอยู่เรื่อย ๆ ครับ"
เช่นเดียวกันกับ "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามมกุฎราชกุมารี"
"เวลาที่สมเด็จพระเทพรัตน์ฯเสด็จต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าพระองค์ชอบทรงดนตรีไทย พระองค์ก็จะนำการแสดงและการบรรเลงดนตรีไทยของสำนักการสังคีต กรมศิลปากรไปแสดงให้ชาวต่างชาติได้ชมด้วยครับ มันเป็นความภูมิใจของชีวิตที่ไม่คิดว่าเด็กบ้านนอกคนหนึ่งจะ มายืนจุดตรงนี้ได้ และไม่คิดว่าจะมีวันนี้"
ขอบพระคุณ
ผู้อำนวยสำนักการสังคีต นายเอนก อาจมังกร
หัวหน้ากลุ่มดุริยางค์ไทย นายสุริยะ ชิตท้วม