เตรียมพิธีบวงสรวงตัด "ไม้จันทน์หอม" สร้างพระบรมโกศ

เตรียมพิธีบวงสรวงตัด "ไม้จันทน์หอม" สร้างพระบรมโกศ

เตรียมพิธีบวงสรวงตัด "ไม้จันทน์หอม" สร้างพระบรมโกศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

(7 พ.ย.) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการ ทำพิธีตัดไม้จันทน์หอม จำนวน 4 ต้น สำหรับใช้ในงานพระราชพิธีพระบรมศพว่า กรมอุทยานฯ ได้อนุมัติการตัดและแปรรูปไม้จันทน์หอมแล้ว โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมการแปรรูปไม้ 3 ราย หลังจากดำเนินการแปรรูปไม้เสร็จ แล้วจะดำเนินการส่งมอบไม้จันทน์หอมทั้งหมดให้กับสำนักพระราชวัง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

"ทางอุทยานฯ กุยบุรี ได้เตรียมความพร้อมเกือบทุกอย่างแล้ว โดยเดิมทีนั้น เจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ กุยบุรี ได้ลงพื้นที่ เพื่อสำรวจหาไม้จันทน์หอม ที่ยืนต้นตายไว้จำนวน 19 ต้น เพื่อให้ทางคณะผู้แทนจากสำนักพระราชวังคัดเลือก ลำดับที่ 1-19 และหลังจากคณะเข้าไปสำรวจแล้วได้คัดเลือกไม้จันทน์หอมไว้ 4 ต้น คือลำดับที่ 11, 12, 14 และ 15 เพื่อใช้จัดสร้าง พระบรมโกศ ตกแต่งพระเมรุมาศ และทำดอกไม้จันทน์ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยทางสำนักพระราชวังจะมีพิธีบวงสรวงตัดไม้จันทน์หอมในวันจันทร์ที่ 14 พ.ย. ใช้ ฤกษ์เวลา 14.09-14.39 น."

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเร่งปรับพื้นที่บริเวณโดยรอบต้นจันทน์หอมต้นที่ 15 เพื่อใช้เป็นมณฑลพิธีบวงสรวงและตัดไม้จันทน์หอม ซึ่งจุดด้านหน้าพื้นที่ราบจะมีการตั้งโต๊ะเครื่องบวงสรวง ตลอดจนเครื่องสังเวยต่างๆ รวมทั้งทำบันไดไม้ชั่วคราวขึ้นไปยังต้นจันทน์หอมต้นที่ 15 เพื่อให้นายวุฒิ สุมิตร รองราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการ ซึ่งจะเดินทางมาประกอบพิธีในวันดังกล่าวหลั่งน้ำเทพมนต์ เจิมบริเวณต้นจันทน์หอม และลงขวานทองที่ต้นจันทน์หอมต้นที่ 15 เป็นปฐมฤกษ์ พร้อมโปรยข้าวตอกดอกไม้รอบบริเวณต้นจันทน์หอม และดำเนินการตัดต้นจันทน์หอมที่เหลืออีก 3 ต้นพร้อมๆ กัน

ทางด้านเฟซบุ๊ก เหยี่ยวขาวล่าฝัน ได้อธิบายความสำคัญของไม้จันทน์หอมไว้ดังนี้...

"สำหรับไม้จันทน์หอมถือว่าเป็นไม้มีค่าหายาก และจัดเป็นไม้มงคลชั้นสูงที่ใช้ในงานพระราชพิธีนับตั้งแต่สมัยโบราณยุคพุทธกาล นอกจากนี้ยังพบประวัติการใช้ไม้จันทน์หอมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องนับแต่ยุคประวัติศาสตร์ตอนต้นสมัยอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ โดยที่ผ่านมาได้นำมาสร้างพระโกศ และพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จสังฆราชสกลมหาปรินายก โดยข้อสำคัญไม้จันทน์หอมนี้จำเป็นต้องใช้ไม้จันทน์หอมที่ตายพราย หรือการยืนต้นตายท่านั้น เนื่องจากจะมีกลิ่นหอมในระดับที่ใช้งานได้"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook